สำนักงานอ้อยฯ จับมือ ธ.ก.ส.- โรงงานน้ำตาล ปล่อยกู้แก้ปัญหาไฟไหม้อ้อย6พันล้าน





สำนักงานอ้อยฯ จับมือ ธ.ก.ส.และ 57 โรงงานน้ำตาล ปล่อยกู้ชาวไร่อ้อยดอกเบี้ยร้อยละ 2 ปีละ 2,000 ล้านบาท 3 ปี รวม 6,000 ล้านบาท เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดปัญหาอ้อยไฟไหม้ให้หมดไปในปี 65 

สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) กระทรวงอุตสาหกรรม ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ 3 ฝ่ายระหว่าง สอน. โรงงานน้ำตาล 57 โรง และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) ภายใต้โครงการส่งเสริมสินเชื่อเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอ้อยอย่างครบวงจรปี 2562-2564 วงเงิน 6,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 2 ต่อปี เพื่อแก้ไขปัญหาอ้อยไฟไหม้ให้หมดภายในปี 2565 

นางวรวรรณ ชิตอรุณ เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย กล่าวว่า ขณะนี้ ธ.ก.ส.พร้อมที่จะปล่อยกู้เกษตรกรที่สนใจสามารถเข้าร่วมโครงการติดต่อได้ที่ ธ.ก.ส.ทุกสาขา หรือโรงงานน้ำตาลที่เกษตรกรชาวไร่อ้อยเป็นคู่สัญญาส่งอ้อย 

สำหรับสินเชื่อเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอ้อยฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนเกษตรกร กลุ่มเกษตรกร สหกรณ์การเกษตรสถาบันชาวไร่อ้อย กลุ่มบุคคลและวิสาหกิจชุมชน วงเงินกู้ปีละ 2,000  ล้านบาทระยะเวลา 3 ปี รวม เป็นเงินทั้งสิ้น  6,000 ล้านบาท โดยเป็นการสนับสนุนสินเชื่อจาก ธ.ก.ส.และให้โรงงานน้ำตาลเป็นผู้ค้ำประกันและรัฐบาลช่วยรับภาระชดเชยดอกเบี้ยส่วนเกินให้เกษตรกรชาวไร่อ้อย เพื่อนำไปซื้อเครื่องจักรกลทางการเกษตร ปรับพื้นที่ปลูกอ้อยและพัฒนาแหล่งน้ำ รวมถึงการบริหารจัดการน้ำในไร่อ้อยตามแนวทางการส่งเสริมการทำเกษตรสมัยใหม่ใช้เครื่องจักรกล และเป็นหนึ่งในมาตรการแก้ไขปัญหาอ้อยไฟไหม้ให้หมดไปภายในปี 2565 

ความช่วยเหลือนี้เป็นการเปิดโอกาสให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ เพื่อนำไปซื้อรถตัดอ้อย รถคีบอ้อยรถ ตัดอ้อยแร๊พเตอร์ เครื่องสางใบอ้อย เครื่องอัดใบอ้อยและเพื่อพัฒนาแหล่งน้ำในไร่อ้อย รวมทั้งเครื่องจักรและอุปกรณ์ต่อท้ายแทรกเตอร์อื่น ๆ ที่ใช้ในการปลูกและบำรุงรักษาอ้อยด้วยซึ่งจะเป็นแนวทางหนึ่งในการช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและคุณภาพผลผลิตอ้อย และลดปัญหาการขาดแคลนแรงงาน อีกทั้งสามารถช่วยลดต้นทุนการผลิตระยะยาว ซึ่งส่งผลให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยมีรายได้เพิ่มขึ้น นับเป็นการช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรผู้ปลูกอ้อยและเพิ่มขีดความสามารถให้สาขาอ้อยและน้ำตาลทรายของไทยให้สามารถแข่งขันได้ทั้งในตลาดอาเซียนและตลาดโลกได้อย่างยั่งยืน.

ข่าวจาก สำนักข่าวไทย

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: