แม้ว่ากรณีชุดไปรเวทของกรุงเทพคริสเตียนจะผ่านพ้นมานานถึง 4 เดือนแล้ว แต่ประเด็นนี้ก็ยังค้างคาในความรู้สึกของคนไทยหลายๆ คน
โดยเฉพาะฝ่ายที่ต้องการให้ปฏิรูประเบียบที่บังคับให้นักเรียนนักศึกษามใส่เครื่องแบบ แม้แต่สื่อต่างประเทศก็ยังติดตามเรื่องนี้ ล่าสุดคือ Nikkei Asian Review ของญี่ปุ่น ได้เสนอบทความเรื่อง Tailor-made uniformity threatens Thai creativity (เครื่องแบบสั่งตัดเป็นภัยต่อความคิดสร้างสรรค์ของไทย) โดยสรุปผู้เขียนบทความนี้ชี้ว่า ประเทศไทยให้ความสนใจกับรูปลักษณ์ภายนอก มากกว่าที่จะสนับสนุนความคิดสร้างสรรค์ และความเป็นตัวของตัวเองของปัจเจกบุคคล หากไทยยังเน้นเครื่องแบบมากกว่าการเติบโตอย่างมีอิสรเสรีของเยาวชน จะทำให้ไทยล้มเหลวในยุคดิจิทัล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่รัฐบาลเสนอนโยบายไทยแลนด์ 4.0
ผู้เขียนบทความของ Nikkei ยังชี้ว่า เวียดนามมีระเบียบให้นักเรียนและนักศึกษาใส่เครื่องแบบมาเรียนเช่นเดียวกันไทย แต่เวียดนามมีผลการวัดระดับผลสัมฤทธิ์ด้านการศึกษา หรือ PISA สูงกว่าไทย ซึ่งข้อความนี้ดูเหมือนจะขัดแย้งกับการแนะนำให้ไทยปลดปล่อยตัวเองจากการยึดติดเครื่องแบบเพื่อพัฒนาการศึกษาให้รุดหน้า เพราะกรณีของเวียดนามระดับการศึกษาก็พัฒนาขึ้นทั้งๆ ที่นักเรียนนักศึกษายังสวมเครื่องแบบ
กระนั้นก็ตาม จากการจัดอันดับดัชนีนวัตกรรมโลกประจำปี 2018 ไทยอยู่ในอันดับที่ 44 ส่วนเวียดนามอยู่ในอันดับที่ 45
ในประเทศตะวันตก ส่วนใหญ่ปล่อยให้นักเรียนและนักศึกษาแต่งชุดไปรเวทได้ มีเพียงโรงเรียนบางประเทศ เช่นโรงเรียนเอกชน หรือโรงเรียนในสายศาสนจักรที่มีระเบียบแต่งเครื่องแบบ ทว่า การสวมเครื่องแบบหรือไม่สวมนั้น มีผลดีที่แตกต่างกัน
งานวิจัยเรื่อง “School Discipline, School Uniforms and Academic Performance” (ระเบียบวินัยของโรงเรียน, ชุดนักเรียน และผลการเรียน) ของ Baumann เมื่อปี 2016 นักวิจัยพบว่านักเรียนที่ใส่เครื่องแบบเป็นกลุ่มที่มีประสิทธิภาพสูงสุด มีระเบียบวินัยมากที่สุด และในประเทศที่นักเรียนสวมเครื่องแบบ พบว่านักเรียนตั้งใจฟังมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ มีระดับเสียงรบกวนในชั้นเรียนต่ำลง และเข้าเรียนตรงเวลามากขึ้น
ที่น่าสนใจก็คือ จากสถิติของศูนย์การศึกษาแห่งชาติ (NCES) สหรัฐพบว่า ระหว่างปี 2015- 2016 เกือบ 22% ของโรงเรียนรัฐบาลในสหรัฐ กำหนดให้นักเรียนใส่เครื่องแบบ ซึ่งเพิ่มขึ้นเกือบ 12% เทียบกับช่วงระหว่างปี 1999-2000 แสดงให้เห็นถึงแนวโน้มที่ประเทศตะวันตกให้ความสำคัญกับเครื่องแบบมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการสวมเครื่องแบบจะช่วยทำให้นักเรียนตั้งใจเรียนมากขึ้น แต่ไม่มีผลต่อผลการเรียนมากนัก จากงานวิจัยโดย Virginia Draa เรื่อง School Uniforms in Urban Public High Schools (เครื่องแบบนักเรียนในโรงเรียนมัธยมสาธารณะในเขตเมือง) ช่วยยืนยันในเรื่องนี้ โดยระบุว่า เครื่องแบบช่วยเพิ่มอัตราการเข้าเรียนอัตราการสำเร็จการศึกษา และลดการหยุดเรียนชั่วคราว แต่ไม่ช่วยในด้านความสามารถทางวิชาการหรือลดอัตราการถูกไล่ออก
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ