1 ก.ค.นี้ค้างจ่ายค่าปรับจราจร เตรียมโดนอายัดชำระภาษีชั่วคราว สตช.เชื่อมระบบกับขนส่งฯเรียบร้อยแล้ว เร่งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบก่อนบังคับใช้จริง ตั้งแต่ต้นปีพบค้างชำระค่าปรับใบสั่งกว่า 5.3 ล้านใบ
เมื่อวันที่ 16 พ.ค. นายสราวุธ ทรงศิวิไล ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร(สนข.) เป็นประธานในการประชุมคณะกรรมการติดตามและแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัดในพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยมีพล.ต.ต.จิรสันต์ แก้วแสงเอก รองผู้บัญชาการตำรวจนคบาล(รองผบช.น.) ดูแลงานจราจร การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) กรมการขนส่งทางบก(ขบ.) กรมทางหลวง (ทล.)และหน่วยงานอื่นๆที่เกี่ยวข้องร่วมประชุม
พล.ต.ต.จิรสันต์ กล่าวภายหลังการประชุม ว่า ในที่ประชุมได้มีการติดตามความคืบหน้าในการเชื่อมระบบอายัดการชำระภาษีประจำชั่วคราวในกรณีที่ประชาชนยังมีการค้างชำระค่าปรับในข้อหาที่กระทำความเกี่ยวกับกฎหมายจราจร โดยทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ(สตช.) และกรมการขนส่งทางบกได้ชี้แจงในที่ประชุมว่า ขณะนี้ระบบได้ทำการเชื่อมต่อกันเสร็จแล้วแต่ยังมีบางกรณีที่ต้องหารือกันระหว่างสองหน่วยงานดังนั้นจากการประชุมล่าสุดเมื่อเดือนเม.ย.62 ที่ผ่านมา จึงตกลงกันว่าจะมีการเชื่อมโยงข้อมูลแบบระบบออฟไลน์ก่อนเพื่อดำเนินการอายัดการชำรถภาษีเป็นการชั่วคราวสำหรับผู้ที่ยังมีใบสั่งค้างจ่าย โดยนายสราวุธ ทรงศิวิไร ผอ.สนข.ได้สั่งการในที่ประชุมว่าให้สตช.และขบ.ดำเนินการในขั้นตอนต่างๆให้เสร็จสิ้นและให้เริ่มดำเนินการอายัดการชำระภาษีชั่วคราวตั้งแต่วันที่ 1ก.ค. 62 นี้เป็นต้นไป และให้เริ่มดำเนินการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบก่อนล่วงหน้าในเดือนมิ.ย.นี้ตลอดทั้งเดือนว่าเจ้าหน้าที่สามารถตรวจเช็คการค้างชำระค่าปรับจะเริ่มใช้ระบบการอายัดชำระภาษีสำหรับกรณีที่ค้างจ่ายค่าปรับ รวมทั้งหากประชาชนมีความประสงค์จะจ่ายค่าปรับที่สำนักงานขนส่งฯ ก็สามารถดำเนินการได้เช่นกันเพื่อสร้างความเข้าใจที่ตรงกันก่อนที่บังคับใช้วันวันที่ 1 ก.ค.นี้
ด้านพ.ต.อ.เอกราช ลิ้มสังกาศ รองผู้บังคับการตำรวจทางหลวง (ในฐานะคณะทำงานแก้ไขกฎหมายจราจร สำนักงานตำรวจแห่งชาติ) กล่าวว่า สำหรับการเชื่อมต่อระบบแบบออฟไลน์นั้นจะดำเนินการดังนี้ เมื่อเจ้าหน้าที่ขนส่งทางบกรับชำระค่าปรับกับผู้ที่มีใบสั่งค้างจ่ายแทนเจ้าหน้าที่ตำรวจไปแล้ว จะเก็บข้อมูลเป็นรายสัปดาห์ ก่อนที่จะนำส่งแก่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ(สตช.)พร้อมเงินค่าปรับ ซึ่งการทำงานจะไม่ใช้แบบเรียลไทม์เหมือนระบบออนไลน์ ด้านการปฏิเสธใบสั่งในกรณีที่ประชาชนเห็นว่าตนเองไม่ได้กระทำความผิดนั้น ทางสตช.จะทำแบบฟอร์มและนำไปวางที่กรมขนส่งฯทั่งประเทศเพื่อให้ประชาชนได้ดำเนินการเขียนคำร้องและส่งไปรษณีย์แบบตอบกลับไปยังสถานีตำรวจที่ออกใบสั่งตามที่กฎหมายพร้อมทั้งทำการแนบหลักฐาน อาทิเช่น สำเนาใบสั่ง รูปถ่ายรถ และเล่มทะเบียนเพื่อยืนยันความบริสุทธิและให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบความถูกต้องภายใน 15 วันนับตั้งแต่วันที่ได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ทะเบียน ซึ่งในส่วนนี้อาจจะมีการสวมป้ายทะเบียนก็สามารถนำหลักฐานมาชี้แจงได้ โดยกรณีต้องการตรวจสอบว่าตนเองไม่ได้ขับขี่ผิดกฎหมายตามใบสั่งนี้ ประชาชนสามารถชำระภาษีประจำปีไปก่อน โดยทางเจ้าหน้าที่ของกรมขนส่งฯจะออกสำเนาเอกสารสำหรับการใช้แทนป้ายวงกลมเป็นการชั่วคราว 30 วันหลัง จากนั้นเมื่อไปตรวจสอบและทำการชำระค่าปรับที่โรงพักที่ออกใบสั่งแล้ว ก็ให้นำหลักฐานการชำระค่าปรับกลับมาขอรับป้ายภาษีตัวจริงอีกครั้ง
นอกจากนี้ยังได้มีการหารือถึงการเพิ่มช่องทางให้ประชาชนสามารถตรวจสอบข้อมูลใบสั่งค้างจ่ายได้ก่อนที่จะเดินทางมาชำระต่อภาษีประจำปีซึ่งในขณะนี้สตช.และธนาคารกรุงไทยอยู่ระหว่างการจัดทำเว็ปไซต์เพื่อให้ประชาชนตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้นได้ก่อนซึ่งจะต้องแล้วเสร็จภายในวันที่ 1 ก.ค.นี้เช่นกัน
รายงานข่าวแจ้งว่า จากข้อมูลสถิติการออกใบสั่งของเจ้าหน้าาที่ตำรวจทั้งประเทศ ตั้งแต่ 1 ม.ค. 62 จนถึงปัจจุบัน มีการออกใบสั่งจราจรรวม 6,259,727 ใบ เป็นใบสั่งที่จัดส่งทางไปรษณีย์ หรือจับโดยกล้อง รวม 5,386,986 ใบ ใบสั่งที่เจ้าหน้าที่เขียน 872,741 ใบ โดยมีผู้มาชำระค่าปรับทั้งหมดเพียง 887,392 ราย คิดเป็นร้อยละ 16.52 เท่านั้น ยังไม่มาชำระค่าปรับจราจรอีกกว่า 5,372,335 ราย โดยแบ่งเป็นค้างค่าปรับใบสั่งที่จัดส่งทางไปรษณีย์ 4,557,986 ใบ และใบสั่งที่เจ้าหน้าที่เขียน 814,349 ใบ.
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ