หญิงไทยเฮ! “บัตรทอง” เพิ่มสิทธิตรวจ “ดีเอ็นเอเอชพีวี” ให้ผู้ใช้สิทธิได้คัดกรองมะเร็งปากมดลูก-รักษาเร็วขึ้น





ปี 2563 กองทุนบัตรทองเริ่มสิทธิประโยชน์ ‘เอชพีวี ดีเอ็นเอ เทสท์’ เพิ่มประสิทธิภาพตรวจคัดกรอง ‘มะเร็งปากมดลูก’ ช่วยหญิงไทยเข้าถึงการรักษาระยะแรกเริ่ม เตรียมประสาน สธ. ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์ฯ พัฒนาระบบบริการรองรับ

เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า มะเร็งปากมดลูกเป็นปัญหาสาธารณสุขของประเทศไทย โดยสถิติเป็นมะเร็งที่พบเป็นอันดับ 2 ในผู้หญิงไทยและมีอัตราการเสียชีวิตที่สูงมาก แต่รักษาให้หายได้หากพบในระยะแรกเริ่ม และเพื่อลดจำนวนหญิงไทยที่เจ็บป่วยด้วยโรคนี้ การคัดกรองมะเร็งปากมดลูกระยะแรกเริ่มเพื่อนำไปสู่การรักษาจึงเป็นมาตรการสำคัญ โดยบรรจุเป็นสิทธิประโยชน์กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ดำเนินการร่วมกับหน่วยบริการ บริการตรวจคัดกรองด้วยวิธีแปปสเมียร์ (Pap smear/conventional cytology :CC) ซึ่งเป็นวิธีที่แพร่หลายและใช้โดยทั่วไปในประเทศไทยมากว่า 70 ปี หรือวิธีวีไอเอที่เป็นการตรวจโดยชโลมปากมดลูกด้วยน้ำส้มสายชู 3-5% (Visual Inspection with Acetic acid: VIA) มาอย่างต่อเนื่อง

นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า เพื่อเพิ่มประสิทธิผลของบริการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกและเป็นไปตามข้อแนะนำ (Guideline) การคัดกรองมะเร็งปากมดลูกฉบับปรับปรุงเดือนกันยายน 2561 ของราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย ล่าสุด คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ได้เห็นชอบให้เริ่มดำเนินการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยเอชพีวี ดีเอ็นเอ เทสต์ (HPV DNA test) แทนการตรวจด้วยแปปสเมียร์ หรือ วีไอเอ ในปี 2563 ตามรูปแบบบริการการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกที่ปรับปรุงและงบประมาณดำเนินการ โดยหน่วยบริการสามารถเลือกที่จะให้บริการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกได้ 3 รูปแบบ ทั้ง แปปสเมียร์, วีไอเอ และเอชพีวี ดีเอ็นเอ เทสท์

“การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยเอชพีวี ดีเอ็นเอ เทสท์ เป็นการตรวจหาดีเอ็นเอของเชื้อไวรัสเอชพีวีที่ก่อมะเร็งปากมดลูก วิธีนี้มีความไวในการตรวจหาเซลล์ผิดปกติสูงมาก แต่มีข้อจำกัดที่ต้องควบคุมคุณภาพอย่างเข้มงวด ราคาค่อนข้างแพง และการใช้จำกัดอยู่ในสถานพยาบาลที่มีห้องปฏิบัติการขนาดใหญ่ ปัจจุบันได้มีการพัฒนาเครื่องและชุดตรวจเอชพีวี ดีเอ็นเอ เทสท์ ให้ใช้งานง่ายและราคาถูกลงมาก ประกอบกับผลการศึกษาการประเมินความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ โดยโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) ระบุว่า เอชพีวี ดีเอ็นเอ เทสท์ เป็นวิธีการตรวจมะเร็งปากมดลูกที่มีประสิทธิภาพและคุ้มค่า ทำให้สามารถตรวจพบผู้ป่วยในระยะแรกเริ่มเพิ่มขึ้นและเข้าสู่การรักษาได้โดยเร็วก่อนลุกลาม ช่วยให้อุบัติการณ์และการเสียชีวิตจากมะเร็งปากมดลูกลดลงเมื่อเทียบกับวิธีคัดกรองในปัจจุบัน ทั้งยังมีต้นทุนค่าใช้จ่ายที่ใกล้เคียงกัน” นพ.ศักดิ์ชัย กล่าว

เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า ส่วนรูปแบบของบริการคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยเอชพีวี ดีเอ็นเอ เทสท์ จะเป็นวิธีคัดกรองมะเร็งปากมดลูกลำดับแรกในกลุ่มประชากรอายุ 30-59 ปี กรณีที่ผลการตรวจไม่พบเชื้อ จะเข้าสู่กระบวนการคัดกรองทุก 5 ปี และในกรณีที่ตรวจพบเชื้อจะทำการตรวจยืนยันซ้ำ และเข้าสู่กระบวนการรักษาต่อไป อย่างไรก็ตาม การตรวจด้วยวิธีเอชพีวี ดีเอ็นเอ เทสท์ มีประเด็นพิจารณาทั้งในเรื่องของบุคลากรที่จะดูแลและอ่านผลจากเครื่องเอชพีวี ดีเอ็นเอ ที่ต้องเพิ่มในทุกเขต และมีปริมาณงานที่เพิ่มขึ้น ดังนั้น สปสช.จะประสานการดำเนินงานอย่างใกล้ชิดกับกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) คือ สำนักงานปลัด สธ. กรมการแพทย์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ นอกจากนี้ ยังมีราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย ในการพัฒนาและขยายศักยภาพของทุกหน่วยบริการเพื่อรองรับการตรวจเอชพีวี ดีเอ็นเอ เทสท์ และการจัดระบบบริการรองรับการเข้าถึงบริการรักษาต่อเนื่องหลังจากผลการตรวจคัดกรองเป็นบวก ซึ่งคือ การตรวจปากมดลูกด้วยกล้อง (Colposcopy) เพื่อยืนยันและการรักษามะเร็งตามจำเป็น

ข่าวจาก มติชนออนไลน์

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: