สรรพากรยอมถอย! ไม่เก็บแล้วดอกเบี้ยเงินฝากต่ำกว่า4ล้าน เตรียมออกประกาศแก้ไขสัปดาห์นี้ ยันไม่ได้ทำเพื่อหวังรีดเงิน





กรมสรรพากร เตรียมออกประกาศแก้ไขสัปดาห์นี้ ยกเว้นให้ผู้มีเงินฝากต่ำกว่า 4 ล้านบาท ไม่ต้องทำหนังสือยินยอมหักภาษีดอกเบี้ย ย้ำไม่ได้หวังเพิ่มรายได้จากการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าว

23 เม.ย.62 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา ตัวแทนจากสมาคมธนาคารไทยเดินทางเข้าพบกับผู้บริหารกรมสรรพากรเพื่อหารือแนวทางปฏิบัติ หลังประกาศอธิบดีกรมสรรพากรกำหนดหลักเกณฑ์และแนวทางปฏิบัติการหักภาษีดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ซึ่งโดยปกติธนาคารพาณิชย์จะหักภาษีอัตราดังกล่าว สำหรับผู้ได้รับดอกเบี้ย เกิน 20,000 บาท หรือมีเงินฝากไม่น้อยกว่า 4,000,000 บาท แต่ประกาศดังกล่าวทำให้ธนาคารพาณิชย์ต้องต้องเปิดรับคำยินยอม หรือ คอนเซ็นท์ ให้หักภาษี ดอกเบี้ยกับผู้ฝากเงินทุกรายไม่ว่าจะมีเงินฝากต่ำกว่า 4,000,000 บาทก็ตาม หากไม่มีคำยินยอมจะถูกหักภาษีตั้งแต่ดอกเบี้ยบาทแรกทันที

กรณีดังกล่าวส่งผลกระทบต่อผู้ฝากเงิน ร้อยละ 99 ของประเทศ เพราะผู้มีภาระภาษีดอกเบี้ยตัวจริงหรือผู้มีเงินฝากเกิน 4,000,000 บาท ทั้งประเทศ ไม่ถึง 1% ของประชากรไทย

กว่า 80 ล้านบัญชี ได้รับผลกระทบรีดภาษีดอกเบี้ย

นายกอบศักดิ์ ดวงดี เลขาธิการสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า การดำเนินการเปิดรับคำยินยอมหักภาษีจากผู้ฝากเงิน กว่า 80 ล้านบัญชี หรือ ประมาณ 30 ล้านคน ถือเป็นเรื่องยาก และอาจไม่ทันกำหนดบังคับใช้กฎหมาย 15 พ.ค.นี้ ตลอดจนระบบธนาคาร อาจไม่พร้อมนำส่งข้อมูลดอกเบี้ยที่จะจ่ายงวดแรกของปี ในเดือน มิ.ย. จึงเสนอให้เลื่อนการบังคับใช้ประกาศดังกล่าว พร้อมข้อเสนอต่างๆ โดยไม่สร้างภาระประชาชนมากเกินไป

แต่กรมสรรพากร ยืนกราน ไม่เลื่อนการบังคับใช้ตามประกาศ และขอเวลาพิจารณาข้อเสนอของสมาคม ตลอดจน ข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

เลขาธิการสมาคมธนาคารไทย กล่าวอีกว่า ปัญหาดังกล่าวสร้างคงามกังวลผู้ฝากเงินแต่ยังไม่พบรายงานแห่ถอนเงินออกจากบัญชีแต่อย่างใด ซึ่งสมาคมฯ พยายามสื่อสารและทำความเข้าใจเพื่อคลายความกังวล และจะเร่งกำหนดแนวทางปฏิบัติให้เกิดความชัดเจน หากได้ข้อยุติจากกรมสรรพากร ซึ่งอยู่ระหว่างพิจารณาทางออกที่เหมาะสมต่อไป

ขณะที่ นายปิ่นสาย สุรัสวดี โฆษกกรมสรรพากร กล่าวว่า อธิบดีกรมสรรพากรเตรียมออกประกาศแก้ไขฉบับใหม่ภายในสัปดาห์นี้ เพื่อยกเว้นให้ผู้มีเงินฝากไม่ถึง 4,000,000 บาท หรือ ได้รับดอกเบี้ยไม่เกิน 20,000 บาท ไม่ต้องทำหนังสือยินยอมแล้ว แต่ยังคงเก็บภาษีผู้ได้รับดอกเบี้ยเกิน 20,000 บาท หรือ มีเงินฝากเกิน 4,000,000 ล้านบาท รวมทั้งผู้เข้าเกณฑ์กำหนดแต่ไม่เซ็นต์ยินยอมหักภาษี

โฆษกกรมสรรพากร ย้ำว่า การออกประกาศดังกล่าว เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ ลดปัญหาหลบเลี่ยงภาษี ไม่ได้มุ่งหวังเพิ่มการจัดเก็บภาษีดอกเบี้ยแต่อย่างใด ซึ่งในแต่ละปี กรมฯ จัดเก็บรายได้จากภาษีดอกเบี้ยเฉลี่ยปีละไม่ถึง 1,000,000 บาท

เจ้าของเงินฝาก ไม่ต้องเซ็นยินยอม หักภาษีดอกเบี้ย

แหล่งข่าวระบุว่า สมาคมธนาคารไทยเสนอแนวทางดำเนินการเบื้องต้น 2-3 แนวทาง ได้แก่

1. ชะลอการยื่นคำยินยอมให้หักภาษีดอกเบี้ยทุกรายจนกว่า พ.ร.บ.ข้อมูลส่วนบุคคลจะมีผลบังคับใช้ เนื่องจากอาจสร้างภาระให้ผู้ฝากเงิน ต้องมากรอกเอกสารยินยอมหักภาษีอีกครั้งหลังบังคับใช้กฎหมายปีหน้า และใช้อำนาจตามกฎหมายออกคำสั่งให้ธนาคารพาณิชย์นำส่งข้อมูล โดยไม่ต้องมีหนังสือยินยอมจากทุกธนาคาร เพื่อลดภาระประชาชน

จากปัจจุบันธนาคารพาณิชย์ไม่สามารถนำส่งข้อมูลลูกค้าให้กรมสรรพากรได้ โดยไม่มีหนังสือยินยอมจากลูกค้า เพราะติด พ.ร.บ.สถาบันการเงินของแบงก์ชาติ ที่ต้องการคุ้มครองผู้ฝากเงิน โดยกำหนดให้การส่งข้อมูลลูกค้าต้องมีเหตุจำเป็นที่กระจ่าง กรมสรรพากรสามารถพิจารณาหาช่องทางกฎหมาย เพื่อให้ยกเว้นประโยชน์ดังกล่าวได้หรือไม่

หรือ​แนวทาง ที่ 2. สมาคมฯเสนอให้เปิดรับ​หนังสือยินยอมหักภาษี สำหรับผู้มียอดเงินฝาก ตั้งแต่ 5 บาทขึ้นไป หลังจัดชั้นผู้ฝากเงินตามระดับยอดเงินฝาก และผลตอบแทนดอกเบี้ยที่ได้รับในแต่ละปี แบ่งเป็นต่ำกว่า 50,000 บาท จนถึงมากกว่า 1,000,000 บาท โดยให้ผู้มีเงินฝากอาจเดินทางไปกรอกหนังสือยินยอมให้หักภาษีดอกเบี้ยกับธนาคาร 1 แห่ง แต่ให้มีผลยินยอมหักภาษีกับบัญชีธนาคารอื่นๆได้ ก่อนระบบกลางของสรรพากรจะรวบรวมยอดดอกเบี้ยและหักภาษีตามกฎหมายต่อไป

ส่วนผู้ที่ได้รับดอกเบี้ยไม่ถึงปีละ 20,000 บาท และไม่ไปทำหนังสือยินยอมแต่ถูกหักภาษีสามารถยื่นคำร้องขอเงินคืนภาษีได้ ภายหลังหากยังคงยึดตามประกาศกรมสรรพากรฉบับปัจจุบัน

ข่าวจาก : ThaiPBS

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: