กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เขียนให้ความรู้เรื่อง ต้นรวงผึ้ง ความว่า รวงผึ้ง Schoutenia glomerata King subsp. peregrina (Craib) Roekm วงศ์ Malvaceae เป็นไม้ต้น สูงได้ถึง 15 เมตร มีขนกระจุกสั้นรูปดาวสีน้ำตาลแดงตามกิ่ง ก้านใบ เส้นแขนงใบด้านล่าง ช่อดอก และผล หูใบรูปใบหอก ยาว 3.5-8 มม. ร่วงเร็ว ใบเรียงสลับ รูปรีหรือรูปขอบขนาน กว้าง 0.5-4 ซม. ยาว 1-11 ซม.
ปลายแหลมหรือแหลมยาว ปลายแหลมค่อนข้างมน โคนมนหรือกลม แผ่นใบด้านบนมีขนรูปดาวประปราย ด้านล่างมีเกล็ดหนาแน่น เส้นโคนใบ 1 คู่ เส้นแขนงใบข้างละ 2-5 เส้น เส้นใบย่อยแบบขั้นบันได เส้นกลางใบบุ๋มด้านบน ก้านใบหนา ยาว 2-7 มม.
ช่อดอกแบบช่อกระจุกแยกแขนง ออกสั้น ๆ ตามซอกใบ ดอกสีเหลือง มีกลิ่นหอม ก้านดอกยาวประมาณ 5 มม. ใบประดับรูปเส้นด้าย ติดที่ข้อก้านดอก ร่วงเร็ว ไม่มีกลีบดอก กลีบเลี้ยงรูประฆัง ยาวประมาณ 7 มม. มี 5 กลีบ แฉกลึกมากกว่ากึ่งหนึ่ง บานออก มักติดทน มีขนตามขอบด้านในและปลายกลีบ จานฐานดอกกลม ขนาดประมาณ 1 มม. ติดที่โคนกลีบเลี้ยง มีขนหนาแน่น
เกสรเพศผู้มีประมาณ 25 อัน โคนเชื่อมติดกันเป็นกลุ่ม ๆ ละ 5 อัน เรียงสลับกับกลีบเลี้ยง ก้านชูอับเรณูรูปเส้นด้าย ยาวประมาณ 9 มม. อับเรณูติดด้านหลัง รูปแถบ ยาวประมาณ 1 มม.
รังไข่เหนือวงกลีบ มี 5 คาร์เพลล์ มีขนหนาแน่น พลาเซนตารอบแกนร่วม แต่ละคาร์เพลล์มีออวุล 2 เม็ด ก้านเกสรเพศเมียยาว 1.5-3 มม. ยอดเกสรจัก 5 พู ยาว 0.5-2 มม. โค้งงอกลับ ติดทน ผลรูปไข่กลับเกือบกลม ขนาดประมาณ 1 ซม. เปลือกและผนังกั้นบาง แตกเป็น 5 ส่วน แต่ละส่วนมีเมล็ดเดียว กลม ๆ ขนาดประมาณ 6 มม.
การกระจายพันธุ์
พบในไทยและกัมพูชา ในไทยพบกระจายห่าง ๆ ทางภาคเหนือตอนล่างที่นครสวรรค์ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่สกลนคร ขึ้นตามริมแม่น้ำและที่ราบลุ่มที่น้ำท่วมถึง ความสูงไม่เกิน 200 เมตร ดอกส่วนมากบานข่วงเดือนกรฎาคมถึงเดือนตุลาคม
ต้นรวงผึ้ง เหมาะสำหรับปลูกในเขตเมือง ต้นขนาดไม่ใหญ่มาก ไม่เป็นอันตรายแก่ผู้สัญจรบนทางเท้าและรถยนต์ มีระบบรากที่ลึกไม่ชอนไชอาคารและทางเท้า ใบขนาดเล็กไม่ร่วงหล่น ช่วงออกออกจะบานสะพรั่งพร้อมๆ กัน มีกลิ่นหอมอ่อนๆ ดึงดูดผึ้งอันเป็นที่มาของชื่อต้นไม้
ดอกสีเหลืองเป็นสีประจำวันพระราชสมภพ และออกดอกตรงกับช่วงเดือนพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10
เมื่อวันที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2562 นายกรัฐมนตรีนำผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง 76 จังหวัด และผู้ว่าราชการจังหวัดกรุงเทพมหานคร เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท เข้ารับพระราชทานต้นรวงผึ้ง ไม้มงคลประจำรัชกาล เพื่อเชิญไปปลูกเป็นปฐมฤกษ์ บนถนนเฉลิมพระเกียรติ ภายใต้โครงการ “1 จังหวัด 1 ถนนเฉลิมพระเกียรติ” ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พ.ศ. 2562
อนึ่ง มักเข้าใจกันว่าเป็นพืชถิ่นเดียวของไทย พบเฉพาะที่ดอยสุเทพ จังหวัดเชียงใหม่ เนื่องจากตีพิมพ์ครั้งแรกในชื่อ Schoutenia peregrina โดย W.G. Craib นักพฤกษศาสตร์สวนพฤกษศาสตร์คิว สหราชอาณาจักร โดยวิเคราะห์จากตัวอย่างที่เก็บจากดอยสุเทพ และต้นที่ปลูกในกรุงเทพฯ ผู้ตั้งชื่อเข้าใจว่าไม่ได้ขึ้นตามธรรมชาติ จึงตั้งชื่อชนิดว่า “peregrina” แปลว่า มาจากต่างถิ่น
ต่อมาได้เปลี่ยนสถานภาพเป็นชนิดย่อย (subspecies) ของ S. glomerata King ซึ่งเป็นชนิดที่พบในคาบสมุทรมลายู และบอร์เนียว
โดย Roekmowati-Hartono นักพฤกษศาสตร์ของสถาบันการเกษตร โบกอร์ อินโดนีเซีย เนื่องจากลักษณะทางพฤกษศาสตร์คล้ายกัน ต่างกันเพียงที่ใบรวงผึ้งขนาดเล็กกว่า เส้นกลางใบบุ๋มด้านบน มีขนเฉพาะตามขอบกลีบเลี้ยงด้านในและช่วงปลายกลีบ และเขตการกระจายพันธุ์ที่ต่างกัน ได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Reinwardtia เล่มที่ 7 ฉบับที่ 2 ปี ค.ศ. 1965 หน้า 113 ซึ่งอ้างอิงตัวอย่างที่เก็บจากดอยสุเทพ กรุงเทพฯ ของไทย และอีก 2 ชิ้นจากกัมพูชา
รวงผึ้ง สายน้ำผึ้ง หรือ น้ำผึ้ง เป็นชื่อท้องถิ่นในภาคกลางและภาคเหนือ สำหรับชาวอีสานในแถบจังหวัดนครพนม และสกลนคร เรียกว่า กะสิน หรือ กาสิน ชื่อสามัญเรียกว่า Yellow star
ขอบคุณข้อมูลจาก : ส่วนประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ