เปิดใจผู้บริจาคโลหิตอันดับ1ของไทย “ชัยกุล สุวรรณศร” จากหนุ่มอาชีวะเกเรสู่ “เทพบุตรเลือด”





ทำความรู้จักตำนานผู้บริจาคโลหิตตลอดชีวิตกว่า 240 ครั้ง “ชัยกุล สุวรรณศร” ยอดคุณลุงวัย 70 ปี อดีตเด็กช่างเกเรที่ชีวิตพลิกผันให้มาช่วยเหลือสังคมด้วยการให้เลือด

โดย…รัชพล ธนศุทธิสกุล

‘การบริจาคเลือด’ นับเป็นสิ่งดีๆ ที่หลายคนนิยมทำกันในปัจจุบัน เพราะเป็นการช่วยเหลือที่ยิ่งใหญ่ในการต่อลมหายใจเพื่อนมนุษย์ด้วยกันที่ไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น เพราะมีแค่ใจและสุขภาพที่ดีก็ก้าวเดินเข้าไปบริจาคได้

อย่างไรก็ตามใช้ว่าจะทำกันง่ายๆ เพราะตามหลักสุขภาพที่โรยราตามอายุ ไหนหน้าที่การงานที่มากขึ้นตามวัยทำให้ร่างกายตกเกณฑ์การบริจาคเลือดที่สามารถบริจาคได้ในวัยไม่ไหวเกิน 50 ปี เป็นส่วนใหญ่

แต่ไม่ใช่กับ “ชัยกุล สุวรรณศร” เขาคนนี้นับเป็นความมหัศจรรย์ ตลอดระยะเวลา 53 ปี บริจาคโลหิตเป็นจำนวนกว่า 247 ครั้ง ไม่เคยขาดตั้งแต่อายุ 17 จนถึง 70 ปี  และนี่คือเรื่องราวของเขาที่กำลังถูกยกย่องจากคนในสังคมว่า ‘เทพบุตรเลือด’  ตำนานของสภากาชาดไทย

“ชัยกุล สุวรรณศร” หรือ “ลุงเล็ก” อายุ 70 ปี เกิดและเติบโตที่ ต.ท่าพี่เลี้ยง จ.สุพรรณบุรี ในวัยเด็กก็ใช้ชีวิตตามประสาวัยรุ่น เรียนควบเล่นและมีบ้างที่ทะเลาะวิวาทเล็กๆ น้อยๆ ที่โรงเรียนกรรณสูตศึกษาลัย แต่ก็ประคับประคองจนเดินตามความฝันเป็นช่างก่อสร้าง หลังจากได้รับการสอนวิชาช่างจากครูจบใหม่นิสิตจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตอุเทนถวาย

“เด็กๆ ก็ไม่รู้ประสาอะไร ไม่รู้จักการบริจาคเลือดด้วย คือเรื่องของเรื่องครูท่านที่จบมาจากอุเทนถวายมาสอนเรื่องงานช่าง สอนไฟฟ้า ท่านสอนเราด้วยความจริงใจ เราชอบท่านและเราก็ชอบอยากจะสร้างบ้านสร้างเมือง พอจบก็หิ้วกระเป๋าเข้ากรุงเทพฯ มาสมัครเลยที่โรงเรียนก่อสร้างอุเทนถวาย พอเข้ามาเรียนเทอมกว่าๆ ตอนที่จะไปเยี่ยมช่างกลกนกที่เพิ่งเปิดใหม่นั้นแหล่ะเป็นจุดเริ่มต้นการบริจาคโลหิต”

ลุงชัยกุลขยายอธิบายคำว่าการ “การไปเยี่ยม” ภาษาวัยรุ่นสมัยนั้นก็คือการไปตีกับเขา ซึ่งโรงเรียนกนกอาชีวะศึกษา ตั้งอยู่ที่ ถนนจันทน์ ด้านหน้าของทางมาโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย โดยจังหวะที่พรรคพวกนัดรวมกันไปก็พากันเดินผ่านทะลุโรงพยาบาลก็ได้พบเข้ากับศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย

“ใครจะใหญ่กว่าเราไม่ได้ ความคิดของเราและเพื่อนในสมัยนั้น แต่ระหว่างที่เดินผ่านป้ายอาคารบริจาคเลือด ผมก็เอ๊ะขึ้นมาเลยไปตีกันเนียพวกเพื่อนมันหรือไม่ก็เราต้องเสียเลือดแน่ และก็ต้องเข้าโรงพยาบาลใกล้ๆ ก็เอาวะแวะบริจาคเลือดก่อน”

ขณะที่ผองเพื่อนเดินตามขบวนกันไปก็ปลีกตัวออกจากกลุ่มวิ่งแอบขึ้นไปด้อมมอง ซึ่งหลังจากเห็นป้ายรูปโลหิตแล้วก็มีคนนอนอยู่ที่เขาเขียนว่า “โลหิตช่วยชีวิตเพื่อนมนุษย์” ก็ทำให้ฉุกคิดถึงเรื่องการเสียเลือดว่า “ฉะนั้นถ้าจะเสียเลือดทั้งทีให้สังคมดีกว่า เพราะไปตีกันเสียแน่เลือด แต่ให้สังคมมันน่าจะดีกว่า”

ทั้งนี้แม้ว่าการบริจาคเลือดในครั้งแรกในวันนั้นจะไม่ได้มีเพื่อนคนใดได้ใช้งานในศึกเยี่ยมโรงเรียนกนกอาชีวะศึกษา แต่เลือดของเขาก็ถูกหยิบไปใช้ช่วยชีวิตต่อลมหายใจคนอื่นๆ ที่แม้ไม่ได้รับคำขอบคุณแต่ตัวเองรับรู้การเป็นผู้ให้ ดวงใจน้อยๆ ก็พองโตมีความสุข

“มันมีความสุขบอกความรู้สึกไม่ถูกเหมือนกันพอให้เลือดเสร็จ ตอนเจอเพื่อนวันจันทร์ไปโรงเรียนเพื่อนด่าแหลกเลยหาว่าเราชิงหนี แต่เรากลับไม่โกรธ ยังรู้สึกดีใจที่ได้บริจาค แต่พอเพื่อนมันตามไปตีเราก็ไปกับมันเหมือนเดิม แต่ถ้าวันไหนเป็นวันที่ครบรอบ 3 เดือนที่เจ้าหน้าที่บอกหลักในการให้เลือด ก็จะงดทุกอย่างทำตัวให้ว่างและมาทุกบริจาค” ลุงชัยกุล ย้อนเรื่องราวในวัยอายุ 17 ปี ในปี พ.ศ. 2509 ขณะเป็นนักศึกษาชั้นปีที่1 โดยไม่รู้ว่าต่อมาการบริจาคโลหิตครั้งแรกจะกลายเป็นกิจวัตรประจำของชีวิต

ลุงชัยกุล บอกว่าด้วยนิสัยเป็นคนมีระเบียบทำให้ตัวเขานั้นไม่เคยขาดการบริจาคเลือดเลยสักครั้งเดียวตลอดระยะเวลา 53 ปี

“ผมบริจาคเลือดได้เพียวๆ อย่างเดียว เพราะตอนที่มีบริจาคเกล็ดเลือด บริจาคพลาสมา มันเลยอายุที่เขาต้องการแล้วอายุเรา” ลุงชัยกุลเปิดเผย ก่อนจะเล่าต่อ “ถ้าถามว่าทำไมถึงทำได้คือนอกจากทำแล้วมันเป็นความสุข ก็เพราะว่านิสัยระเบียบของเราพอทำอะไรแล้วเราก็จะทำตามตารางหรือตามเป้าหมาย”

ความมีระเบียบที่ลุงชัยกุลว่า ได้มาจากการอาศัยอยู่กับวัดต้องมีหน้าที่ถูกุฏิและศาลา โดยการจัดเวรพลัดเปลี่ยนกัน ส่วนในทุกๆ เช้าต้องออกถือปิ่นโตบิณฑบาตตามหลวงพ่อ สิ่งต่างๆ เหล่านี้เหมือนเป็นการฝึกกลายๆ ให้มีวินัยเคร่งครัดในทุกอย่างที่ทำ

“ถึงเวลาต้องเรียน ถึงเวลาทำงานหน้าที่ในวัดก็ทำ ถึงวันและเดือนที่ต้องบริจาคเลือดโลหิตผมจะมีปฏิทินในไดอารี่ที่เขียนทุกวันไว้เลยว่ากำหนดวันที่เท่าไหร่ตรงกับวันไหนและก็ไปบริจาค”

นอกจากความมุ่งมั่นตั้งใจในการบริจาคโลหิต ลุงชัยกุลยังดูแลสุขภาพด้วยการวิ่งออกกำลังกายและกินอาหารที่มีประโยชน์เพื่อให้สามารถบริจาคโลหิตได้ตามข้อกำหนดระบุ 

“เราเป็นนักวิ่งของโรงเรียนลงแข่งกีฬานักเรียนแห่งชาติอยู่แล้วด้วย แต่ก็ไม่เคยชนะได้แต่เหรียญเงิน ต้องวิ่งทุกๆ เช้าก่อนมาบิณฑบาต และตอนเย็นก็วิ่งที่สนามศุภชลาศัยทุกเย็น วันไหนไม่วิ่งที่สนานก็วิ่งตีเขาบ้าง วิ่งหนีเขาบ้างที่ถนน จบมาทำงานวิ่งก็อาจจะลดลงแต่เราก็เอ็กเซอร์ไซส์อยู่กับที่ ยกเวท แต่เรากินอาหารที่พอดีไม่เหลือเป็นของเสียในร่างกาย เรากินเพื่ออยู่เท่านั้น กินอาหารก็ทั่วไปที่มีผัก มีไข่ เนื้อสัตว์ และไอ้การบริจาคเลือดก็เป็นส่วนที่ 3 สุดท้ายที่ทำให้เราแข็งแรงไม่มีโรคอะไรเลย เจ็บป่วยง่ายไม่สบายแป๊บเดียวก็หาย”

ยอดตัวเลขของการบริจาคโลหิตของลุงชัยกุลนับได้ทั้งสิ้นจำนวน 247 ครั้งด้วยกัน ซึ่งในวัยอายุหลัก 70 ปี ถือว่ามีน้อยมากที่ใครจะดูแลร่างกายให้อยู่ในเกณฑ์การบริจาคได้ ซึ่งจน ณ ตอนนี้ทางกลุ่มผู้บริจาคเลือดยกย่องเป็น ‘เทพบุตรเลือด’ ตำนานของสภากาชาดไทย

“ทั้งๆ ที่ช่วงอายุ 20 ปีต้นๆ เราก็กินเหล้า สูบบุหรี่ เพิ่งเลิกเมื่อตอนอายุ 30 ปี กว่าๆ เพราะกลัวไม่มีเงินซื้อนมให้ลูก หมอเขายังบอกว่าเป็นเรื่องประหลาด เราทำได้ สุขภาพดีไม่มีโรค เราไปถามในประวัติการบริจาคก็ไม่มีใคร ไม่เคยเห็นว่าใครที่บริจาคได้ถึง 53 ปี กับอายุ70 ปี”

 

“มันมีเรื่องของมิตรภาพอีกด้วยนะ” ลุงชัยกุล เปิดเผยถึงความรู้สึกที่เป็นส่วนหนึ่งของการบริจาคเลือดมาตลอดจนครบเกณฑ์อายุ 70 ปี

“มีเพื่อนๆ มีคนรู้จักกันที่นี้ พูดง่ายๆ เหมือนเรานัดเพื่อนไปเที่ยว แต่เพื่อนจะไม่ใช่เพื่อนเก่าอย่างเดียว จะมีเพื่อนใหม่เพิ่มตลอดก็คุยกันทักทายกันช่วงทานของว่างหลังบริจาค”

 

หรืออย่างล่าสุดครั้งสุดท้ายของการไปบริจาคในวันที่  22 ก.ค.2562 ได้มีการจัดเซอร์ไพรส์อวยพรจากเจ้าหน้าที่พยาบาลศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย

 

 

“มันก็เป็นความสุขที่อีกส่วนหนึ่งให้มาถึงวันนี้ ยังยิ้มจนถึงวันนี้ที่ผมบอกตอนจะเข้าไปบริจาคกับน้องๆ พยาบาลว่าคงไม่ได้เจอหน้าพวกหนูแล้วนะเพราะอายุครบแล้ว จู่ๆ เขาก็มาเซอร์ไพรส์วันเกิดอวยพรให้ผมตอนกินโอวัลติน”

 

 

ปัจจุบันคุณลุงชัยกุล สุวรรณศร ประกอบอาชีพขับรถแท็กซี่แก้เหงา หลังจากเกษียณอายุราชการในระดับผู้ชำนาญการก่อสร้างของกทม.เมื่อ 10 ปีที่ผ่านมา

“หลายๆ คนก็ถามผมว่าทำแล้วไม่ดัง ทำไมถึงทำ คือต่อให้ไม่มีคนรู้จักอย่างในวันนี้ แต่เราทำเพราะตัวเราเห็นด้วยตัวเอง เราทำดีได้เท่าไหร่ เราก็เห็นของเราเอง อย่างแรกเลยทีเห็นคือความสุขใจ และพอใจสุขอะไรๆ มันก็สุขไปหมด ง่ายๆ แค่นั้น ใครไม่รู้เรารู้” คุณลุงชัยกุล บอกถึงคติประจำใจทิ้งท้ายพร้อมกับรอยยิ้มหลังจากเด็กคนรุ่นใหม่สนใจการบริจาคโลหิตเพื่อช่วยเหลือเพื่อนๆ มนุษย์คนไทยด้วยกันในสังคมอย่างวันนี้ที่จะเป็นผู้สานต่อ

ข้อมูลจาก : คนกรุ๊ปเลือดหายาก, posttoday

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: