สปสช.เผย เกือบ4ปี คนไทยตายจากยาฆ่าแมลง2,193ราย เบิกจ่ายค่ารักษาปีละ20ล้าน





สปสช.เปิดข้อมูลผู้ป่วยบัตรทอง เผย 4 ปี ตายจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืช 2,193 ราย เบิกจ่ายค่ารักษาเฉลี่ยปีละมากกว่า 20 ล้านบาท ขณะที่ปี 62 เข้ารักษา 3,067 ราย ตาย 407 ราย เบิกจ่ายกว่า 14.64 ล้านบาท จี้ต้องหาแนวทางป้องกันแก้ปัญหาเพื่อลดความสูญเสีย

ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ในช่วง 10 เดือนของปีงบประมาณ 2562 คือ ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2561 – 17 ก.ค. 2562 มีรายงานผู้ป่วยเข้ารับบริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ในโรงพยาบาลต่างๆ ทั่วประเทศ จากการได้รับสารเคมีกำจัดศัตรูพืช จำนวน 3,067 ราย เสียชีวิต 407 ราย เบิกจ่ายค่ารักษากว่า 14.64 ล้านบาท โดยแยกผู้ป่วยตามประเภทของสารเคมี ดังนี้ 1.ยาฆ่าแมลงกลุ่มออร์แกโนฟอสเฟตและคาร์บาเมต จำนวน 705 ราย เสียชีวิต 58 ราย เบิกจ่ายค่ารักษา 4.27 ล้านบาท 2.ยาฆ่าหญ้าและยาฆ่าเชื้อรา จำนวน 1,337 ราย เสียชีวิต 336 ราย เบิกจ่ายค่ารักษา 6.79 ล้านบาท และ 3.สารเคมีทางการเกษตรประเภทอื่นๆ จำนวน 1,025 ราย เสียชีวิต 13 ราย เบิกจ่ายค่ารักษา 3.57 ล้านบาท โดยเขตเชียงใหม่มีผู้ป่วยเข้ารับบริการมากที่สุด จำนวน 506 ราย รองลงมา เขตราชบุรี จำนวน 390 ราย เขตนครสวรรค์ จำนวน 340 ราย และนครราชสีมา จำนวน 338 ราย

ทพ.อรรถพร กล่าวว่า เมื่อพิจารณาข้อมูลผู้ป่วยในระบบบัตรทองแต่ละปีย้อนหลังจะเห็นได้ว่า มีประชาชนจำนวนมากที่เข้ารับการรักษาจากการได้รับสารเคมีกำจัดศัตรูพืช โดยปี 2559 มีผู้ป่วยจำนวน 4,876 ราย เสียชีวิต 606 ราย เบิกจ่ายค่ารักษา 22.19 ล้านบาท ปี 2560 มีผู้ป่วย 4,916 ราย เสียชีวิต 579 ราย เบิกจ่ายค่ารักษา 21.85 ล้านบาท และในปี 2561 มีผู้ป่วย 4,736 ราย เสียชีวิต 601 ราย เบิกจ่ายค่ารักษา 21.78 ล้านบาท หากรวมจำนวนผู้เสียชีวิตจากการรับสารเคมีกำจัดศัตรูพืชในช่วง 4 ปี ตั้งแต่ปี 2559-2562 มีจำนวนถึง 2,193 ราย รวมงบประมาณค่ารักษาพยาบาลกว่า 20 ล้านบาทต่อปี ไม่รวมผู้ป่วยในสิทธิรักษาพยาบาลอื่นๆ สะท้อนให้เห็นผลกระทบของการใช้สารเคมีปราบศัตรูพืชที่เกิดขึ้น โดยถือเป็นข้อมูลเชิงประจักษ์

“นอกจากนี้ ยังมีความสูญเสียจากการเสียโอกาสการทำงานของเกษตรกรที่ต้องเข้ารับการรักษาตัว ซึ่งส่วนใหญ่ล้วนเป็นกำลังหลักของครอบครัว และผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนในอนาคต ทั้งนี้ สปสช.มีนโยบายสำคัญในการสร้างนำซ่อม ขอสนับสนุนภาคีเครือข่ายและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการเดินหน้ามาตรการต่างๆ เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาจากพิษสารเคมีอย่างจริงจัง เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบระยะยาวต่อสุขภาพของประชาชน อันมีผลต่อสุขภาวะคนไทยที่ยั่งยืน” รองเลขาธิการ สปสช. กล่าว

ข่าวจาก : ผู้จัดการออนไลน์

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: