เปิดประวัติ “ทิม พิธา” ส.ส.อนาคตใหม่ ผู้สะท้อนปัญหาเกษตรกรไทยผ่านแนวคิด “กระดุม5เม็ด”





แม้การประชุมสภาครั้งแรกภายใต้การนำของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะจบลงไปแล้ว แต่สิ่งที่หลายคนจดจำ และพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าตั้งแต่มีการประชุมที่เริ่มเมื่อวันที่ 25-26 ก.ค. 62 ที่ผ่านมา 

ปรากฏว่าการอภิปรายของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ อันดับที่ 4 ที่ลุกขึ้นอภิปรายนโยบายทางการเกษตรของรัฐบาล โดยเฉพาะเรื่องปัญหากระดุม 5 เม็ด ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีจากประชาชน และผู้ฟังเป็นจำนวนมาก

ขณะเดียวกัน พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ถึงกับเอ่ยปากชมนายพิธา ที่อภิปรายหลายเรื่องเป็นความคิดที่สร้างสรรค์ ทั้งในเรื่องกลุ่มชาติพันธุ์ คนชายขอบ เรื่องที่ดินทำกิน ซึ่งพูดได้เข้าประเด็นทั้งหมด และทำการบ้านมาดี พร้อมขอบคุณคำแนะนำอีกด้วย

หลายคนอาจจะคุ้นหูชื่อของ “ทิม พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” อดีตสามีของ “ต่าย ชุติมา ทีปะนาถ” ดาราสาวจากภาพยนต์เรื่อง Seasons Change เพราะอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย และภาพยนตร์เรื่องหนีตามกาลิเลโอ แม้ทั้งคู่จะหย่ากัน และมีเรื่องราวปรากฏในสื่อเรื่องการขอดูแลบุตรสาวเพียงคนเดียวก่อนหน้านี้ แต่ทุกอย่างก็จบลงด้วยดี ต่างคนก็ต่างทำหน้าที่พ่อและแม่ของลูก

สำหรับประวัติของ “ทิม พิธา” นั้น เขาเกิดเมื่อวันที่ 5 ก.ย.2524 ปัจจุบันอายุ 38 ปี พิธา เป็นบุตรชายคนโตของนายพงษ์ศักดิ์ ลิ้มเจริญรัตน์ อดีตที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งเสียชีวิตแล้ว และนางลิลฎา ลิ้มเจริญรัตน์ ส่วนน้องชายคือ เทียน นายภาษิณ ลิ้มเจริญรัตน์

นอกจากนี้ พิธา ยังมีศักดิ์เป็นหลานของผดุง ลิ้มเจริญรัตน์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และคนใกล้ชิดอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร

พิธา เรียนจบชั้นมัธยมศึกษาที่ประเทศนิวซีแลนด์ ปริญญาตรี คณะบริหารธุรกิจ การเงิน การธนาคาร ภาคภาษาอังกฤษ เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปริญญาโทใบแรก การเมืองการปกครอง สาขาการบริหารภาครัฐ ที่ John F. Kennedy School of Government มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และปริญญาโทใบที่สอง การบริหารธุกิจที่ Skoan, Massachusetts Institute of Technology (MIT) สหรัฐอเมริกา

พิธา เคยได้รับการจัดอันดับจากนิตยสาร CLEO ติด 1 ใน 50 หนุ่มหล่อในปี 2008 อีกด้วย

พิธา เคยให้สัมภาษณ์กับไทยรัฐ เรื่องการบริหารบริษัท ซีอีโอ อกริฟู้ด จำกัด ซึ่งเป็นธุรกิจของครอบครัว สามารถพลิกฟื้น บริษัทที่ติดลบและเป็นหนี้มหาศาล ให้กลายเป็นผู้ผลิตน้ำมันดิบจากรำข้าวรายใหญ่ของประเทศไทย และเป็นผู้ส่งออกน้ำมันรำข้าวรายใหญ่ของโลก ในเวลาเพียง 5 เดือน

ภายหลังจากคุณพ่อเสียชีวิตไป เขาก็เข้ามารับช่วงการบริหารธุรกิจต่อ เพราะบ่าข้างหนึ่งต้องรับผิดชอบครอบครัวในฐานะลูกคนโต ต้องดูแลครอบครัวและธุรกิจของที่บ้าน ที่เราไปกู้มาเป็นร้อยล้าน บ่าอีกข้างผมต้องรับภาระดูแลพนักงานของเราซึ่งมี 50-60 คน ไม่รวมครอบครัวของเขาอีก

อย่างแรกต้องมีสติ แล้วค่อยๆ คลายปมปัญหาของบริษัทออกทีละปม เริ่มแรกปัญหาเกิดจากเครื่องจักรไม่เดิน เครื่องจักรไม่พร้อมที่จะทำงาน อุณหภูมิร้อนเกินไปไม่ได้ เราเสียเงินวันละ 2 ล้าน จนเราเหลือเงินก้อนสุดท้าย 2 ล้านแล้ว พอดีเครื่องจักรก็ทำงาน ทำให้เราได้เห็นน้ำมันสีเขียว กลายเป็นน้ำมันสีทองในที่สุด พอเครื่องผลิตได้แล้ว ก็ต้องไปหาลูกค้า

ตอนนั้นบริษัทเรากู้เงินมา 100 ล้านบาทเพื่อการลงทุนระยะยาว เรายังไม่มีทุนหมุนเวียน ผมต้องไปกู้แบงก์ต่อเพิ่มอีก 70 ล้านบาท เพื่อซื้อรำข้าวจากโรงสี ซึ่งต้องใช้เงินสด เดินเข้าไปกู้แบงก์ ผมรู้อยู่แล้วว่า อย่างไรเขาต้องมองว่าเราเป็นเด็ก จึงต้องหาจุดแข็งของเด็กรุ่นใหม่ แต่โลกทุกวันนี้เป็นโลกของข้อมูล

ทั้งนี้ ผมต้องแสดงให้เขารู้ว่า ผมรู้ข้อมูลและตัวเลขไม่แพ้ใคร พอไปถึงก็สามารถพูดให้เขาฟังอย่างละเอียดได้ ซึ่งผู้ใหญ่ที่เขามีประสบการณ์ เขาเห็นความตั้งใจของเรา เขาเลยเชื่อถือ ได้เงินมาทำการผลิตให้ครบวงจร ผลิตแล้วขาย จนธุรกิจไปได้ด้วยตัวเอง ที่เหลือผมจึงมาบริหารคน เพื่อที่จะให้คนมาบริหารงานต่อไป

“ใช้เวลาเพียง 5 เดือนก็สามารถฟื้นฟูธุรกิจ จากนั้นเราก็ทำกำไร ช่วงแรกกำไรไม่เท่าไร ไม่กี่ล้าน ยอดขายเพิ่มขึ้นมาร้อยล้าน และพันล้าน ตอนนี้เราส่งออกปีละเป็นพันล้านบาทแล้ว เราซื้อรำข้าวเพื่อผลิตวันละ 400 ตัน”

พิธา กล่าวว่า เราขายข้าวเป็นหมื่นล้านตัน เราทำมากแต่ได้น้อย ในขณะที่ต่างชาติเขาทำน้อย แต่ได้มาก เขาสร้างมูลค่าเพิ่ม สร้างภาพลักษณ์ สร้างความแตกต่าง จึงทำให้เขาทำน้อยได้มาก ในขณะที่ชาวนาบ้านเรา ซึ่งมี 48% ต้องมานั่งรอนโยบายจากรัฐว่า จะประกันราคาข้าวเท่าไร ดูเพื่อนบ้านอย่าง เวียดนาม หรืออินเดีย ว่าราคาเท่าไร เราเป็นคนรับราคาตลาดโลก ผมอยากให้เราเป็นคนตั้งราคาตลาดโลกบ้าง

จากประสบการณ์ที่ผมเรียนมา จะเป็นผู้นำของโลกใบนี้ได้ ต้องเป็นสินค้าไฮเทค หรือไฮทัช การจะเป็นไฮทัช ก็ต้องสร้างมูลค่าของสินค้า อย่างประเทศมาเลเซีย เขาเป็นเจ้าแห่งน้ำมันปาล์ม จนสามารถกำหนดราคาน้ำมันปาล์มในตลาดโลกได้ สหรัฐอเมริกา เขาเป็นเจ้าน้ำมันข้าวโพด น้ำมันถั่วเหลือง เพราะเกษตรกรของเขาปลูกข้าวโพดได้มาก

ทั้งนี้ รัฐบาลเขาจึงพยายามส่งเสริม หรือแม้แต่อิตาลี ก็พยายามสร้างมูลค่าเพิ่มให้น้ำมันมะกอก จนน้ำมันมะกอกกลายเป็นสินค้าไฮเอนด์ แล้วทำไมประเทศไทยซึ่งปลูกข้าวได้มาก จะเป็นเจ้าแห่งน้ำมันรำข้าวไม่ได้ ทั้งที่น้ำมันรำข้าวมีประโยชน์มากมายไม่แพ้น้ำมันมะกอก ในอนาคตหากเราจะแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมเกษตรและสังคมเมือง เราต้องสร้างรายได้ให้เกษตรกรบ้านเราให้มีรายได้มากขึ้น เราต้องควบคุมอุปทานและสร้างอุปสงค์นั่นเอง

ข่าวจาก : ไทยรัฐออนไลน์, พรรคอนาคตใหม่ – Future Forward Party

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: