เมื่อวันที่ 26 มิ.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรมการขนส่งทางบก ได้ออกประกาศกรมขนส่งทางบก การใช้อุปกรณ์สำหรับยึดตู้บรรทุกสินค้า หรือทวิสล็อค แล้ว และจะนำมาเริ่มบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย. ปีนี้เป็นต้นไป เพื่อยึดตู้คอนเทเนอร์กับตัวรถให้มั่นคงปลอดภัยตลอดระยะเวลาที่ทำการขนส่ง หากฝ่าฝืนจะได้รับโทษ ตามพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 71 ประกอบมาตรา 148 ซึ่งมีโทษปรับสูงสุดไม่เกิน 50,000 บาท สาเหตุจากที่ผ่านมาเกิดอุบัติเหตุรถบรรทุกพ่วงทำตู้คอนเทนเนอร์หล่น ทำให้มีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บ รวมทั้งทรัพย์สินเสียหายมาโดยตลอด
ด้าน นายอภิชาติ ไพรรุ่งเรือง ประธานสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นความชุ่ย ความมักง่ายของคนขับ และพนักงานคุมรถ ซึ่งก่อนหน้านี้ช่วงเทศกาลปีใหม่ สงกรานต์ และหลายครั้งๆที่ผ่านมา สหพันธ์ฯเคยเสนอให้กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ออกระเบียบบังคับรถบรรทุกให้ติดตั้งสัญลักษณ์แสดงด้วยสัญญาณไฟเขียวว่า ตู้คอนเทเนอร์นั้นมีระบบล็อคตู้ที่ปลอดภัย ส่วนรถไม่ล็อคตู้คอนเทนเนอร์จะโชว์สัญลักษณ์เป็นไฟสีแดง เพื่อเตือนให้คนขับรถตามหรือข้างเคียงให้ระมัดระวังแล้ว ซึ่งขนส่งบอกว่าจะรับไปพิจารณา และได้มีการหารือเรื่องนี้เป็นประจำเมื่อมีการประชุมร่วมกัน จำนวนรถบรรทุกที่อยู่ภายใต้การกำกับของสมาคมซึ่งมี 2 แสนคัน ซึ่งให้ความสำคัญกับการล็อคตู้คอนเทเนอร์อย่างดี จากรถบรรทุกที่จดทะเบียนขณะนี้ 1 ล้านคัน ซึ่งหลายภาคส่วนต้องช่วยกัน โดยการใช้สัญลักษณ์ไฟเพื่อทำให้ตำรวจสังเกตและเรียกตรวจจับปรับได้ง่าย ซึ่งไม่ได้ใช้หลักการซับซ้อน เพียงลงทุนติดตั้งระบบเซ็นเซอร์เฉลี่ยแล้วคันละไม่เกิน 1,000 บาท เช่นเดียวกันเจ้าของโรงงานหรือนิคมอุหตสาหกรรมต้องออกมาร่วมมือด้วยการออกกฏห้ามเข้าออกโรงานหากไม่ล็อคทวิสล็อค ซึ่งในข้อกฏหมายควรเพิ่มโทษปรับผู้ประกอบการให้สูงขึ้น และยึดใบอนุญาตคนขับรถบรรทุก เมื่อกระทำความผิดโดยประมาท
นายทองอยู่ คงขันธ์ ประธานที่ปรึกษาสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย ในฐานะผู้ประกอบการรถบรรทุก 30 คัน กล่าวเสริมว่า คนขับรถบรรทุกส่วนน้อย และไม่ได้เป็นสมาชิกของสหพันธ์มีความเข้าใจผิดๆว่าการล็อคทวิสล็อค เมื่อมีอุบัติเหตุจะเกิดความสูญเสียกับตัวรถและตู้คอนเทนเนอร์น้อยกว่า แต่ข้อเท็จจริงแล้วการล็อคตู้เมื่อเกิดอุบัติเหตุตู้จะค่อยๆคว่ำ ไม่ลอยลงมาเหมือนโยนวัตถุมาจากที่สูง เพราะที่ผ่านมามีเหตุรถบรรทุกคอนเทเนอร์ที่ล็อคตู้ทับรถโตโยต้าฟอร์จูนเนอร์ แต่คนอยู่ในรถไม่ได้รับบาดเจ็บ ซึ่งต้องปรับความเข้าใจใหม่ เมื่อรถบรรทุกและคอนเทเนอร์เสียหาย รถบรรทุกส่วนใหญ่มีประกันอยู่แล้ว กรณีทวิสล็อค ก่อนหน้านี้สหพันธ์ฯเคยลงนามความร่วมมือระหว่างกระทรวงคมนาคม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งการนิคมอุตสาหกรรม ท่าเรือ ตร.รวม 17 หน่วยงาน ให้มีการตรวจเข้มทวิสล็อครถบรรทุกที่ออกมาจากโรงงาน นิคมอุตสาหกรรม และท่าเรือคลองเตย แต่ปรากฏว่าขณะนี้เกิดการ ย่อหย่อน ที่พบชัดเจนบริเวณท่าเรือคลอดเตย ฝ่ายเช็คกิ้งโพสต์ ที่มีหน้าที่ตรวจตราการล็อคตู้คอนเทเนอร์ก่อนออกจากท่าเรือ เรียกรับเงินคนขับ คันละ 10 บาท 20 บาท ส่งผลให้คนขับไม่ให้ความสำคัญ เพราะจ่ายเงินไปแล้วก็ออกจากพื้นที่ได้ ซึ่งที่ผ่านมาผู้บริหารมาร่วมลงนามความร่วมมือครั้งนี้แล้ว ขณะที่การทางพิเศษ (กทพ.)จริงจังมากพบรถบรรทุกไม่ล็อคตู้ปรับทันที 1,000 บาท แต่อย่างไรก็ตามแม้รถบรรทุกติดตั้งจีพีเอสติดตามเรื่องความเร็ว และพฤติกรรมแล้วก็จริง แต่ก็ไม่สามารถเห็นว่าล็อคตู้หรือไม่ ซึ่งผู้ประกอบการต้องเข้ามารับผิดชอบร่วมด้วย เพราะจะไปสร้างความเดือดร้อนเกิดอุบัติเหตุกับผู้ใช้รถใช้ถนนคนอื่นได้.
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ