นายฐากูร อินทรชม ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการเดินรถ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานในช่วง 5 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2562 (ต.ค. 2561-ก.พ. 2562) ว่า รฟท. มีรายได้รวมทั้งสิ้น 2,774 ล้านบาท แบ่งออกเป็นรายได้จากคนโดยสาร 1,929 ล้านบาท เติบโตเพิ่มขึ้น 2.1% และรายได้จากการขนส่งสินค้า 845 ล้านบาท เติบโตเพิ่มขึ้น 2.5%
ส่วนในปีงบประมาณ 2562 รฟท. ตั้งเป้าที่จะผลักดันยอดรายรวมให้ได้ 6,211 ล้านบาท แบ่งออกเป็น รายได้จากคนโดยสาร 3,804 ล้านบาท เติบโต 1.08% และรายได้จากการขนส่งสินค้า 2,406 ล้านบาท เติบโตเพิ่มขึ้น 16.45%
“จะเห็นว่าปีนี้ปริมาณผู้โดยสารจะเติบโตไม่มากนัก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะมีการแข่งขันที่รุนแรงมากจากสายการบินต้นทุนต่ำ (โลว์คอสต์) โดยเฉพาะในเส้นทางอีสานเหนือ อย่าง ขอนแก่น และอุบลราชธานี ที่ปัจจุบันมีสายการบินโลว์คอสต์เปิดให้บริการจำนวนมาก ส่งผลทำให้ปริมาณผู้โดยสารรถไฟไม่เพิ่มขึ้นเลย ซึ่งรฟท. ได้รายงานปัญหานี้ให้บอร์ด รับทราบแล้ว เบื้องต้นบอร์ด ได้ให้นโยบายให้ รฟท. ไปทำการตลาดร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ต่อไป”
นายฐากูรกล่าวว่า เพื่อลดผลกระทบในเส้นทางสายอีสาน รฟท. มีแผนที่จะปรับลดเที่ยววิ่งรถด่วนขบวนรถเก่าลง เส้นทางกรุงเทพ-อุบลราชธานี-กรุงเทพฯ ลดลง ซึ่งจะเปิดให้บริการเฉพาะวันศุกร์ เสาร์ และอาทิตย์เท่านั้น โดยจะหันมาเน้นการให้บริการขบวนรถด่วนพิเศษ “อีสานวัตนา” เส้นทางกรุงเทพฯ-อุบลราชธานี-กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นรถโดยสารเชิงพาณิชย์ขบวนใหม่แทน เนื่องจากปัจจุบันอัตราการบรรทุกยังไม่เต็มอยู่ที่ 80% เท่านั้น
ส่วนขบวนด่วนพิเศษภาคเหนือ อุตราวิถี เส้นทาง กรุงเทพฯ-เชียงใหม่-กรุงเทพฯ และขบวนรถด่วนพิเศษภาคใต้ ทักษิณารัถย์ เส้นทางกรุงเทพฯ-หาดใหญ่-กรุงเทพฯ ภาคใต้นั้น มียอดจองเต็ม 100% เกือบทุกเที่ยว โดยภาคใต้ส่วนใหญ่เป็นลูกค้าประจำที่เดินทางไกล ส่วนเส้นทางเชียงใหม่ ส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติที่แบ็กแพ็ก ประหยัดค่าโรงแรมด้วยการนอนบนรถไฟ
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ