พนักงานแบงก์ระส่ำ! หวั่นตกงานนับ “พันคน” ปมควบรวม “TMB-TBANK”





เว็บไซต์ thebangkokinsight รายงานว่า หลังการควบรวมกิจการระหว่าง ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) หรือ TMB กับ ธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน) หรือ TBANK ซึ่งคาดว่าขั้นตอนทั้งหมดจะเสร็จสิ้นภายในเดือนกันยายน 2562 นี้ ทำให้พนักงานของทั้งสองธนาคาร หวั่นวิตกว่า จะถูกเลิกจ้างหรือถูกกดดันให้ออก เพื่อลดต้นทุนในหน่วยงานหรือตำแหน่งที่ซ้ำซ้อนกันหลังการปรับโครงสร้างใหม่

นายไวทิต ศิริสุวรรณ ประธานสหภาพแรงงานธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB ในฐานะประธานเครือข่ายสหภาพแรงงานธนาคารและสถาบันการเงินทั้งหมด 9 แห่ง (BFUN) เปิดเผยว่า ได้ยื่นหนังสือเพื่อขอเข้าพบนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อขอความชัดเจน และแนวทางการดูแลพนักงานหลังมีการควบรวมธนาคารทหารไทย และธนาคารธนชาต โดยเบื้องต้นคาดว่า หลังจากการควบรวมแล้วเสร็จจะส่งผลให้มีพนักงานอย่างน้อย 40-60% ได้รับผลกระทบ เพราะเป็นต้นทุนหลักของธนาคาร

ปัจจุบัน เทคโนโลยีที่เข้ามาดิสรัปธุรกิจ อย่างดิจิทัลแบงก์กิ้ง ส่งผลกระทบทำให้พนักงานแบงก์ลดลงอย่างมากแล้ว และในเร็วๆ นี้ เชื่อว่าพนักงานแบงก์จะถูกเลิกจ้างอีกมาก กรณีการควบรวมสองธนาคารครั้งนี้ จึงอยากให้กระทรวงการคลังที่กำกับดูแล และเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของ TMB เตรียมหามาตรการดูแลช่วยเหลือ โดยเบื้องต้นได้ขอนัดเข้าพบเพื่อหารือในวันที่ 26 ก.ค.นี้

ด้านนายศุภาชัย ภัทรพิศุทธนา ประธานสหภาพแรงงานธนาคารธนชาต กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้เริ่มมีความกดดันในสาขาต่างๆ ของทั้งสองแบงก์ที่มีความซ้ำซ้อน แม้ว่าผู้บริหารของ TMB และ TBANK จะยืนยันว่าจะไม่ลดคน ซึ่งโดยข้อเท็จจริงแล้ว ในสาขาที่ใกล้เคียงกัน หรือหน่วยงานที่ซ้ำซ้อนกัน ต้องมีการลดคนแน่นอน

ดังนั้น หากธนาคารจำเป็นต้องลดหน่วยงานหรือลดพนักงาน ก็ควรมีมาตรการดูแลเพิ่มเติม นอกเหนือจากการจ่ายผลประโยชน์ตามกฎหมาย รวมถึงการต่อยอดหาหนทางในการดำเนินธุรกิจ เพื่อดำรงชีวิตอยู่ต่อไปได้ เพราะพนักงานที่กระทบกระเทือนคาดว่าจะมีไม่น้อยกว่า 4,000-5,000 คน จากปัจจุบันพนักงานธนาคารธนชาตและทหารไทยมีรวมกันเกือบ 20,000 คน หรือคาดว่าจะมีการลดคนลงประมาณ 40-60%

ภายหลังจากยื่นหนังสือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเรียบร้อยแล้ว จะเดินหน้ายื่นหนังสือขอเข้าพบนายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะผู้กำกับดูแลสถาบันการเงินต่อไป

ข้อมูลจาก : thebangkokinsight

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: