เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า นอกจากนโยบายภาษาคอมพิวเตอร์ หรือโค้ดดิ้ง ให้เป็นภาษาที่ 3 ของหลักสูตรการศึกษาประเทศไทย เนื่องจากโลกปัจจุบันเทคโนโลยีได้เติบโตอย่างรวดเร็ว และเข้ามามีบทบาทมากในชีวิตประจำวันของทุกคน ดังนั้นการเรียนภาษาอาจจะไม่ได้ถูกจำกัดอยู่ที่ภาษาพูดของมนุษย์เท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงภาษาคอมพิวเตอร์ ที่จำเป็นสำหรับเด็กยุคใหม่ ให้ก้าวทันโลก ดังนั้น การเรียนโค้ดดิ้ง คือความจำเป็นสำหรับการศึกษาของประเทศ และถือเป็นการเตรียมนักเรียน ก้าวเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 และทันต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี เบื้องต้น ตนทราบว่านายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการ ศธ.ก็สนับสนุนนโยบายนี้เช่นกัน ส่วนจะผลักดันการเรียนโค้ดดิ้งไปในทิศทางใดนั้น ตนขอหารือกับรัฐมนตรีว่าการ ศธ.ก่อน
คุณหญิงกัลยา กล่าวต่อว่า นอกจากนโยบายภาษาคอมพิวเตอร์แล้ว ในการพัฒนาการศึกษาให้นักเรียน มีความรู้ความสามารถและมีสมาธิในการเรียนเพิ่มมากขึ้น ตนมีแนวคิดเบื้องต้นคืออยากนำเรื่องคิดเลขในใจกลับมา รวมถึงการท่องบทอาขยาน การท่องหน้าที่พลเมือง สิทธิพลเมือง และการท่องสูตรคูณ เพราะตนมองว่าถ้านักเรียนทำสิ่งเหล่านี้ทุกวันนั้นจะช่วยส่งเสริมให้นักเรียนมีสมาธิในการเรียนเพิ่มมากขึ้น จะฟังเป็น และคิดตามได้ เชื่อว่าการเรียนของนักเรียนจะมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น
“บางคนอาจจะมองว่าดิฉันหัวโบราณไปบ้าง แต่การทำสิ่งเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นการท่องบทอาขยาน สูตรคูณ หรือหน้าที่พลเมือง หากให้นักเรียนท่องหลังเลิกเรียน ถือเป็นวิธีการทางจิตวิทยาอย่างหนึ่ง ที่จะช่วยให้นักเรียนผ่อนคลายหลังเลิกเรียน เพราะนักเรียนได้ส่งเสียงออกมา สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้นักเรียนคลายเครียด และสนุกกับการเรียนมากขึ้น”คุณหญิงกัลยากล่าว และว่า ทั้งนี้การดำเนินการทุกอย่างต้องค่อยเป็นค่อยไป รวมทั้งจะต้องส่งเสริมครู ให้พร้อมต่อการเปลี่ยนแปลง และสอนนักเรียนอย่างมีคุณภาพ แต่ทุกอย่างจะต้องไม่เป็นการเพิ่มภาระให้ครู ซึ่งแนวคิดเหล่านี้ ตนจะนำเสนอและหารือกับ รัฐมนตรีว่าการ ศธ. อีกครั้งหนึ่ง
ด้านนายสนิท แย้มเกษร รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า ขณะนี้นายสุเทพ ชิตยวงษ์ เลขาธิการ กพฐ. ได้ตั้งคณะทำงานรวบรวมงานของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เพื่อเสนอต่อ รัฐมนตรีว่าการ ศธ. และรัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ.ทั้ง 2 คน พิจารณาและในนโยบายกับ สพฐ.ต่อไป
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ