นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงภาวะเศรษฐกิจสังคมครัวเรือนเกษตร ซึ่งจากข้อมูลของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) พบว่า รายได้เงินสดทางการเกษตรในปี 2560/61 อยู่ 197,373 บาท/ปี เพิ่มขึ้นจากปี 2559/60 คิดเป็น 22.64% ขณะที่รายจ่ายเงินสดทางการเกษตรในปี 2560/61 อยู่ที่ 122,890 บาท/ปี เพิ่มขึ้น 20.53% เกษตรกรมีรายได้เงินสดสุทธิเกษตร 74,483 บาท/ปี เพิ่มขึ้น 26.29% เมื่อเทียบกับปี 2559/60
หากพิจารณารายได้เกษตรกร พบว่า ปี 2561 เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นจากสาขาพืชเป็นหลัก อาทิ ข้าว สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร 56,123 บาท/ครัวเรือน ไม้ผลไม้ยืนต้น สร้างรายได้ 46,854 บาท/ครัวเรือน และพืชไร่ สร้างรายได้ 32,072 บาท/ครัวเรือน ซึ่งแม้รายจ่ายเงินสดทางการเกษตรเพิ่มขึ้นจากต้นทุนการผลิตที่มีราคาสูงตามภาวะเศรษฐกิจ แต่ภาพรวมจะเห็นได้ว่า ผลตอบแทนรายได้เงินสดสุทธิเกษตรยังคงสูงขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากนโยบายของภาครัฐที่ให้ความสำคัญกับการสร้างความเข้มแข็งให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกร การเพิ่มประสิทธิภาพและยกระดับมาตรฐานการเกษตร ตลาดนำการผลิต
การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันสินค้าเกษตรด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม และการดำเนินโครงการไทยนิยม ยั่งยืน นอกจากนี้ ภาครัฐ ได้ร่วมกับภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ในการส่งเสริมการเพาะปลูกพืชในพื้นที่ที่เหมาะสม การจัดหาแหล่งน้ำ และการใช้พันธุ์ที่ดี ส่งผลให้เกษตรกรขยายพื้นที่เพาะปลูกและเพิ่มการดูแลเอาใจใส่มากขึ้น กอปรกับปริมาณน้ำและสภาพอากาศยังคงเอื้ออำนวยต่อการผลิตทางการเกษตร ทำให้พืชส่วนใหญ่เจริญเติบโตได้ดีและมีผลผลิตเพิ่ม
สำหรับปี 2562 เชื่อมั่นว่ารายได้เกษตรกรจะยังคงเพิ่มขึ้นจากผลผลิตสินค้าเกษตรสำคัญที่สำคัญ อาทิ ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ยางพารา และผลไม้ จากปัจจัยสนับสนุนของสภาพอากาศที่เอื้ออำนวยต่อการผลิต และการบริหารจัดการน้ำที่มีประสิทธิภาพ ประกอบกับการดำเนินนโยบายและมาตรการด้านการเกษตร และการวางแผนการผลิตที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดส่งผลให้รายได้ภาคเกษตรในปีหน้ายังคงขยายต่อเนื่อง
นายกฤษฎา บุญราช รมว.เกษตรฯ ติดตามผลนโยบาย “การตลาดนำการผลิต” หลังผนึกกำลังภาครัฐ ภาคเอกชน และกลุ่มเกษตรกร เพิ่มการผลิตสินค้าที่ตลาดต้องการ และลดการผลิตสินค้าที่ล้นตลาด มาเป็นเวลา 1 ปีเศษ พบตัวเลขสำคัญ เกษตรกรรายได้สุทธิหลังหักค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ข้อมูลจากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) พบว่า เกษตรกรมีรายได้เงินสดสุทธิทางการเกษตรในปีเพาะปลูก 2560/2561 แตะระดับ 74,483 บาทต่อปี เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 58,975 บาทต่อปี ถึง 26.30% และเมื่อวิเคราะห์ตัวเลขเปรียบเทียบ 5 ปีย้อนหลัง พบว่า ในปีเพาะปลูก 2560/2561 เกษตรกรมีรายได้ที่ก้าวกระโดดทั้งในเชิงตัวเลขรายได้และอัตราการเติบโต
กุญแจสำคัญที่ดันรายได้เกษตรกรพุ่งมาจากการบริหารอุปสงค์ (Demand) อุปทาน (Supply) ให้เหมาะสม ภายใต้นโยบาย “การตลาดนำการผลิต” ตัวอย่างเช่น ข้าว พืชเศรษฐกิจสำคัญของไทย ด้วยนโยบายดังกล่าว กระทรวงฯ ได้มีมาตรการส่งเสริมการผลิตข้าวให้พอดีกับความต้องการของตลาด และเปลี่ยนพื้นที่ปลูกข้าวบางส่วนไปเป็นพืชทางเลือกอื่นที่ตลาดต้องการ และมีต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่า ส่งผลให้ในช่วงที่ผ่านมาราคาข้าวเปลือกเจ้าอยู่ที่ราว 7,000-8,000 บาท ส่วนข้าวเปลือกหอมมะลิ ราคาอยู่ในระดับไม่ต่ำกว่าตันละ 15,000 บาท
นายกฤษฎา กล่าวว่า นโยบาย “การตลาดนำการผลิต” เป็นทางออกให้กับทั้งเกษตรกร และภาครัฐ กล่าวคือ เกษตรกรจะไม่ต้องทนทุกข์กับการผลิตสินค้าออกมาแล้วไม่มีที่รับซื้อ และการถูกกดราคาสินค้าเนื่องจากสินค้าล้นตลาด และเป็นทางออกของภาครัฐ ที่จะไม่ต้องทุ่มเงินภาษีประชาชนมาอุ้มราคาสินค้าเกษตรจนกลายเป็นปัญหาลูกโซ่กระทบทั้งเศรษฐกิจ สังคมและการเมืองอย่างที่ผ่านมา
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ