“ทีมกฎหมายพปชร.” เข้าตรวจคำร้อง 27 ส.ส.โดนร้องศาลรธน.ปมถือหุ้นสื่อ เตรียมยื่นขอคุ้มครองชั่วคราวไม่ให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ หวั่นทำกระทบงานสภาฯ – รัฐบาล วอนสังคมอย่าเปรียบเทียบคดี”ธนาธร”
เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 19 มิถุนายน ที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ นายทศพล เพ็งส้ม ส.ส.แบบแบ่งเขต พรรคพลังประชารัฐ จ. นนทบุรี ในฐานะหัวหน้าทีมต่อสู้คดีหุ้นสื่อของ 27 ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ได้เข้าตรวจสำนวน คำร้องที่นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ยื่นขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ว่า 41 ส.ส.ที่ถือครองหุ้นสื่อ เข้าข่ายทำให้ขาดคุณสมบัติดำรงตำแหน่งส.ส.หรือไม่
โดยนายทศพล ให้สัมภาษณ์ว่า วันนี้มาตรวจสำนวนเพื่อจะได้รู้ว่าสภาฯส่งเอกสารอะไรมาบ้างจะได้วางแผนการต่อสู้ถูก แต่ก่อนหน้านี้เราได้มีการแบ่งกลุ่มคดี เป็นกลุ่มคดีที่มีความเสี่ยง กลุ่มคดีกลางๆ และกลุ่มคดีที่มีความคาบเกี่ยวกัน เพราะวิธีการต่อสู้ในแต่ละกลุ่มคดีไม่เหมือนกัน ขณะเดียวกันทางพรรคได้มีการหารือกับพรรคร่วม ด้วยกันถึงวิธีการต่อสู้คดี ในกรณีของส.ส.พรรคนั้นถูกยื่นร้องด้วย รวมถึงก็จะมีการยื่นร้องส.ส.ของ 7 พรรคที่มีการถือหุ้นสื่อ โดยจะมีอีกทีมงานหนึ่งเป็นผู้ดำเนินการ
นายทศพล กล่าวว่า ปัญหาใหญ่ที่กลัวเมื่อศาลรับคำร้องแล้วจะสั่งให้ส.ส.ที่ถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ ถือเป็นโจทย์ใหญ่ที่คณะทำงานที่ต้องหาเหตุผลว่า 27 ส.ส.ของพรรคพปชร.ไม่เหมือนกับกรณีอื่น จึงไม่ควรที่ศาลสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งก็จะมีการเอาข้อเท็จจริงที่ศาลฎีกามีคำพิพากษาตัดสิทธินายภูเบศวร์ เห็นหลอด ผู้สมัครส.ส.พรรคอนาคตใหม่ จ.สกลนคร และนายคมสัน ศรีวนิชย์ ผู้สมัคร ส.ส.พรรคประชาชาติ จ.อ่างทอง ที่มีความแตกต่างกัน มาพิจารณาดูว่าข้อเท็จจริงในคดีมีประเด็นใดบ้างที่ศาลรับฟังและไม่รับฟัง อย่างในเรื่องของการจดทะเบียนวัตถุประสงค์บริษัท ที่หลายคนมีการต่อสู้ว่าใช้แบบฟอร์มสำเร็จรูปของกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งถ้าเป็นแบบฟอร์มของกระทรวงพาณิชย์จริงก็ควรเป็นแบบพิมพ์มาตรฐานเดียวกัน ไม่ใช่ในแบบฟอร์มข้อที่ระบุว่าทำสื่อกลับอยู่ในลำดับที่แตกต่างกัน ซึ่งรายละเอียดแบบนี้ยากมากในการต่อสู้ เพราะส.ส.พรรคพปชร.บางคนมีถึง3-4 บริษัท ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่ต้องมีเอกสารราชการตรวจสอบ โดยได้แจ้งให้ส.ส.แต่ละคนทำรายละเอียดออกมา บางคนไม่เข้าใจอ้างว่ากรอกไปตามที่เจ้าหน้าที่แนะนำ ซึ่งในความเป็นจริงอยู่ที่ตัวเราว่าจะจดทะเบียนอย่างไร บางคนเลือกจดไปก่อนทำหรือไม่ทำก็เป็นอีกเรื่อง ซึ่งก็ทำให้เกิดปัญหาโดยศาลฎีกามองว่า เมื่อคุณจดทะเบียนวัตถุประสงค์ไว้ เท่ากับมีวัตถุประสงค์จะทำสื่อ ทำให้ขัดรัฐธรรมนูญ
อีกทั้งกรณีนี้มีการยื่นผ่านประธานสภาฯ ซึ่งก็ทำหนังสือส่งต่อมาที่ศาลรัฐธรรมนูญ ไม่มีรายละเอียดของพยานหลักฐาน ไม่เหมือนกับคดีที่ร้องผ่านกกต. ที่กกต.มีการตรวจสอบแล้วว่าโอนหุ้นวันไหน โอนหุ้นเมื่อไหร่ จ่ายเงินเมื่อไหร่ ดังนั้นเมื่อคดีมาถึงศาลรัฐธรรมนูญ ศาลก็จะต้องวางมาตรฐาน ว่าระหว่างวัตถุประสงค์ที่ระบุในเอกสารราชการ กับสิ่งที่ไม่ได้ประกอบกิจการจริง อะไรฟังได้ไม่ได้ และคาดว่าไม่เกินสัปดาห์หน้าก็จะยื่นคำร้องพร้อมเหตุผลเพื่อขอคุ้มครองชั่วคราวไม่ให้สั่งระงับการปฏิบัติหน้าที่ของ 27 ส.ส. เพราะถ้าหากศาลสั่งให้หยุดการปฏิบัติหน้าที่ก็จะได้รับผลกระทบกับการทำงาน เพราะไม่ใช่แค่กระทบถึงการปฏิบัติหน้าที่ส.ส.เท่านั้น แต่ยังกระทบต่อการบริหารงานของรัฐบาลด้วย เพราะว่ารัฐบาลยังไม่มีการแถลงนโยบายในรัฐสภา
“ผมมีหน้าที่ทำอย่างไรก็ได้ให้ 27 ส.ส.ยังสามารถทำหน้าที่อยู่จนจบภารกิจ และไม่อยากให้สังคมเอาไปเปรียบเทียบ กับกรณีสั่งให้นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ หยุดปฏิบัติหน้าที่ เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องสองมาตรฐาน เพราะการสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ในหลายคดีไม่เหมือนกัน การที่ศาลสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่เพราะเกรงว่าจะมีปัญหาการต่อประชุมสภาฯ แต่ของเรามันจะเกิดปัญหาทางลบยิ่งกว่า คือรัฐบาลจะไม่สามารถดำเนินการตามนโยบายได้เพราะขณะนี้รัฐบาลยังไม่ได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภา จึงจะไปเทียบกับกรณีของธนาธร ไม่ได้ เพราะมันเป็นคนละเรื่องกัน อย่าเอามารวมกัน กรณีหุ้นสื่อของ 41 ส.ส.ที่ถูกพรรคอนาคตใหม่ยื่นต่อประธานสภาฯ อาจจะคล้ายกัน คือถือหุ้นสื่อ แต่ข้อเท็จจริงไม่เหมือนกัน “ นายทศพล กล่าว
ข่าวจาก มติชนออนไลน์
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ