‘สมศักดิ์’ วางไทมไลน์ชดใช้เหยื่อ คดีแพรวา 28 ส.ค.นี้ ทนายลั่นไม่เจรจาแล้ว!





เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 23 ก.ค. ที่กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม พร้อมด้วย นายวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงยุติธรรม ดร.กรศุทธิ์ ขอพ่วงกลาง ผู้อำนวยการศูนย์นิติศาสตร์คณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และผู้แทนจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกันแถลงกรณีการช่วยเหลือผู้เสียหายในคดีของ น.ส.แพรวา เทพหัสดิน ณ อยุธยาหรือ น.ส.รวินภิรมย์​ อรุณวงศ์ หรือ แพรวา ที่ขับรถชนรถตู้เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ เมื่อ 9 ปีก่อน

นายสมศักดิ์ กล่าวว่า กระทรวงยุติธรรมกับศูนย์นิติศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้มีการหารือร่วมกันเพื่อรับทราบแนวทางการดำเนินการเกี่ยวกับคดีอุบัติเหตุฯ ซึ่งพบว่า คดีดังกล่าวมีผู้เสียหายที่เป็นโจทก์ 25 ราย และมีจำเลย 4 ราย ศาลฎีกามีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 8 พ.ค.ที่ผ่านมา และได้มีการส่งคำบังคับให้จำเลยทั้ง 4 ราย รับทราบแล้ว ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ร่วมกันชำระค่าเสียหายให้แก่โจทก์ในแต่ละคดี รวมเป็นเงินประมาณ 21.9 ล้านบาท

และให้จำเลยที่ 4 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 จำนวน 2.8 ล้านบาท รวมค่าเสียหายที่จำเลยที่ 1-4 ต้องร่วมกันชำระ จำนวนประมาณ 25 ล้านบาท ซึ่งจะต้องชำระพร้อมดอกเบี้ย ในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 27 ธ.ค. 2553 ซึ่งเป็นวันเกิดเหตุ เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จ ซึ่งเมื่อคำนวณจนถึงปัจจุบัน (เดือนกรกฎาคม 2562 ) จำเลยทั้ง 4 จะต้องชำระหนี้รวมเป็นเงินประมาณ 41 ล้านบาท

นายสมศักดิ์ กล่าวต่อว่า เนื่องจากคดีดังกล่าวมีจำเลย 4 ราย อยู่ต่างจังหวัด 2 ราย ต้องส่งหมายไปตามภูมิลำเนา จำเลยที่ 4 ปิดหมาย 6 ก.ค. จำเลยที่ 1 และ 3 ปิดหมาย 3 ก.ค. ทั้งนี้ คำบังคับคดีจะครบกำหนด ในวันนี้ 28 ก.ค.นี้ จากนั้นจำเลยมีเวลา 30 วัน จะครบกำหนดจ่ายชดเชย คือ 28 ส.ค.นี้ ตามกำหนดของกฎหมาย หากผ่านพ้นช่วงเวลาดังกล่าว จากนั้นโจทก์จะต้องขอกำหนดตัวเจ้าพนักงานบังคับคดี เพื่อเริ่มต้นการเช้าสู่ขั้นตอนการบังคับคดี

รมว.ยุติธรรม กล่าวอีกว่า ศาลฎีกามีคำสั่งและส่งคำบังคับให้จำเลยทั้งสี่คนตามภูมิลำเนาของจำเลย ซึ่งจำเลยที่ 2 และ 4 มีการปิดหมายคำสั่งเมื่อวันที่ 6 ก.ค. 2562 ส่วนจำเลยที่ 1 และ 3 มีการปิดหมายคำสั่งเมื่อวันที่ 13 ก.ค. 2562 หลังจากปิดหมายแล้วจะนับไปอีก 15 วัน ซึ่งจะครบกำหนดที่หมายบังคับคดีจะมีผลในวันที่ 28 ก.ค. 2562

นายสมศักดิ์ กล่าวว่า โดยจำเลยจะต้องเริ่มดูแลชดใช้เงินเยียวยาให้โจทก์ภายใน 30 วัน หรือภายในวันที่ 28 ส.ค.นี้ หากจำเลยไม่ชดใช้เงินค่าเสียหายให้โจทก์ภายในระยะเวลาดังกล่าว จะเริ่มเข้าสู่ขั้นตอนที่ทนายโจทก์ขอศาลออกหมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดี เพื่อให้มีอำนาจสืบทรัพย์ เมื่อได้ทรัพย์แล้วจะตั้งเรื่องให้กรมบังคับคดียึดทรัพย์เพื่อประกาศขายทอดตลาด ในเบื้องต้นเราจะดำเนินการตามไทม์ไลน์โดยรอให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายภายในวันที่ 28 ส.ค.นี้ก่อน หากไม่เป็นไปตามนั้นก็จะเข้าสู่ขั้นตอนการสืบทรัพย์บังคับคดี

“ตอนนี้ยอดชำระตามกฎหมายอยู่ที่ 41 ล้าน รวมดอกเบี้ย หากล่าช้าออกไปภาระก็จะตกอยู่ที่จำเลย จึงอยากแนะนำให้รีบขายที่ดินให้ได้โดยเร็ว ถ้าจำเลยขายได้เร็ว ก็จะเป็นประโยชน์ ถ้าช้ากว่านี้ภาระดอกเบี้ยจะต้องอยู่ที่จำเลย” นายสมศักดิ์ กล่าว

นายสมศักดิ์ กล่าวว่า สถานะของคดีในปัจจุบันอยู่ระหว่างกระบวนการบังคับคดี ซึ่งโจทก์ได้มอบให้ศูนย์นิติศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นผู้แทนในการดำเนินการ โดยกระทรวงยุติธรรม สามารถให้การสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีในชั้นบังคับคดีผ่านกองทุนยุติธรรมสำหรับเป็นค่าจ้างทนายความ ค่าธรรมเนียมในการบังคับคดี และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินคดี

รมว.ยุติธรรม กล่าวอีกว่า ขณะเดียวกันก็จะมีสำนักงานยุติธรรมจังหวัดช่วยประสานงานอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้เสียหายที่มีภูมิลำเนาในจังหวัดต่าง ๆ ในการยื่นคำขอรับการสนับสนุนจากกองทุนยุติธรรม และช่วยติดตามแจ้งความคืบหน้าการดำเนินการในขั้นตอนต่าง ๆ ให้ผู้เสียหายได้รับทราบอย่างต่อเนื่อง หากจำเลยไม่ชำระหนี้แก่โจทก์ก็จะมีการยื่นขอให้ศาลออกหมายบังคับคดี ซึ่งกรมบังคับคดีจะสามารถดำเนินการยึดทรัพย์ได้ทันที

ด้าน ดร.กรศุทธิ์ กล่าวว่า หลังศาลฎีกามีคำพิพากษายังไม่ได้รับการติดต่อโดยตรงจากทนายจำเลย ซึ่งในส่วนของโจทก์ก็ไม่ต้องการเจรจา แต่ต้องการเข้าสู่ขั้นตอนการบังคับคดีตามกฎหมาย ส่วนเงิน 5 แสนบาทที่ราชตระกูลเทพหัสดินจะบริจาคให้ พวกโจทก์ไม่ต้องการ แต่ถ้าต้องการบริจาคจริงๆ ก็ต้องทำเอกสารระบุให้ชัดเจนว่าบริจาคเพื่ออะไร โดยต้องไม่ใช่การไกล่เกลี่ยหรือการชำระหนี้แทนจำเลย

ดร.กรศุทธิ์ กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ หากคดีเข้าสู่ขั้นตอนการฟ้องล้มละลาย ทีมทนายโจทก์จะตรวจสอบว่าระหว่างการดำเนินคดี 9 ปี ทรัพย์ของพวกจำเลยถูกโอนย้ายไปไว้ที่ไหนบ้าง และจะขอให้เพิกถอนทรัพย์นั้นกลับมาเป็นของจำเลย

ส่วนที่ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค อดีตรมว.ยุติธรรม ได้โพสข้อความในเฟซบุ๊ก ระบุว่า หากฝ่ายจำเลยไม่ชำระหนี้ตามคำสั่งศาลก็สามารถขอให้เพิกถอนการลงอาญา นายวีระศักดิ์ ทัพขวา ทีมทนายความโจทก์ กล่าวว่า ตามกระบวนการคดีอาญาได้จบลงไปแล้ว ศาลพิพากษาให้รอลงอาญา และสั่งให้จำเลยเข้าสู่กระบวนการคุมพระพฤติ โดยบำเพ็ญประโยชน์ ซึ่งจำเลยได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขของศาลจบลงแล้ว จึงไม่สามารถขอให้เพิกถอนการรอลงอาญาได้

ข่าวจาก ข่าวสดออนไลน์

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: