นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณี นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีตสมาชิกพรรคไทยรักษาชาติ ยื่นคำร้องต่อ กกต.ให้ตรวจสอบ 6 สมาชิกวุฒิสภาถือครองหุ้นสื่อ อาจเข้าข่ายขาดคุณสมบัติ รวมถึงเตรียมสอบคุณสมบัติ คณะรัฐมนตรีใหม่จำนวน 4 คน รวมถึงตัวเองว่า กรณีนี้ยังไม่ทราบไม่รู้เรื่อง แต่ถือเป็นสิทธิสามารถยื่นคำร้องให้ตรวจสอบได้ไม่มีปัญหาอะไร และเชื่อว่าไม่กระทบการทำงาน
ส่วนตัวก็ไม่ได้เตรียมข้อมูลอะไรเพื่อชี้แจงเป็นพิเศษ ขณะเดียวกันนายเรืองไกร ก็ไม่สามารถมาทำอะไรในรัฐสภาได้อยู่แล้ว หากใครถามตัวเองก็จะชี้แจง เช่นเดียวกับประเด็นที่ฝ่ายค้านจองกฐินเตรียมอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีใหม่จำนวนหลายท่าน รวมทั้งตัวเองนั้น ว่าขอบคุณที่บอกจะได้เตรียมตัว และไม่ได้รู้สึกหนักใจ แต่เบาใจด้วยซ้ำ
ส่วนกรณีดังกล่าวที่เกิดขึ้นจะทำให้รัฐบาลทำงานยากขึ้นหรือไม่ มองว่า เป็นแบบนี้ทุกยุคจึงไม่เป็นปัญหาอะไร เมื่อเกมเข้าสภาก็ต้องทำตามกติกา หากใครมีข้อสงสัยหรือลุกขึ้นอภิปรายก็ต้องมีการชี้แจง ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติ เพราะตัวเองก็เคยเป็นสมาชิกสภาแต่งตั้ง และอยู่ร่วมกับสภาเลือกตั้งในเวลาแถลงนโยบาย เห็นมาหลายยุคหลายสมัย ไม่แปลกเป็นเรื่องธรรมดา
ดังนั้น ประชาชนไม่ต้องตื่นเต้น หรือตกใจ ขอให้ทำใจให้สนุก เรื่องดังกล่าวไม่มีอะไรทำให้เกิดมลทิน ไม่มีอะไรทำให้มัวหมอง เป็นเรื่องของใครบุคคลนั้นจะต้องอธิบายเอง เช่นกรณี ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
นายวิษณุ ยังบอกอีกว่า รัฐมนตรีคนอื่น ๆ ที่ถูกยื่นตรวจสอบคุณสมบัติก็ไม่มีใครมาปรึกษาเป็นการส่วนตัว เรื่องที่เกิดขึ้นก็รู้กันอยู่ว่า กติกาหรือเกมการเมือง มีอะไรบ้าง ส่วนประเด็นที่ว่า เรื่องนี้เป็นเกมการเมืองที่มีการเตรียมการไว้แล้วใช่หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า เป็นหน้าที่ไม่ใช่เกมในความหมายของวิชามาร แต่เป็นหน้าที่ว่าเมื่อสงสัยก็ให้ถาม และนำไปสู่การตั้งกระทู้เมื่อตอบแล้วไม่เชื่อ ก็ต้องนำไปสู่การอภิปราย เป็นเรื่องปกติขณะเดียวกันก็ไม่ได้กลัวกระแสสังคม
ทั้งนี้ นายวิษณุ เชื่อว่าสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นจากต่างประเทศ เพราะเข้าใจดีในกติกาเช่นนี้ พร้อมชี้แจงถึงขั้นตอนการแถลงนโยบายต่อรัฐสภาที่จะเกิดขึ้น ในวันที่ 24 -25 ก.ค. นี้ ว่าเรื่องดังกล่าวตัวเองไม่ทราบ เพราะ วิปรัฐบาลเป็นผู้กำหนดร่วมกับประธานสภา และคุยกับหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องรวมถึงวุฒิสภาด้วย เพราะการแถลงนโยบายเป็นการประชุมร่วม ส่วนการกำหนดไทม์ไลน์แถลงนโยบาย ต้องให้ร่างเสร็จเรียบร้อยก่อน จากนั้นคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบก่อนจะตีพิมพ์ และส่งให้สมาชิกอย่างน้อย 3 วัน ซึ่งสภาก็จะกำหนดว่าจะเป็นวันใด หากเร็วได้ก็ดีจะได้เริ่มงานเร็ว
อย่างไรก็ตาม ก็ตามสำหรับการขอประทานวันเข้าเฝ้าถวายสัตย์ปฏิญาณตน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ได้ดำเนินการไปแล้วเมื่อวานนี้ขณะนี้ยังไม่มีกำหนดการแต่อย่างใด.
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ