เปิดสูตรคำนวณ ส.ส. ฉบับ กกต. ซับซ้อนมากจนเป็นเหตุให้สรุปไม่ได้ซะที!





รู้หรือไม่ ระบบเลือกตั้งครั้งนี้ มีความซับซ้อนขนาดไหน ทำไม กกต. ยังไม่สรุปรวมผล เรามาเปิดให้ดูว่า กกต. ใช้สูตรการคำนวณอย่างไร

ผู้สื่อข่าว PPTV รายงานว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ มีความแตกต่างจากครั้งที่ผ่านๆมา และต้องอาศัยการคำนวณคะแนนเสียงทั้งประเทศ (Popular Vote)เพื่อนำมากำหนดจำนวน ส.ส. ที่แต่ละพรรคพึงมี  จากนั้นจึงนำมาลบด้วยจำนวน ส.ส. แบ่งเขต  จึงจะกลายเป็น  ตัวเลข ส.ส. บัญชีรายชื่อ

ด้วยระบบเช่นว่า ทำเอาหลายคนปวดเศียรเวียนเกล้าอย่างหนัก ว่า กกต. ใช้วิธีคำนวนแบบไหน และใช้สูตรอะไรในการคำนวน ทีมงานจึงหาคำตอบมาให้ว่า กกต. ใช้วิธีการคำนวนอย่างไร และนี่คือ “สูตร” ที่ใช้จริงในครั้งนี้

1. นำคะแนนทุกพรรคการเมืองที่ส่งสมัครบัญชีรายชื่อ (C) รวมกันทั้งประเทศ หารด้วย 500 จะได้ คะแนน popular ratio (อัตราส่วนคะแนนต่อ ส.ส. 1คน)  ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.  มาตรา 128 (1)  

2. เอา popular ratio ที่ได้จาก ข้อ 1 นำไปเป็นตัวหารคะแนนรวมทั้งประเทศของแต่ละพรรคการเมือง (C) ได้เป็น ส.ส. พึงมีเบื้องต้น (D)  (ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.  มาตรา 128 (2)) 

3. นำค่าที่ได้จาก ข้อ 2 ลบจำนวน ส.ส. แบ่งเขตที่พรรคได้รับ (E) ได้จำนวน ส.ส. บัญชีฯ ที่จะได้รับ (F)  (ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.  มาตรา 128 (3))

*** กรณีที่ค่า ส.ส. พึงมีเบื้องต้น น้อยกว่าจำนวน ส.ส. แบ่งเขต ให้ถือว่าพรรคนั้นไม่ได้ ส.ส. บัญชีฯ  (ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.  มาตรา 128 (5)) 

4. รวมจำนวน ส.ส. บัญชีฯ ที่จะได้รับ (F) ในการเลือกตั้ง 62 ได้ค่า 176.7054 ซึ่งมีค่ามากกว่า 150 (กรณีนี้เรียกว่าเกิดการ Overhang) ให้ทำการลดทอนจำนวน ส.ส. บัญชีฯ ที่จะได้รับจากทุกพรรค (F) ตามสัดส่วน (เทียบบัญญัติไตรยางค์) นำค่าที่ได้ไปใส่ใน (G) ซึ่งผลรวมของ (G) ต้องได้เท่ากับ 150  (ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 128 (7)) 

5. แยกผลลัพธ์จากข้อ 4 ออกเป็น 2 คอลัมน์ 

(H) นำค่าเฉพาะจำนวนเต็ม (G) มาใช้  

(I) นำค่าเฉพาะทศนิยมของ (G) มาใช้

6. รวม (H) จะได้จำนวน ส.ส. บัญชีฯ ของทุกพรรครวมกัน ในการเลือกตั้งครั้งนี้ผลรวมคือ 130 ที่นั่ง

7. จาก ข้อ 6 ผลลัพธ์รวมกันไม่ถึง 150 ที่นั่ง โดยเหลืออีก 20 ที่นั่ง วิธีการ คือ ให้เรียงตามลำดับทศนิยมของค่าใน (I) จากมากไปน้อย หลังจากนั้นเพิ่มจำนวนที่นั่งให้แต่ละพรรค พรรคละ 1 ที่นั่ง โดยใส่ค่า 1 (J) จนครบ 20 ที่นั่ง <= มาตรา 128 (6) 

8. นำค่า (H) รวมกับ (J) ได้เป็นจำนวน ส.ส. บัญชีฯ ที่พรรคได้รับ (K)

9. นำจำนวน ส.ส. แบ่งเขต (E) รวมกับค่าที่ได้จาก ข้อ 8 (K) เท่ากับจำนวน ส.ส. ทั้งหมดที่พรรคนั้นจะได้รับ (L)

10. หาค่าเฉลี่ยคะแนนของพรรคต่อ ส.ส. 1 คน โดยนำคะแนนรวมทั้งประเทศที่พรรคได้รับ (C) หารด้วยจำนวน ส.ส. รวมทั้งหมด (L) => มาตรา 128 (6) 

*** ข้อ 10 สำหรับใช้ในกรณีที่เศษของ (I) มีค่าเท่ากัน และต้องการเลือกว่าพรรคไหนจะได้รับที่นั่งเพิ่มใน ข้อ 7 ให้เรียงลำดับจากพรรคที่มีค่าเฉลี่ยคะแนนของพรรคต่อ ส.ส. 1 คน จากมากไปน้อย แต่การเลือกตั้งครั้งนี้ยังไม่ถูกนำมาใช้ในการคำนวณ ณ คะแนนปัจจุบันนี้

เมื่อเป็นเช่นนี้ ลองนำไปคำนวนกันได้ ว่าผลจะเป็นอย่างไร  หรือถ้า กกต. ประกาศคะแนนครบ 100% ก็ลองมาคำนวณไปด้วยกันว่า กกต. คำนวณถูกจริงหรือไม่

ข่าวจาก : PPTVHD36

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: