(13 มิ.ย.62) รายงานข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ขณะนี้กระทรวงการคลัง และสำนักงบประมาณ กำลังพิจารณาจัดเตรียมวงเงินงบประมาณและรายงานสถานการณ์เศรษฐกิจรอเสนอให้รัฐบาลใหม่พิจารณา ใช้จัดทำมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และใช้สนองนโยบายหาเสียงที่ให้ไว้
นอกจากมีงบประมาณกลาง และวงเงินจากแหล่งอื่นกว่า 1 แสนล้านบาทแล้ว ยังมีการเปิดช่องให้รัฐบาลใหม่ สามารถใช้งบประมาณลับตามกฎหมาย พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ.2561 ซึ่งเรียกว่า เงินทุนสํารองจ่าย ที่ให้อำนาจครม.อนุมัติใช้ได้อีก 50,000 ล้านบาท เพื่อใช้ในกรณีที่มีความจําเป็นและเร่งด่วนเพื่อประโยชน์แก่ราชการแผ่นดิน และกรณีงบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสํารองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจําเป็นไม่เพียงพอ
ทั้งนี้ การกำหนดให้รัฐบาลใช้เงินทุนสํารองจ่ายได้ถึง 50,000 ล้านบาท ถือเป็นกฎหมายใหม่ เพิ่งปรับปรุงแก้ไขในสมัยรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อปี 2561 โดยมีการนำกฎหมาย พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ.2502 ซึ่งกำหนดให้ ครม.สามารถใช้เงินทุนสํารองจ่ายกรณีมีความจําเป็นเพื่อประโยชน์แก่ราชการแผ่นดินเพียง 100 ล้านบาท
มาปรับใหม่เป็น พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ.2561 ซึ่งให้อำนาจ ครม.ใช้เงินทุนสํารองจ่ายเพิ่มเป็น 50,000 ล้านบาท และยังมีการปรับปรุงวิธีการใช้งบประมาณอื่นๆ ที่สำคัญอีกหลายมาตรา
พ.ร.บ.วิธีการใช้งบประมาณ 2561 ถือเป็นการตั้งจำนวนเงินไว้สูง เพราะ พ.ร.บ.เดิมให้แค่ 100 ล้านบาท ปรับเพิ่มเป็น 50,000 ล้านบาท อีกทั้งยังไม่มีการเจาะจงชัดเจนว่าจะใช้ทำอะไร จึงเป็นการเปิดโอกาสให้รัฐบาลสามารถนำเงินไปใช้ได้โดยไม่ต้องผ่านการพิจารณาตามหลักเกณฑ์งบประมาณที่ต้องมีการตั้งรายละเอียดวัตถุประสงค์โครงการ
ในกฎหมายยังกำหนดด้วยว่าเมื่อมีการจ่ายเงินทุนสำรองจ่ายไปแล้ว ให้รัฐบาลตั้งงบประมาณรายจ่ายเพื่อชดใช้ในกฎหมายว่าด้วยงบประมาณรายจ่ายเพื่อสมทบเงินทุนนั้นไว้จ่ายต่อไปในโอกาสแรก
อย่างไรก็ตาม ในรอบปีที่ผ่านมารัฐบาลยังไม่เคยใช้เงินทุนสำรองจ่าย 50,000 ล้านบาทมาก่อน แต่มีความเป็นไปได้ว่ารัฐบาลชุดใหม่ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี อาจพิจารณาใช้เงินทุนสำรองจ่ายเป็นอีกวิธีหนึ่งในการหางบประมาณมาใช้ทำมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบันเข้าสู่ภาวะถดถอย
อีกทั้งยังมีปัญหาเบิกจ่ายงบประมาณประจำปี 2563 ล่าช้าออกไปอีก 3 เดือน รวมถึงต้องเข้ามาผลักดันนโยบายหาเสียงที่ให้ไว้ ซึ่งประเมินว่าจะใช้เงินมหาศาลกว่า 2 แสนล้านบาท จึงเข้าข่ายสถานการณ์จำเป็นเร่งด่วนที่สามารถทำได้
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ