ย้อนอดีต “หวยบนดิน” ที่รัฐบาลปัจจุบันสนใจจะปัดฝุ่น คืนชีพใหม่





ย้อนกลับไปเมื่อปี  2546  รัฐบาลของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร (ยศในขณะนั้น) ได้มีมติให้สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ดำเนินการจำหน่ายสลากแบบเลขท้าย 3 ตัว และ 2 ตัว เพิ่มเติมจากการจำหน่ายสลากกินแบ่งแบบเดิม  โดยในครั้งนั้นเป็นการเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีแบบ วาระจร

ทำไมถึงชื่อ “หวยบนดิน”  คำตอบง่ายๆคือ เป็นการแปลงการซื้อ “หวย” ที่ผิดกฎหมายให้ถูกกฎหมายโดยมีรัฐเป็นเจ้ามือ

การจำหน่ายสลากกินแบ่งของไทยนั้น จะเป็นการจำหน่ายสลากแบบล็อตเตอรี่ ซึ่งแต่ละใบจะมีเลข 6 หลัก  ส่วนรางวัลนั้น นอกจากราวัลที่ 1 ถึงรางวัลที่ 5 ก็ยังมีรางวัลเลขท้ายสองตัวและเลขท้ายสามตัว

และหากว่ากันตามจริงแล้ว คนที่นิยมการเสี่ยงโชค น้อยคนที่จะหวังถูกรางวัลที่ 1 –  5 เพราะหากเทียบเป็นเปอร์เซนต์แล้วมีโอกาสน้อย โดยมากจึงหวังซื้อเพื่อให้ถูกรางวัลเลขท้าย 2 และ 3 ตัว

ในส่วนของคนที่นิยมซื้อสลากกินแบ่งก็มักจะตามหาเลขท้าย ที่เป็นเลขที่ตัวเองชอบและคิดว่าจะถูก ทำให้มีการรวมชุดเกิดขึ้น

และนี่เองเป็นต้นกำเนิดของการจำหน่ายสลากเกินราคา  เพราะคนที่รวมชุดมักจะต้องใช้ “กำลังภายใน” เพื่อให้ได้มาซึ่งสลากเลขท้ายเดียวกันหลายๆใบ เพราะสลากแต่ละชุดนั้นจะกระจายไปตามที่ต่างๆ

และนอกจากเส้นทางถูกกฎหมายอย่างสลากกินแบ่งแล้ว ยังมีเส้นทางผิดกฎหมาย ที่เราเรียกว่า “หวยใต้ดิน”   ซึ่งเน้นผลการออกเลขท้ายสองตัวและสามตัวเป็นหลัก มีผลตอบแทนอย่างงดงาม  ที่สำคัญคือไม่ต้องควักเงินร่วม 100 บาท ในการซื้อหากแต่ใช้เพียงหลักสิบต้นๆเท่านั้น  และนี่คือรายได้อย่างเป็นกอบเป็นกำของกลุ่มทุนสีเทา ว่ากันว่าปีๆหนึ่งเม็ดเงินที่ไหลเวียนกับหวยใต้ดินนั้นมีมหาศาลเป็นหมื่นล้าน

การคิดระบบการจำหน่ายสลากสองตัวและสามตัว จึงเป็นการแก้ปัญหาสลากเกินราคา รวมถึงกลุ่มใต้ดิน โดยมีรัฐเป็นเจ้ามือใหญ่ทำให้ถูกกฎหมาย นี่เองจึงเป็นที่มาของคำว่า “หวยบนดิน”

แต่ใช่ว่าการจำหน่ายสลากแบบนี้จะมีแต่ข้อดีและการสรรเสริญเยินยอ  หากแต่ในมุมตรงข้ามก็มีหลายคนที่คัดค้านด้วยข้อหา “มอมเมา” และหวั่นว่าหากทำเช่นนี้อาจมีการนำเงินนอกระบบที่เข้ามาสู่ในระบบไปใช้แบบผิดทาง

แต่ใน ปี 2546 รัฐบาล “ทักษิณ” ก็ตัดสินใจทำ โดยจำหน่ายในราคา 20,50 และ 100 บาท และให้ผู้ค้ารายย่อยที่ได้ลงทะเบียนไว้เป็นผู้จำหน่าย ส่วนอัตราการจ่ายรางวัลอยู่ที่  2 ตัว จ่าย 55 บาท ต่อการซ้อ 1 บาท  และ 3 ตัวอยู่ที่ 400 บาท ต่อการซื้อ1 บาท

การจำหน่ายครั้งนั้นได้รับความนิยมอย่างมาก ว่ากันว่าเจ้ามือหวยใต้ดินเจ๊งไปตามๆกัน เพราะคนนิยมหันมาเล่น “หวยบนดิน” เนื่องจาก ไม่มีการอั้นเลข หรือ จ่ายครึ่งราคา และมั่นใจได้ว่าเจ้ามือไม่หนีแน่นอนเพราะรัฐบาลเป็นเจ้ามือเอง

ส่วนรายได้นั้น ตามมติ ครม. ระบุว่า เป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารไม่เกิน 20%  ส่วนที่เหลือนำมาสมทบเป็น “กองทุนเงินรางวัล” เพื่อนำไปจ่ายรางวัล ส่วนที่เหลือก็จะนำมาใช้ในโครงการต่างๆของรัฐบาล   มีรายงานระบุว่า ตั้งแต่ 1 ส.ค. 2546 – 16 ก.ย. 2549 สามารถทำรายได้ 123,339,840,730 บาท  อย่างไรก็ตามีการขาดทุน 7 งวดเป็นจำนวน 1.6 พันล้านบาท

อย่างไรก็ตามมีข้อครหาตามมาว่า การจำหน่ายหวยบนดินนี้เป็นการเปิดโอกาสให้  “รัฐบาลทักษิณ” นำเงินไปใช้ในโครงการของรัฐบาลที่ส่อไปในทางมิชอบ และอาจทำให้กระทรวงการคลังได้รับความเสียหาย

และเมื่อมีการรัฐประหารปี 2549 ก็ได้ยกเลิกการจำหน่ายหวยบนดิน และได้ให้ คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ  ที่ตั้งโดยคณะรัฐประหารเข้ามาตรวจสอบโครงการดังกล่าว ก่อนจะส่งต่อให้ ป.ป.ช. ดำเนินการ

และเมื่อวันที่ 6 มิ.ย. 2562  ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้พิพากษาจำคุก 2 ปี นายทักษิณ ในคดีดังกล่าว เนื่องจากสร้างความเสียหาย ไม่คำนึงถึงวัตถุประสงค์การออกสลาก  เป็นไปลักษณะเดียวกับหวยใต้ดิน เป็นการมอมเมาประชาชน

และล่าสุดมีกระแสข่าวว่าสำนักงานสลากกินแบ่งกำลังจะปัดฝุ่นการจำหน่าย “หวยบนดิน” ขึ้นมาทำอีกครั้งหนึ่ง

สกู๊ปจาก : PPTVHD36

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: