“ศักดิ์สยาม” ไอเดียกระฉูด นอกจากเพิ่มความเร็วรถเป็น 120 กม./ชม.แล้ว เตรียมเสนอแก้กฎกระทรวง เอาผิดคนขับรถช้ากว่า 80 กม./ชม.วิ่งเลนขวา ต้นตอทำให้รถออกจากถนนช้า ทำให้รถติด ส่วนเรื่องลดค่าโดยสารรถไฟฟ้า สั่งปลัดคมนาคมเร่งหาข้อสรุปค่าโดยสารเหลือ 15 บาทภายใน 3 เดือน หวังลดปัญหาค่าครองชีพประชาชน พร้อมแสดงความกังวลความไม่ปลอดภัยรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงลอดแม่น้ำเจ้าพระยา 750 เมตร เร่งหามาตรการป้องกันเป็นรูปธรรมหากเกิดเหตุฉุกเฉิน
ที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เมื่อเวลา 16.30 น. วันที่ 31 ก.ค. นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม กล่าวถึงนโยบายปรับเพิ่มความเร็วรถเป็น 120 กม./ชม. บนถนน 4 ช่องทางเพื่อแก้ปัญหารถติดว่า ขณะนี้มีแนวคิดเพิ่มเติมเพื่อแก้ปัญหารถติด จะเสนอให้ลงโทษผู้ขับขี่ในช่องทางขวาสุด แต่ขับรถด้วยความเร็วต่ำกว่า 80 กม./ชม. อาจจะถูกจับและปรับตามกฎหมาย เนื่องจากปัจจุบันพบว่ามีรถจำนวนมากขับช้าแต่ใช้ช่องทางขวาทำให้เกิดปัญหารถติดเป็นอย่างมาก เบื้องต้นต้องแก้ไขกฎกระทรวงเพื่อปรับกำหนดอัตราความเร็วในช่องทางขวา อาจให้ใช้ความเร็วระหว่าง 80-120 กม./ชม.เท่านั้น แต่ต้องไปหารือกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ด้วย ส่วนการปรับเพิ่มความเร็วรถเป็น 120 กม./ชม. ขอชี้แจงว่าจะบังคับใช้เฉพาะรถยนต์ส่วนบุคคลเท่านั้น ส่วนรถโดยสารสาธารณะทั่วไปต้องปฏิบัติตามระเบียบของรถแต่ละชนิดตามเดิม ขณะนี้สั่งการเพิ่มให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องคือ กรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบทไปเตรียมจัดทำแถบชะลอความเร็วบนพื้นถนน เพื่อเตือนผู้ขับขี่ให้ลดความเร็วช่วงโค้ง หรือทางแยกด้วยเพื่อป้องกันอุบัติเหตุ
“ส่วนความคืบหน้าการปรับลดค่าโดยสารรถไฟฟ้าเหลือ 15 บาท ยืนยันว่าก่อนหน้านี้ผมไม่ได้บอกชัดว่า จะลดราคาเหลือ 15 บาท แต่ขณะนี้มีนโยบายชัดเจนแล้ว ให้นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม ไปศึกษาความเป็นไปได้ ให้ได้ข้อสรุปภายใน 3 เดือน (ส.ค.-ต.ค.) จะปรับลดค่าโดยสารรถไฟฟ้าลงเหลือ 15 บาทต่อสายต่อเที่ยวต่อคน แต่ไม่ใช่ตลอดเส้นทาง เบื้องต้นคาดว่าเส้นทางที่สามารถทำได้ก่อน คือเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีม่วงและแอร์พอร์ตลิงก์ เป็นต้น ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าวต้องไม่กระทบต่อภาระงบประมาณภาครัฐบาล ส่วนกรณีที่มีกระแสข่าวว่า อาจใช้วิธีการเจรจากับเอกชนเจ้าของสัมปทานรถไฟฟ้า ขอให้ปรับลดราคาแลกกับผลประโยชน์จากรัฐ อาทิ การขยายระยะเวลาสัมปทาน ขณะนี้ยังไม่อยากพูดแต่คิดวิธีไว้แล้ว ต้องรอผลการศึกษาและมาตรการที่แต่ละหน่วยงานเสนอมาก่อน ภายใน 3 เดือนได้ข้อสรุปแน่” รมว.คมนาคมกล่าว
นายศักดิ์สยามกล่าวด้วยว่า จากที่ตนและนายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รมช.คมนาคม และนายถาวร เสนเนียม รมช.คมนาคม พร้อมผู้บริหารหน่วยงานสังกัดกระทรวงคมนาคมเปิดการทดลองการให้บริการรถไฟฟ้าใต้ดินสายสีน้ำเงิน ส่วนต่อขยาย 5 สถานี จากสถานีวัดมังกร-สถานีสามยอด-สถานีสนามไชย-สถานีอิสรภาพ-สถานีท่าพระ เมื่อวันจันทร์ที่ 29 ก.ค. มีบางช่วงจากสถานีสนามไชยถึงสถานีอิสรภาพเป็นช่วงที่ต้องลอดอุโมงค์ใต้แม่น้ำเจ้าพระยา ตนเกิดความรู้สึกกังวลว่าการลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยาระยะทาง 750 เมตร เมื่อข้ามฝั่งแล้วถึงจะมีทางขึ้นบันไดลึกกว่า 30 เมตร เพื่อขึ้นพื้นราบ รู้สึกว่าไกลเกินไป หากมีเหตุฉุกเฉินเกิดขึ้น ทางรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) บริษัท ทางด่วน และรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีอีเอ็ม ควรมีมาตรการหรือช่องทางขนถ่ายผู้โดยสารออกจากอุโมงค์ให้ชัดเจน หรือมีแนวทางมากกว่าการเดินทางลอดอุโมงค์
“ได้ข้อมูลมาว่า 1 ขบวนรถไฟฟ้ามี 3 โบกี้ บรรทุกคนได้ 1,000 คน เพิ่มได้มากสุดเป็น 2 โบกี้ หรือบรรทุกได้ 2,000 คน ผมกังวลเรื่องความปลอดภัย หากเกิดเหตุคาดไม่ถึง จะทำให้ไม่เกิดอันตรายกับผู้โดยสารได้อย่างไร เพราะสิ่งที่ผมเห็นมาเราไม่ค่อยมั่นใจ เพราะทางหนีภัยในอุโมงค์ลอดใต้น้ำมีน้อยและอยู่ไกล ระยะ 750 เมตร จะมี ปล่องที่มีบันไดหนีภัย 1 จุด บันไดก็สูงต้องไต่เป็นระยะทางไกลถึง 30 เมตร และยังไม่รู้ว่าจะเข้าปล่องหนีภัยได้ทีละกี่คน ต้องฝึกซ้อมก่อนใช้บริการจริงด้วย เพื่อสร้างความมั่นใจให้พี่น้องประชาชน หากเกิดเหตุต้องไม่มีใครได้รับอันตราย เอ็มอาร์ทีต้องหามาตรการที่ทำให้ผู้โดยสารมั่นใจ เช่น หากอพยพขึ้นมาอยู่บนน้ำแล้วจะช่วยเหลือด้วยวิธีไหนต่อ นอกจากนี้ยังกำชับให้ทุกหน่วยงานกวดขันกล้องวงจรปิด หรือซีซีทีวีให้สามารถใช้งานได้จริงตลอดเวลา รวมทั้งเพิ่มระยะเวลาการบันทึกและเก็บข้อมูลให้มากขึ้นเป็นอย่างต่ำ 3-6 เดือน ไม่ใช่บันทึกได้แค่ 7 วัน เพราะต้องการให้ออกมาตรการเชิงป้องกันไม่ใช่การแก้ปัญหา” รมว.คมนาคมกล่าว
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ