จากกรณีที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคำพิพากษาลับหลัง ตามพ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2560 ของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ในคดี Exim Bank ปล่อยกู้เมียนมา จำคุก 3 ปีไม่รอลงอาญา เมื่อวันที่ 23 เม.ย. และคดีหวยบนดิน ให้จำคุก 2 ปี ไม่รอลงอาญา เมื่อวันที่ 5 มิ.ย. ที่ผ่านมานั้น
เมื่อวันที่ 10 มิ.ย. นางสมลักษณ์ จัดกระบวนพล อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกาและกรรมการป.ป.ช. กล่าวว่า ตามพ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนั้น เปิดช่องให้ทำได้จริง แต่เมื่อยึดตามหลักนิติธรรมแล้ว จึงไม่เห็นด้วย ในทางอาญาการจะพิพากษาลับหลัง จะต้องคำถึงหลักการได้สัดส่วน โดยคำนึงถึงโทษของจำเลยซึ่งจะต้องไม่สูง
หากมีโทษสูงจำเป็นจะต้องมีการพิจารณาอย่างถี่ถ้วน ที่ผ่านก็เคยมีการพิพากษาลับหลังจำเลย แต่ต้องได้รับอนุญาตจากศาลก่อน และโทษไม่สูง ตามพื้นฐานทางอาญาทั่วไป ที่กำหนดไว้ใน ม.172 ทวิ ของ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ที่กำหนดเงื่อนไขของการพิจาณาและสืบพยานลับหลังจำเลยให้กระทำได้เมื่อศาลเห็นสมควร สำหรับคดีที่มีอัตราโทษจำคุกอย่างอย่างสูงไม่เกิน 10 ปี
หากต่อไปนี้ จำเลยไม่อยู่แล้วเดินหน้าพิพากษาลับหลังทั้งหมด จะเป็นการขัดต่อหลักความยุติธรรมหรือไม่ โดยเฉพาะที่กำหนดไว้ในหลัก ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 ใจความว่า ศาลมีหน้าที่ในการพิสูจน์ทราบจนถึงที่สุดว่า จำเลยได้กระทำความผิดจริง ถึงจะมีคำพิพากษา
ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องที่จะบอกว่าเป็นการกระทำที่ถูกต้องตามกฎหมายที่ออกมาเพียงอย่างเดียว สำหรับสิทธิการอุทธรณ์ของจำเลย ตามมาตรา 61 ของพ.ร.ป.ว่าด้วย วิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนั้น คงใช้ไม่ได้ในทางปฏิบัติ เพราะกำหนดไว้ว่า จำเลยมีสิทธิอุทธรณ์ภายใน 30 วัน นับจากมีคำพิพากษา โดยจำเลยต้องมาแสดงตนเอง มิเช่นนั้น จะไม่รับคำร้องขออุทธรณ์
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ