เผยข้อมูล117แหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ทั่วแผ่นดินไทย เพื่อการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก





เปิดแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ 117 แห่ง สำหรับพิธีทำ “น้ำอภิเษก” และ “น้ำสรงมุรธาภิเษก” เพื่อการ “พระราชพิธีบรมราชาภิเษก” โดยมี “พิธีพลีกรรมตักน้ำ” 107 แห่ง และ 9 แห่ง 6 เม.ย.นี้

ตามโบราณราชประเพณีของไทย ความเป็น “พระมหากษัตริย์” โดยสมบูรณ์ จะทรงรับการ “บรมราชาภิเษก” เฉลิมพระปรมาภิไธยเป็นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อันเป็นพระราชพิธีสำคัญและศักดิ์สิทธิ์ พระราชพิธีแบ่งออกเป็น 3 ช่วง คือ พิธีเบื้องต้น เบื้องกลาง และเบื้องปลาย

พิธีเบื้องต้นจะเริ่มขึ้นในเดือนเมษายน ได้แก่ การเตรียม “น้ำศักดิ์สิทธิ์” ที่ใช้ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก คือ 1.น้ำสรงมุรธาภิเษก คือ น้ำที่สรงตั้งแต่พระเศียรลงมาทั่วทั้งพระวรกาย 2.น้ำอภิเษก เพื่อรดพระหัตถ์ โดยต้องทำพิธี “พลีกรรมตักน้ำ” เป็นพิธีกรรมทางศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ตามความเชื่อที่ว่า สิ่งต่างๆ บนโลกนี้ล้วนมีเทวดา เป็นผู้ปกป้องรักษาอยู่ การจะทำสิ่งใดๆ จำเป็นต้องขออนุญาตเทวดาที่ดูแลรักษาสิ่งนั้นๆ

“พิธีพลีกรรมตักน้ำ” กำหนดขึ้นในวันที่ 6 เม.ย. 2562 ฤกษ์เวลา 11.52-12.38 น. ณ แหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ทั้ง 76 จังหวัดทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น 107 แหล่งน้ำ เพื่อทำ “น้ำอภิเษก” ซึ่งขั้นตอนก่อนหน้านี้กระทรวงมหาดไทย ได้มอบหมายให้แต่ละจังหวัดค้นหาแหล่งน้ำ และเสนอต่อกระทรวงมหาดไทยพิจารณา โดยแต่ละที่มีเรื่องราวความเชื่อ และหลายแหล่งเป็นแหล่งน้ำที่นำมาใช้ในพระราชพิธีต่างๆ ก่อนหน้านี้มาแล้ว โดยจังหวัดที่เสนอแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์จังหวัดละ 1 แหล่ง ได้แก่

  1. กระบี่ วังเทวดา (อ.เมืองฯ)
  2. กาญจนบุรี แม่น้ำสามประสบ (อ.สังขละบุรี)
  3. กาฬสินธุ์ กุดน้ำกิน (อ.เมืองฯ)
  4. กำแพงเพชร บ่อสามแสน (อ.เมืองฯ)
  5. ขอนแก่น บ่อน้ำศักดิ์ (บาราย) วัดกู่ประภาชัย (อ.น้ำพอง)
  6. ฉะเชิงเทรา ปากน้ำโจ้โล้ หรือคลองท่าลาด (อ.บางคล้า)
  7. ชลบุรี สระเจ้าคุณเฒ่า วัดเขาบางทราย (อ.เมืองฯ)
  8. ชัยนาท แม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณหน้าวัดธรรมามูลวรวิหาร (อ.เมืองฯ)
  9. ชุมพร บ่อน้ำทิพย์ถ้าเขาพลู หรือบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ถ้ำเขาพลู (อ.ปะทิว)
  10. เชียงราย บ่อน้ำทิพย์ (อ.แม่สาย)
  11. ตรัง แม่น้ำตรัง บริเวณหน้าท่าน้ำ วัดประสิทธิชัย (อ.เมืองฯ)
  12. ตราด น้ำตกธารมะยม (อ.เกาะช้าง)
  13. ตาก อ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล (อ.สามเงา)
  14. นครปฐม สระน้ำจันทร์ หรือสระบัว (อ.เมืองฯ)
  15. นครพนม สระน้ำมุรธาภิเษก หรือบ่อน้ำพระอินทร์ (อ.ธาตุพนม)
  16. นครราชสีมา ต้นน้ำลำตะคอง อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ (อ.ปากช่อง)
  17. นครสวรรค์ บึงบอระเพ็ด (อ.เมืองฯ)
  18. นนทบุรี กลางแม่น้ำเจ้าพระยา เบื้องหน้าพระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว วัดเฉลิมพระเกียรติวรวิหาร (อ.เมืองฯ)
  19. น่าน บ่อน้ำทิพย์วัดสวนตาล (อ.เมืองฯ)

  20. บุรีรัมย์ แหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์วัดกลาง (อ.เมืองฯ)

  21. ปทุมธานี แม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณหน้าวัดศาลเจ้า (อ.เมืองฯ)

  22. ประจวบคีรีขันธ์ บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ หรือบ่อน้ำทิพย์ (อ.บางสะพาน)

  23. พระนครศรีอยุธยา น้ำภายในพระเศียรหลวงพ่อทองสุขสัมฤทธิ์ และบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์วัดตูม (อ.พระนครศรีอยุธยา)

  24. พังงา บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ถ้ำน้ำผุด (อ.เมืองฯ)

  25. พิจิตร แม่น้ำน่าน บริเวณหน้าพระอุโบสถวัดท่าหลวง (อ.เมืองฯ)

  26. พิษณุโลก สระสองห้อง (อ.เมืองฯ)

  27. เพชรบุรี ท่าน้ำวัดท่าไชยศิริ (อ.บ้านลาด)

  28. ภูเก็ต บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ วัดไชยธาราราม (อ.เมืองฯ)

  29. มหาสารคาม บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ หรือหนองดูน (อ.นาดูน)

  30. มุกดาหาร น้ำตกศักดิ์สิทธิ์ (อ.คำชะอี)

  31. แม่ฮ่องสอน ถ้ำปลา (อ.เมืองฯ)

  32. ยโสธร ท่าคำทอง (อ.เมืองฯ)

  33. ยะลา สระแก้ว สระน้ำศักดิ์สิทธิ์ (อ.เมืองฯ)

  34. ร้อยเอ็ด สระชัยมงคล (อ.เมืองฯ)

  35. ระนอง บ่อน้ำพุร้อนรักษะวาริน (อ.เมืองฯ)

  36. ระยอง วังสามพญา (อ.บ้านค่าย)

  37. ราชบุรี สระโกสินารายณ์ (อ.บ้านโป่ง)

  38. ลพบุรี บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ (อ.เมืองฯ)

  39. ลำปาง บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ หรือบ่อน้ำเลี้ยงพระนางจามเทวี (อ.เกาะคา)

  40. ลำพูน ดอยขะม้อ บ่อน้ำทิพย์ (อ.เมืองฯ)

  41. เลย น้ำจากถ้ำเพียงดิน (อ.เมืองฯ)

  42. ศรีสะเกษ บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ปราสาทสระกำแพงน้อย (อ.อุทุมพรพิสัย)

  43. สกลนคร บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ภูน้ำลอด (อ.เมืองฯ)

  44. สงขลา บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์วัดแหลมบ่อท่อ (อ.กระแสสินธุ์)

  45. สตูล บ่อน้ำพุร้อนทุ่งนุ้ย (อ.ควนกาหลง)

  46. สมุทรปราการ แม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณหน้าองค์พระสมุทรเจดีย์ (อ.พระสมุทรเจดีย์)

  47. สมุทรสงคราม แหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ คลองดาวดึงส์ (อ.อัมพวา)

  48. สมุทรสาคร แหล่งน้ำคลองดำเนินสะดวก (อ.บ้านแพ้ว)

  49. สระแก้ว สระแก้ว-สระขวัญ (อ.เมืองฯ)

  50. สระบุรี แม่น้ำป่าสัก บริเวณบ้านท่าราบ (อ.เสาไห้)
  51. สิงห์บุรี สระน้ำศักดิ์สิทธิ์ วัดโพธิ์เก้าต้น (อ.ค่ายบางระจัน)
  52. สุราษฎร์ธานี แหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์พระบรมธาตุไชยาราชวรวิหาร (อ.ไชยา)
  53. สุรินทร์ สระโบราณ (อ.เมืองฯ)
  54. หนองคาย สระมุจลินท์ หรือสระพญานาค (อ.เมืองฯ)
  55. หนองบัวลำภู บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ วัดศรีคูณเมือง (อ.เมืองฯ)
  56. อ่างทอง แม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณพระอุโบสถวัดไชโยวรวิหาร (อ.ไชโย)
  57. อำนาจเจริญ อ่างเก็บน้ำพุทธอุทยาน หรืออ่างเก็บน้ำห้วยปลาแดก (อ.เมืองฯ)
  58. อุดรธานี บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ คำชะโนด (อ.บ้านดุง)
  59. อุตรดิตถ์ บ่อน้ำทิพย์ (อ.ลับแล)
  60. อุบลราชธานี บ่อน้ำโจ้ก (อ.วารินชำราบ)

น้ำตกน้ำคะ (ขุนน้ําคะ) ใน ตำบลผาช้างน้อย อำเภอปง จังหวัดพะเยา ซึ่งเป็นต้นน้ำที่จะใช้ในพิธีพลีกรรมตักน้ำศักดิ์สิทธิ์ และพิธีทำน้ำอภิเษกของจังหวัดพะเยา

“บ่อน้ำทิพย์” แหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ วัดถ้ำเขาพลู หมู่ที่ 3 ตำบลชุมโค อ.ปะทิว จ.ชุมพร

บ่อน้ำทิพย์” แหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ วัดถ้ำเขาพลู หมู่ที่ 3 ตำบลชุมโค อ.ปะทิว จ.ชุมพร

จังหวัดที่มีแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ 2 แหล่งน้ำ มีทั้งสิ้น 7 จังหวัด ประกอบด้วย 

  1. ชัยภูมิ บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์วัดไพรีพินาศ (อ.เมืองฯ) และบ่อน้ำชีผุด แม่น้ำชี (อ.หนองบัวแดง)
  2. นราธิวาส น้ำแบ่ง (อ.สุไหงปาดี) และน้ำตกสิรินธร (อ.แว้ง)
  3. บึงกาฬ พื้นที่ชุ่มน้ำบึงโขงหลง (อ.บึงโขงหลง) และบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ถ้ำพระ (อ.เซกา)
  4. ปราจีนบุรี บ่อน้ำหน้าโบราณสถานรอยพระพุทธบาทคู่ (อ.ศรีมโหสถ) และโบราณสถานสระแก้ว (อ.ศรีมโหสถ)
  5. พะเยา ขุนน้ำแม่ปืม (อ.แม่ใจ) และน้ำตกคะ หรือน้ำคะ (อ.ปง)
  6. เพชรบูรณ์ สระแก้ว (อ.ศรีเทพ) และสระขวัญ (อ.ศรีเทพ)
  7. อุทัยธานี แม่น้ำสะแกกรัง (อ.เมืองฯ) และสระน้ำมนต์ศักดิ์สิทธิ์วัดมณีสถิตกปิฏฐาราม (อ.เมืองฯ)

จังหวัดที่มีแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ 3 แหล่งน้ำ มีทั้งสิ้น 5 จังหวัด ประกอบด้วย

  1. จันทบุรี สระแก้ว (อ.ท่าใหม่), ธารนารายณ์ (อ.เมืองฯ) และบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ วัดพลับ (อ.เมืองฯ)
  2. เชียงใหม่ บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ วัดบุพพาราม (อ.เมืองฯ), อ่างกาหลวง (อ.จอมทอง) และขุนน้ำแม่ปิง (อ.เชียงดาว)
  3. นครนายก เขื่อนขุนด่านปราการชล (อ.เมืองฯ), บ่อน้ำทิพย์เมืองโบราณดงละคร (อ.เมืองฯ) และบึงพระอาจารย์ (อ.เมืองฯ)
  4. พัทลุง สระน้ำศักดิ์สิทธิ์ วัดดอนศาลา (ควนขนุน), ถ้ำน้ำบนหุบเขาชัยบุรี (อ.เมืองฯ) และบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์พระบรมธาตุเขียนบางแก้ว (อ.เขาชัยสน)
  5. สุโขทัย บ่อแก้ว (อ.ศรีสัชนาลัย), บ่อทอง (อ.ศรีสัชนาลัย) และตระพังทอง (อ.เมืองฯ)

แหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ จำนวน 4 แห่ง 3 จังหวัดทั้งสิ้น 12 แหล่งน้ำ ดังนี้

  1. ปัตตานี น้ำสระวังพรายบัว (อ.หนองจิก), บ่อทอง หรือบ่อช่างขุด (อ.หนองจิก), บ่อไชย (อ.หนองจิก) และน้ำบ่อฤษี (อ.หนองจิก)
  2. สุพรรณบุรี  สระแก้ว (อ.เมืองฯ), สระคา (อ.เมืองฯ), สระยมนา (อ.เมืองฯ) และ สระเกษ (อ.เมืองฯ)
  3. แพร่ บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ลำน้ำแม่คำมี (อ.เมืองฯ), บ่อน้ำวัดบ้านนันทาราม (อ.เมืองฯ) และบ่อน้ำพระฤาษี (อ.วังชิ้น) และบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ วัดพระหลวง (อ.สูงเม่น)

แหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ จำนวน 6 แหล่งน้ำ มี 1 จังหวัด คือ จ.นครศรีธรรมราช ประกอบด้วย 

  1. บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ วัดหน้าพระลาน (อ.เมืองฯ)
  2. บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ วัดเสมาเมือง (อ.เมืองฯ)
  3. บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ วัดเสมาไชย (อ.เมืองฯ)
  4. บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ วัดประตูขาว (อ.เมืองฯ)
  5. แหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ห้วยเขามหาชัย (อ.เมืองฯ)
  6. แหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ห้วยปากนาคราช (อ.ลานสกา)

ยกเว้น กทม. จะประกอบ “พิธีพลีกรรมตักน้ำ” ในวันที่ 12 เม.ย. 2562 ณ หอศาสตราคมในพระบรมมหาราชวัง รวมแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์สำหรับ “น้ำอภิเษก” ครั้งนี้ จำนวน 108 แหล่ง จากเดิมมีเพียง 18 แหล่งน้ำ เพื่อแสดงถึงการมีส่วนร่วมของประชาชนทุกจังหวัดทั่วประเทศในพิธีมหามงคลของแผ่นดินในครั้งนี้

สำหรับแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ ในส่วนการทำ “น้ำสรงมุรธาภิเษก” มาจาก 9 แหล่งน้ำ ได้แก่ น้ำจากสระ 4 สระเมืองสุพรรณ ประกอบด้วย 1.สระเกษ 2.สระแก้ว 3.สระคา 4.สระยมนา และน้ำเบญจสุทธคงคา หรือแม่น้ำบริสุทธิ์ทั้ง 5 สาย ประกอบด้วย 1.แม่น้ำบางปะกง ตักที่ตำบลพระอาจารย์ อำเภอองครักษ์ จังหวัดนครนายก 2.แม่น้ำป่าสัก ตักที่ตำบลท่าราบ อำเภอเสาไห้ จังหวัดสระบุรี 3.แม่น้ำเจ้าพระยา ตักที่ตำบลบางแก้ว อำเภอเมืองอ่างทอง จังหวัดอ่างทอง 4.แม่น้ำราชบุรี ตักที่บริเวณสามแยกคลองหน้าวัดดาวดึงส์ ตำบลบางช้าง อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม 5.แม่น้ำเพชรบุรี ตักที่บริเวณท่าน้ำวัดไชยศิริ ตำบลสมอพลือ อำเภอบ้านลาด จังหวัดเพชรบุรี

เมื่อตักน้ำจากแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์แล้ว จากนั้นจะประกอบพิธีทำ “น้ำอภิเษก” พร้อมกันทั้ง 76 จังหวัด ณ สถานที่ ที่จังหวัดกำหนด ในวันจันทร์ที่ 8 เม.ย. 62 ฤกษ์เวลา 17.10-22.00 น. และ “พิธีเวียนเทียนสมโภชน้ำอภิเษก” ในวันอังคารที่ 9 เม.ย. 62 เวลา 10.00-12.00 น. จากนั้นเชิญคนโทน้ำอภิเษกด้วยรถประจำตำแหน่งของผู้ว่าราชการจังหวัด แต่ละจังหวัดทั้ง 76 จังหวัดมาเก็บรักษาไว้ที่กระทรวงมหาดไทย ในวันพุธที่ 10 เม.ย. 2562 ตั้งแต่เวลา 06.00-18.00 น. 

ในส่วนน้ำศักดิ์สิทธิ์ จากกรุงเทพมหานคร จะประกอบพิธีพลีกรรมตักน้ำ จาก หอศาสตราคม ในพระบรมมหาราชวัง วันที่ 12 เม.ย. 62 พร้อมเชิญคนโทน้ำนำมาเก็บรักษาที่กระทรวงมหาดไทยเช่นกัน และในวันที่ 11 เม.ย. 62 จะซ้อมเดินริ้วขบวนเชิญคนโทน้ำอภิเษกในเวลา 06.00 น. จากกระทรวงมหาดไทยไปยังวัดสุทัศนเทพวราราม และจากวัดสุทัศนเทพวรารามไปยังพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม

จากนั้นในวันที่ 18 เม.ย.2562 ฤกษ์เวลา 17.19-21.30 น. จะมีพิธีเสกน้ำอภิเษกทั้งหมดที่วัดสุทัศนเทพวราราม และแห่เชิญน้ำอภิเษกไปยังวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในวันที่ 19 เม.ย.2562 เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการพระราชพิธีราชาภิเษกในวันที่ 4 พ.ค.2562

ที่มา : ส่วนหนึ่งจากเอกสาร คณะกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์งานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก และการบรรยาย โดย นายพรพจน์ เพ็ญพาส รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ในการอบรมสื่อมวลชนงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก วันพุธที่ 27 มี.ค. 2562 ณ หอประชุมกรมประชาสัมพันธ์

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: