นายกมล บูรณพงศ์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) เปิดเผยว่า นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคมได้กำชับ ให้ ขบ. พิจารณามาตรการเข้มงวดการตรวจสภาพรถ เพื่อป้องกันผลกระทบจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงของรถประเภทต่างๆ ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือ พีเอ็ม 2.5 ซึ่งที่ผ่านมา ขบ. ได้หารือกรมควบคุมมลพิษอย่างใกล้ชิดถึงแนวทางการป้องกันปัญหาพีเอ็ม 2.5
โดยในช่วงปลายปีนี้ กรมการขนส่งทางบกเตรียมที่จะออกประกาศกรมกำหนดให้สถานตรวจสภาพรถเอกชน (ตรอ.) ที่จะมีขอใบอนุญาตประกอบการรายใหญ่ จะต้องมีการติดตั้งเครื่องมือวัดควันดำจากท่อไอเสียที่เป็นไปตามมาตรฐานสากล คือการวัดควันดำด้วยระบบวัดความทึบแสง ซึ่งจะมีความเที่ยงตรงและแม่นยำ หากผู้ประกอบการรายใดไม่ยอมติดตั้งระบบดังกล่าว กรมจะไม่ออกใบอนุญาตประกอบการให้
นอกจากนี้ ในส่วนของ ตรอ. รายเดิมซึ่งประกอบการอยู่ทั่วประเทศ รวม 2,800 แห่งต้อง เร่งปรับเปลี่ยนระบบตรวจวัดควันคำจากระบบกระดาษกรองมาใช้ ระบบวัดความทึบแสงแทนด้วย ซึ่งที่ผ่านมา ขบ. และกรมควบคุมมลพิษ ได้เชิญ ตรอ. ทั่วประเทศมาซักซ้อมความเข้าใจเรื่องดังกล่าวแล้ว แต่ส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยและระบุว่ายังไม่พร้อมที่จะเปลี่ยนระบบ เพราะต้องลงทุนซื้อและติดตั้งระบบวัดความทึบแสงซึ่งต้องใช้เงินลทุนสูงกว่า 1 แสนบาท ซึ่งกรมได้ชี้แจงว่าการปรับเปลี่ยนระบบเป็นสิ่งจำเป็นเนื่องจากเป็นนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการลดปัญหามลพิษควันดำ เบื้องต้นอาจจะยังไม่บังคับให้เปลี่ยนทันที โดยอาจจะให้มีระยะเวลาการปรับตัว และค่อยๆ ทยอยเปลี่ยน ภายใน 3-5 ปี
“ขณะนี้เราจะเริ่มเข้าไปจัดระเบียบ ตรอ. จำนวน 2,800 แห่งทั่วประเทศให้ปรับเปลี่ยนเครื่องมือวัดควันดำจากระบบกระดาษกรองเป็นระบบวัดความทึบแสง เราเข้าใจว่าผู้ประกอบการอาจจะมีภาระลงทุนเพิ่ม แต่เป็นเรื่องที่จำเป็นต้องทำเพราะระบบตรวจวัดด้วยกระดาษกรองนั้น ต่างประเทศเลิกกันแล้ว เพราะได้ค่าควันดำที่ไม่แม่นยำ และเพื่อลดผลกระทบเราจะให้ ตรอ. ค่อยๆ ทยอยเปลี่ยน ซึ่งตามรอบใบอนุญาตประกอบการ ตรอ. จะมีอายุ 3 ปี ในอนาคตหาก ตรอ. รายใดครบอายุใบอนุญาต และต้องการมายื่นขอต่อใบอนุญาต กรมจะกำหนดให้ต้องมีการติดตั้งเครื่องวัดแบบวัดความทึบแสงด้วย หากไม่ยอมติดตั้ง กรมจะไม่ต่อใบอนุญาตประกอบการให้”
ปัจจุบันประเทศไทยมีรถยนต์และจักรยานยนต์ระบบรวมทั้งสิ้น 40 ล้านคัน แบ่งออกเป็น รถโดยสารขนาดใหญ่ และรถบรรทุกประมาณ 1 ล้านคัน, รถจักรยานยนต์ 20 ล้านคัน และอีก 19 ล้านคัน เป็นรถยนต์นั่งส่วนบุคคล และรถบรรทุกขนาดเล็ก โดยรถส่วนใหญ่ที่ก่อให้เกิดปัญหาพีเอ็ม 2.5 เป็นรถที่ใช้เชื้อเพลิงดีเซล เช่นรถโดยสารขนาดใหญ่ และบรรทุก
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ