เคยไหม? อยากจอดรถในร่มที่มีหลังคา หรือมีต้นไม้บังแดดสักนิดก็ยังดี แต่วนหาเท่าไหร่ก็ไม่มีทีท่าว่าที่จอดจะว่างให้เรา บางครั้งจึงจำเป็นต้องจอดรถท่ามกลางแดดเจิดจ้าที่ร้อนระอุ เมื่อจะก้าวขึ้นรถที่จอดไว้ ก็พบว่าไม่ต่างอะไรจากอุณหภูมิของเตาอบเลยทีเดียว ยิ่งอากาศเมืองไทยในตอนนี้ขึ้นเลข 4 บางที่กระโดดไปถึง 44 องศา มาดูกันดีกว่าว่าจะมีวิธีดีๆ ช่วยคลายร้อนให้รถของเราได้อย่างไรบ้าง
จส.100 ได้นำเสนอบทความที่แสนเป็นประโยชน์ โดย DJ อภิสุข เวทยวิศิษฏ์ ที่ได้แนะนำ 5 ขั้นตอนที่จะช่วยคลายความร้อนให้กับรถของคุณ ดังนี้
1. ใช้หลักความดันไล่อากาศ ก่อนออกรถ
ในขณะที่เปิดรถเข้าไปใหม่ๆ อุณหภูมิภายในรถจะสูงกว่าด้านนอก ให้เปิดกระจกฝั่งคนนั่งหน้าซ้ายลง แล้วเปิดประตูฝั่งคนขับออกไปโดยดันเปิด-ปิด 5 รอบ จะทำให้ความดันภายในรถลดลง อากาศภายนอกจะเข้ามาแทนที่ในฝั่งกระจกซ้าย ส่วนความร้อนก็จะออกไปทางฝั่งประตูขวา จะรู้สึกได้ทันมีว่าอุณหภูมิลดฮวบลงมาใกล้เคียงกับภายนอก
2. ขับรถเปิดกระจกสัก 10 วินาที
แม้อุณหภูมิในรถจะใกล้เคียงกับภายนอกแล้ว แต่วัสดุต่างๆภายในรถจะยังคลายความร้อนระอุออกมาเรื่อยๆ ให้คุณเปิดกระจกรถทุกบาน แล้วขับรถออกมา เปิดทิ้งไว้แค่เพียง 10 วินาที ลมจะหมุนเวียนได้อย่างเต็มที่ ไล่ความร้อนสะสมออกจนแทบหมด
3. เปิดแอร์จากเบาไปแรง
การเปิดแอร์แรงๆในทันทีที่อุณหภูมิภายในรถสะสมมากๆ นอกจากคอมแอร์จะต้องทำงานอย่างหนักทำให้สึกหรอเร็วแล้ว ยังไม่ได้ทำให้อุณหภูมิเย็นเร็วไปกว่าการทำ 2 ขั้นตอนแรกก่อนด้วย การเปิดแอร์แรงในทันที ก็เหมือนนักวิ่งที่ออกตัววิ่งเร็วๆทันทีโดยไม่ได้วอร์มร่างกาย ทำให้เหนื่อยและบาดเจ็บได้ง่าย เพราะรถที่จอดตากแดด อุณหภูมิของอุปกรณ์การทำความเย็นก็ร้อนตามเช่นกัน ต้องให้เวลากันหน่อย
4. รถต้อง”วิ่ง”ไปเรื่อยๆ
ข้อนี้สำคัญมาก เพราะคอยล์แอร์ต้องมีลมช่วยพัดระบายความร้อน แม้จะมีพัดลมทำหน้าที่นั้นโดยตรงอยู่แล้ว แต่ลมที่พัดแรงๆที่เข้ามาระหว่างรถวิ่งนั้นย่อม”แรงกว่า”แรงของพัดลมเสียอีก โดยเพราะรถรุ่นเก่าๆหรือระบบแอร์ที่มีอายุมากหน่อย ประสิทธิภาพการทำความเย็นก็จะลดลง พัดลมก็แรงน้อยลง ส่วนรถใหม่ๆ อาจไม่เห็นความต่างส่วนนี้มากนัก
5. เช็คสัญลักษณ์แอร์
สัญลักษณ์ A/C หมายถึง เปิดคอมแอร์ทำงาน เป็นการเช็คว่าคุณ”เปิดแอร์”แล้ว ไม่ใช่ว่าเผลอเปิดแต่พัดลม ,ส่วนสัญลักษณ์รถที่มีลูกศรวนภายใน หมายถึงการปิดกั้นไม่ให้อากาศจากภายนอกเข้ามาในรถ (มีไว้ใช้เวลาต้องการไล่ฝ้า) เป็นการ”ปรับอากาศ”เฉพาะภายในรถในเอง
ที่มาจาก : จส.100
โดย DJ อภิสุข เวทยวิศิษฏ์
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ