ราชภัฏวิกฤต!! นศ.ลดฮวบ รายได้ลด ต้นทุนเพิ่ม จ่อยุบควบรวม





ราชภัฏทั่วประเทศป่วน รายได้หด-ต้นทุนเพิ่ม ทยอยปิดหลักสูตรภาคค่ำ-ภาคพิเศษวันหยุด ต้องสู้กับมหาวิทยาลัยดัง ชี้บางแห่งมี นศ.ใหม่ไม่ถึง 500 คน อาจต้องควบรวม-ปิดตัว ซ้ำขอขึ้นค่าเทอมก็ไม่ได้ งบประมาณจัดสรรก็ไม่พอจ่ายเงินเดือนพนักงานถึง 20 แห่ง

แหล่งข่าวจากผู้บริหารมหาวิทยาลัยราชภัฏ เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้มหาวิทยาลัยราชภัฏต่างได้รับผลกระทบจากจำนวนนักศึกษาที่ลดลงต่อเนื่อง ส่งผลให้รายได้สวนทางกับรายจ่ายที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับการแข่งขันที่สูงขึ้นจากกรณีที่ สถาบันอุดมศึกษา ตัดสินใจออกนอกระบบ มีการขยายวิทยาเขตของมหาวิทยาลัยดังออกไปสู่ภูมิภาค ส่งผลให้นักศึกษาในพื้นที่หันไปเลือกเรียนในวิทยาเขตของมหาวิทยาลัยชั้นนำแทน

จากปัญหาข้างต้นผู้บริหารได้ประเมินถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับมหาวิทยาลัยราชภัฏที่จะต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอดใน 5 ประเด็นคือ 1) การจัดพื้นที่รับผิดชอบรับนักศึกษา (zoning) ในบางพื้นที่ที่อยู่ใกล้เคียงกัน

2) การปรับปรุงหลักสูตรที่เป็น “จุดแข็ง” เช่น คุรุศาสตร์และศึกษาศาสตร์ ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด

3) ต้องทยอยปิดหลักสูตรที่เป็นเฉพาะศาสตร์ล้วน ๆ ที่ไม่มีผู้สมัครเรียน อย่างเช่น หลักสูตรวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ รวมถึงการปิดหลักสูตรภาคค่ำ ยกตัวอย่างเช่น ราชภัฏมหาสารคาม รวมถึงปิดการสอนในวันเสาร์-อาทิตย์

4) การ “ควบรวม” มหาวิทยาลัยราชภัฏในบางพื้นที่เข้าด้วยกัน รวมถึงหากพบว่ามีข้อจำกัดในการปรับตัวโดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมีจำนวนนักศึกษา “แรกรับ” ไม่ถึง 500 คน มหาวิทยาลัยราชภัฏแห่งนั้นจะมีความเสี่ยงสูงที่อาจต้องปิดตัวลงในอนาคต

อย่างไรก็ตาม สัญญาณของวิกฤตการศึกษาในครั้งนี้มีบางมหาวิทยาลัยราชภัฏได้นำเสนอปัญหาต่อสภามหาวิทยาลัย เพื่อขอปรับขึ้น “ค่าเทอม” ในระดับที่จะส่งผลกระทบต่อนักศึกษาให้น้อยที่สุด แต่สุดท้ายก็จะถูกสั่งให้ “ตรึงค่าเทอม” เอาไว้ เนื่องจากเป็นสถาบันการศึกษาที่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ ซึ่งเมื่อสำรวจอัตราค่าเทอมของมหาวิทยาลัยราชภัฏหลายแห่งพบว่า อัตราค่าเทอมอยู่ในระดับใกล้เคียงกับวิทยาลัยอาชีวะ หรืออยู่ที่ประมาณ 6,500 บาท/เทอม และอาจจะถูกกว่าด้วยซ้ำเมื่อเปรียบเทียบกับบางหลักสูตร ซึ่งอัตราค่าเทอมดังกล่าวไม่ได้สะท้อนต้นทุนการบริหารงานที่แท้จริง

“ต้องยอมรับว่า ภารกิจของแต่ละมหาวิทยาลัยมีความแตกต่างกัน อย่างราชภัฏมีหน้าที่ผลิตครูเป็นหลัก ก็ต้องเน้นหลักสูตรด้านนี้ แต่จะเห็นว่าตลาดการศึกษามีการแข่งขันที่สูงขึ้น ทำให้หลายราชภัฏต่างทยอยเปิดหลักสูตรเหมือนกับมหาวิทยาลัยแห่งอื่น ๆ เพราะหวังว่าจะดึงนักศึกษาเข้ามาเรียนเพิ่มได้ แต่คู่แข่งในตลาดที่เขาดำเนินการมาก่อนก็ได้รับความนิยมแบบติดลมบนไปแล้ว ดังนั้นหากราชภัฏจะสู้ในสิ่งที่ตัวเองไม่ถนัดก็ย่อมแพ้แน่นอน” แหล่งข่าวกล่าว

ด้าน ผศ.ดร.วิเชียร์ อินทรสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ได้สะท้อนปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นใน 2 ประเด็นคือ 1) การนำระบบ TCAS เข้ามาใช้ทำให้นักศึกษามีทางเลือกมากขึ้น และ 2) การขยายวิทยาเขตของมหาวิทยาลัยดัง ๆ เข้ามาเป็น “คู่แข่ง” ในพื้นที่เดียวกันหรือใกล้เคียงกัน ส่งผลให้ราชภัฏบางแห่งมีจำนวนนักเรียนลดลงสูงถึง 70% ทั้งนี้สำหรับคณะที่ยังได้รับความนิยมก็คือ คณะครุศาสตร์กับคณะศึกษาศาสตร์ ที่ในแต่ละปีต้องการนักศึกษาประมาณ 1,000 คน แต่มีผู้สมัครถึง 3,000 คน ส่วนสาขาที่ต้องปรับหลักสูตรให้ทันสมัยก็คือ คณะวิทยาศาสตร์, เทคโนโลยี, การเกษตร และดนตรี โดยเฉพาะในคณะวิทยาศาสตร์ที่กำลังเป็นที่ต้องการของตลาด

ยกตัวอย่าง การลดลงของนักศึกษาในราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยาในคณะเศรษฐศาสตร์ เปิดรับนักศึกษา 50 คนมาสมัครเรียน 8 คน, สาขาอาเซียนศึกษาเปิดรับ 30 คนมาสมัครเรียน 6 คน, สาขาบรรณารักษ์เปิดรับ 30 คนมาสมัครเรียน 10 คน นับเป็นวิกฤตที่มองข้ามไม่ได้ และสถานการณ์อาจจะรุนแรงมาก สำหรับมหาวิทยาลัยราชภัฏในพื้นที่ต่างจังหวัดที่จะต้องจับตามองว่า อาจจะมีการแก้ไขเหมือนในอดีตนั่นคือ มหาวิทยาลัยราชภัฏที่อยู่ใกล้เคียงกันอาจจะต้องเกิดการ “ควบรวม” กันขึ้น

ทั้งนี้ราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ยังได้ลงพื้นที่สำรวจโรงเรียนระดับประถมศึกษา-มัธยมศึกษาในพื้นที่ใกล้เคียงกันรวม 70 แห่ง พบว่าช่วง 5 ปีที่ผ่านมาจำนวนนักเรียนลดลงถึง 50% แบ่งออกเป็นระดับประถมศึกษาลดลง 50% หรือจากเดิมที่มีนักเรียนอยู่ที่ 200 คน/เทอมก็ลดลงเหลือ 50 คน/เทอม ระดับมัธยมลดลง 30% หรือจากเดิมที่มีนักเรียน 1,000 คน/เทอม ลดลงเหลือ 400 คน/เทอม

ล่าสุดมีรายงานข่าวเข้ามาว่า มหาวิทยาลัยราชภัฏรวม 20 แห่งได้ทำหนังสือแจ้งปัญหาของราชภัฏในขณะนี้ไปถึงนายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เพื่อหาทางแก้ไขปัญหากรณีการได้รับจัดสรรงบประมาณแผ่นดิน ประเภทเงินอุดหนุนทั่วไป ค่าจ้างของพนักงาน “ไม่เพียงพอ”

เนื่องจากสำนักงบประมาณได้จัดสรรงบฯปี 2562 ไม่พอที่จะจ่ายเป็นเงินเดือนพนักงานของมหาวิทยาลัย (เดือนสิงหาคม-ตุลาคม) หรือยังขาดอีกราว 406.69 ล้านบาท และเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อของบฯกลางมาแก้ไขปัญหาก่อน

ข่าวจาก : ประชาชาติธุรกิจ

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: