หลังจากมีรายชื่อ พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล หรือ บิ๊กโจ๊ก ได้รับการแต่งตั้งเป็นหนึ่งในคณะอนุกรรมการข้าราชการตำรวจ ( อนุฯ ก.ตร.) เกี่ยวกับกฎหมายและระเบียบ ล่าสุดวันนี้ (26 มิ.ย.) พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมซึ่งเป็นผู้ลงนามในประกาศดังกล่าว เปิดเผย บุคคลภายนอกที่ปัจจุบันไม่ได้เป็นข้าราชการตำรวจเข้ามาเป็นคณะอนุกรรมการ ก.ตร.ได้
สำหรับการแต่งการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการดังกล่าวอยู่ในอำนาจของคณะกรรมการก.ตร.ชุดใหญ่ ส่วน เขา ในฐานะประธานกรรมการข้าราชการตำรวจมีหน้าที่ลงนาม พล.อ.ประวิตร กล่าว
รองนายกรัฐมนตรีผู้นี้กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า การแต่งตั้งดังกล่าว เป็นเรื่องภายในของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ซึ่งจะให้ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) และพล.ต.อ.วิระชัย ทรงเมตตา รองผบ.ตร. เป็นผู้ชี้แจงรายละเอียดต่อไป
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทยได้ติดต่อสอบถามไปยัง พล.ต.อ.วิระชัย แล้วแต่ขณะนี้ยังไม่สะดวกให้ข้อมูล
พล.อ.ประวิตร นัดประชุม ก.ตร.ศุกร์นี้ ถกประเด็นร้อน กรณี “ผู้กำกับหนุ่ย” ร้องทุกข์ #ปูเสื่อรอชม #บิ๊กโจ๊ก กับการทำหน้าที่ครั้งแรก อนุ ก.ตร.เกี่ยวกับกฏหมายและระเบียบ #หลบหน่อยพระเอกมา@TNAMCOT pic.twitter.com/OvF1gpvq8E
— Djboych9 (@djboych9) June 26, 2019
ปฏิเสธการย้าย บิ๊กโจ๊ก กลับ สตช.
ประเด็นดังกล่าวได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมถึงการโยกย้าย พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ โดยตั้งข้อสังเกตว่า การที่เขาได้รับการแต่งตั้งให้เป็นหนึ่งในคณะอนุกรรมการก.ตร. นั้น เป็นการส่งสัญญาณว่าอาจจะได้กลับมาดำรงตำแหน่งใน สตช. หรือไม่ พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า เขาตอบเรื่องนี้ไปแล้ว ซึ่งคำสั่งดังกล่าวเป็นคำสั่งเก่า เนื่องจากมีหนึ่งในคณะอนุกรรมการ ก.ตร.เสียชีวิตหนึ่งคนจึงมีการเสนอชื่อพล.ต.ท.สุรเชษฐ์เข้ามา
อย่างไรก็ตาม พล.อ.ประวิตร ยืนยัน ว่าพล.ต.ท.สุรเชษฐ์ ไม่สามารถกลับเข้ามาทำงานในสตช.ได้ เพราะเป็นข้าราชการพลเรือนไปแล้ว
ก่อนหน้านี้ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย ให้สัมภาษณ์สื่อมวลว่า พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ สามารถกลับมาได้โดยใช้คำสั่งปกติ หลังจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หมดอำนาจ
แต่ในวันนี้ (26 มิ.ย.) พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ขอให้ไปถามนายวิษณุ เพราะเขาไม่ทราบ ส่วนช่วงบ่ายวันนี้ จะมีการประชุม ก.ตร.
คณะอนุ ฯ ก.ตร. มีอำนาจอย่างไร
จากประกาศคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ เรื่อง แต่งตั้งคณะอนุกรรมการ ก.ตร. เกี่ยวกับกฎหมายและระเบียบ ซึ่งประกาศเมื่อวันที่ 15 มิ.ย. ที่ผ่านมา ได้ระบุ ถึงอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการชุดนี้ ในหัวข้อที่ 2 และครอบคลุมไปยังหัวข้อที่ 3 และ 4 ว่า
2. อำนาจหน้าที่
2.1 พิจารณาและเสนอความเห็นต่อ ก.ตร. ในการวินิจฉัยปัยหาข้อกฎหมายตาม พ.ร.บ. ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง
2.2 พิจารณาและเสนอความเห็นต่อ ก.ตร. เกี่ยวกับการออก แก้ไข ปรับปรุงและยกเลิกในส่วนที่ไม่จำเป็นของกฎหมาย กฎ ก.ตร. ระเบียบ-ข้อบังคับ ข้อกำหนด ประกาศ มติ การกำหนดนโยบายและมาตรฐานเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคล ตาม พ.ร.บ. ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนกำกับดูแล ตรวจสอบ และแนะนำงานที่เกี่ยวข้อง
2.3 พิจารณามีความเห็นเสนอ ก.ตร. ในเรื่องอนุกรรมการ ก.ตร.เกี่ยวกับกฎหมายและระเบียบ เห็นควรเสนอ ก.ตร. พิจารณา
2.4 ทำการแทน ก.ตร. ในเรื่องเกี่ยวกับการแก้ไขทะเบียนประวัติเกี่ยวกับวันเดือนปีเกิดของข้าราชการตำรวจ ตลอดจนเรื่องเกี่ยวกับการให้เพิ่มหรือถอนรายชื่อข้าราชการตำรวจจากประกาศรายชื่อข้าราชการตำรวจที่จะพ้นจากราชการเพราะเกษียณอายุ และให้การรับรองการตรวจสอบวันเดือนปีเกิดของผู้ที่จะพ้นจากราชการเพราะเกษียณอายุ ในกรณีที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขวันเดือนปีเกิดของข้าราชการตำรวจ
2.5 กิจการอื่น ๆ ตามที่ ก.ตร. มอบหมาย
3. ตามกรณี 2.4 ให้อนุกรรมการ ก.ตร. เกี่้ยวกับกฎหมายและระเบียบมีอำนาจทำการแทน ก.ตร. อย่างเด็ดขาด โดยเมื่อได้พิจารณาและมีมติเป็นประการใดแล้ว ให้เลขานุการ ก.ตร. แจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการต่อไป และรายงานดำเนินการให้ ก.ตร. ทราบ
4. กรณีตาม 2.1-2.3 เมื่อรายงาน ก.ตร. และ ก.ตร. มีมติเป็นประการใดแล้ว ให้เลขานุการ ก.ตร. ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ