“พระราชลัญจกร” ประจำรัชกาล
พระราชลัญจกร [อ่านว่า พฺระ-ราด-ชะ-ลัน-จะ-กอน] เป็นตราประจำพระองค์ของพระมหากษัตริย์แต่ละรัชกาล ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้สร้างขึ้นเมื่อเริ่มต้นรัชกาล เพื่อประทับกำกับพระปรมาภิไธย ในเอกสารสำคัญต่าง ๆ ของชาติ ที่เกี่ยวกับราชการแผ่นดิน พระราชลัญจกรนับเป็นเครื่องมงคลที่แสดงถึงอิสริยยศและพระบรมเดชานุภาพของพระมหากษัตริย์
◎ พระราชลัญจกร รัชกาลที่ ๑
พระราชลัญจกรประจำพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑ เป็นรูปปทุมอุณาโลม มีอักขระ “อุ” แบบอักษรขอมอยู่กลาง ล้อมรอบด้วยกลีบบัวอันเป็น พฤกษชาติที่เป็นสิริมงคลในพุทธศาสนา ตราอุณาโลมมีรูปร่างคล้ายสังข์ทักษิณาวรรต (สังข์เวียนขวา) อยู่ในกรอบลายกนก เริ่มใช้คราวพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อ พุทธศักราช ๒๓๒๘
◎ พระราชลัญจกร รัชกาลที่ ๒
พระราชลัญจกรประจำพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ เป็นรูปครุฑยุดนาค เป็นพระราชสัญลักษณ์ของพระบรมนามาภิไธยว่า “ฉิม” ตามความหมายของวรรณคดีไทย คือ พญาครุฑซึ่งในเทพนิยายเทวกำเนิด เป็นเทพองค์หนึ่งที่ทรงมหิทธานุภาพยิ่ง แต่ยอมเป็นเทพพาหนะสำหรับพระนารายณ์ ปกติอยู่ที่วิมานฉิมพลี ดังนั้นทรงพระกรุณาให้ใช้รูปครุฑยุดนาค เป็นพระราชสัญลักษณ์ประจำพระองค์ แทนพระบรมนามาภิไธย
◎ พระราชลัญจกร รัชกาลที่ ๓
พระราชลัญจกรประจำพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ เป็นรูปปราสาท เป็นพระราชสัญลักษณ์ของพระบรมนามาภิไธยว่า “ทับ” หมายความว่า ที่อยู่ หรือเรือน ดังนั้นจึงทรงพระกรุณาโปรดกล้าโปรดกระหม่อม ให้สร้างรูปปราสาท เป็นพระราชสัญลักษณ์ประจำพระองค์ แทนพระบรมนามาภิไธย
พระราชลัญจกรทั้ง ๓ องค์นี้เดิมเป็นเพียงพระราชสัญลักษณ์ที่ปรากฏในที่ต่าง ๆ เช่น เงินพดด้วง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างพระราชลัญจกรเหล่านี้ขึ้นเพื่ออุทิศถวายพระมหากษัตริย์ทั้งสามพระองค์เมื่อพุทธศักราช ๒๔๒๕ ตราทั้งหมดเป็นตรากลม เส้นผ่าศูนย์กลาง ๗ เซนติเมตร
◎ พระราชลัญจกร รัชกาลที่ ๔
พระราชลัญจกรประจำพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ เรียกว่า พระราชลัญจกรพระมหามงกุฎ ลักษณะเป็นรูปกลมรี ลายกลางเป็นรูปพระมหาพิชัยมงกุฎ อันเป็นพระราชสัญลักษณ์ของพระบรมนามาภิไธยว่า “มงกุฎ” ซึ่งเป็นศิราภรณ์สำคัญของพระมหากษัตริย์ อยู่ในเครื่องเบญจราชกุธภัณฑ์ มีฉัตรบริวารตั้งขนาบข้างที่ริมขอบทั้งสองข้าง มีพานทองสองชั้นวางพระแว่นสุริยกานต์หรือเพชรข้างหนึ่ง สมุดตำราข้างหนึ่ง รูปพระแว่นสุริยกานต์หรือเพชรนี้มาจากฉายาเมื่อผนวชว่า “วชิรญาณ” ส่วนสมุดตำรามาจากเหตุที่ได้ทรงศึกษาเชี่ยวชาญในทางอักษรศาสตร์และดาราศาสตร์ องค์พระราชลัญจกรนี้เป็นตรากลมรีรูปไข่แนวนอน กว้าง ๕.๕ เซนติเมตร ยาว ๖.๘ เซนติเมตร
◎ พระราชลัญจกร รัชกาลที่ ๕
พระราชลัญจกรประจำพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ เรียกว่า พระราชลัญจกรพระเกี้ยวยอด ลักษณะเป็นรูปพระจุลมงกุฎ (หรือพระเกี้ยว) เปล่งรัศมีประดิษฐ์บนพานแว่นฟ้า เป็นพระราชสัญลักษณ์ของพระบรมนามาภิไธยว่า “จุฬาลงกรณ์ ” ซึ่งแปลความหมายว่าเป็นศิราภรณ์ชนิดหนึ่งอย่างมงกุฎ มีฉัตรบริวารตั้งขนาบข้าง ที่ริมขอบทั้งสองข้างมีพานแว่นฟ้าและพระแว่นสุริยกานต์หรือเพชรข้างหนึ่ง วางสมุดตำราข้างหนึ่ง พระแว่นสุริยกานต์หรือเพชรและสมุดตำรานั้น เป็นการเจริญรอยจำลองพระราชลัญจกรประจำพระองค์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นสมเด็จพระบรมชนกนาถ องค์พระราชลัญจกรนี้เป็นตรากลมรีรูปไข่แนวนอน กว้าง ๕.๕ เซนติเมตร ยาว ๖.๘ เซนติเมตร
◎ พระราชลัญจกร รัชกาลที่ ๖
พระราชลัญจกรประจำพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ เรียกว่า พระราชลัญจกรพระวชิระ เป็นรูปวชิราวุธ เปล่งรัศมีเป็นสายฟ้า ประดิษฐ์บนพานแว่นฟ้าตั้งอยู่เหนือตั่ง มีฉัตรกลีบบัวตั้งอยู่สองข้าง เป็นสัญลักษณ์ของพระบรมนามาภิไธย “วชิราวุธ” ซึ่งหมายถึง สายฟ้าอันเป็นเทพศาสตราของพระอินทร์ องค์พระราชลัญจกรนี้เป็นตรากลมรีรูปไข่แนวนอน กว้าง ๕.๕ เซนติเมตร ยาว ๖.๘ เซนติเมตร
◎ พระราชลัญจกร รัชกาลที่ ๗
พระราชลัญจกรประจำพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ เรียกว่า พระราชลัญจกรพระแสงศร ลักษณะเป็นรูปพระแสงศร ๓ องค์ คือ พระแสงศรพรหมาสตร์ พระแสงศรประลัยวาต พระแสงศรอัคนีวาต อันเป็นเทพอาวุธของพระพรหม พระอิศวร และพระนารายณ์ตามลำดับ เหนือราวพาดพระแสงเป็นดวงตรามหาจักรีบรมราชวงศ์ภายใต้พระมหาพิชัยมงกุฎ เบื้องซ้ายและเบื้องขวาของราวพาดพระแสงตั้งบังแทรก สอดแทรกด้วยลายกนกอยู่บนพื้นตอนบนของดวงตรา พระแสงศร ๓ องค์นี้ เป็นพระราชสัญลักษณ์ของพระบรมนามาภิไธยว่า “ประชาธิปกศักดิเดชน์” ซึ่งมาจากความหมายของศัพท์คำสุดท้ายของวรรคที่ว่า “เดชน์” แปลว่า ลูกศร องค์พระราชลัญจกรนี้เป็นตรางากลมรีรูปไข่แนวนอน กว้าง ๕.๕ เซนติเมตร ยาว ๖.๗ เซนติเมตร
◎ พระราชลัญจกร รัชกาลที่ ๘
พระราชลัญจกรประจำพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล รัชกาลที่ ๘ ลักษณะเป็นรูปพระโพธิสัตว์ประทับบนบัลลังก์ดอกบัว ห้อยพระบาทขวาเหนือบัวบาน (ซึ่งดัดแปลงจากพระราชลัญจกรโพธิสัตว์สวนดุสิตในรัชกาลที่ ๕) หมายถึงแผ่นดิน พระหัตถ์ซ้ายถือดอกบัวตูม และมีเรือนแก้วด้านหลังแทนรัศมี มีแท่นรองรับตั้งฉัตรบริวารทั้งสองข้าง เป็นพระราชสัญลักษณ์ของบรมนามาภิไธยว่า “อานันทมหิดล” ซึ่งแปลความว่า เป็นที่ยินดีของแผ่นดิน เพราะพระองค์ได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตย ด้วยความยินดีของอเนกนิกรชาวไทย ประหนึ่งพระโพธิสัตว์เสด็จมาประทานความร่มเย็นเป็นสุขแก่ทวยราษฎร์ทั้งมวล องค์พระราชลัญจกรนี้เป็นตรากลม เส้นผ่าศูนย์กลาง ๗ เซนติเมตร
◎ พระราชลัญจกร รัชกาลที่ ๙
พระราชลัญจกรประจำพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ เป็นรูปพระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์ ประกอบด้วยวงจักร กลางวงจักรมีอักขระเป็น “อุ” หรือ “เลข ๙” รอบวงจักรมีรัศมีเปล่งออกโดยรอบ เหนือจักรเป็นรูปเศวตฉัตร ๗ ชั้น ฉัตรตั้งอยู่บนพระที่นั่งอัฐทิศ แปลความหมายว่า มีพระบรมเดชานุภาพในแผ่นดิน โดยที่วันบรมราชาภิเษก ตามโบราณราชประเพณี ได้เสด็จประทับเหนือพระที่นั่งอัฐทิศ สมาชิกรัฐสภาถวายน้ำอภิเษกจากทิศทั้ง ๘ นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ที่พระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตย ทรงรับน้ำอภิเษกจากสมาชิกรัฐสภา แทนที่จะรับจากราชบัณฑิตดั่งในรัชกาลก่อน องค์พระราชลัญจกรนี้เป็นตรากลมรีรูปไข่แนวตั้ง กว้าง ๕ เซนติเมตร สูง ๖.๗ เซนติเมตร
◎ พระราชลัญจกร รัชกาลปัจจุบัน
พระราชลัญจกรประจำพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบัน เป็นรูปวชิราวุธซึ่งหมายถึง สายฟ้าอันเป็นเทพศาสตราของพระอินทร์ มีแบบตามพระราชนิยมในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ด้านบนมี พระเกี้ยว มีแบบตามพระราชนิยมในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แทนคำว่า “อลงกรณ์” ซึ่งแปลว่า เครื่องประดับ เป็นพระราชสัญลักษณ์ของพระบรมนามาภิไธย “มหาวชิราลงกรณ” เปล่งรัศมีเป็นสายฟ้า ประดิษฐานอยู่บนพานแว่นฟ้า พร้อมด้วยฉัตรบริวาร
ขอบคุณข้อมูลและรูปภาพจากเฟซบุ๊ก : โบราณนานมา
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ