“เท่าพิภพ” ไล่ รมช.คลัง ไปทำการบ้านใหม่ ตอบไม่เคลียร์ ปมนายทุนผูกขาดผลิตเบียร์-รัฐกีดกันสุราพื้นบ้าน





ส.ส.คราฟเบียร์ ไล่ รมช.คลัง ไปทำการบ้านมาใหม่ หลังปฏิเสธ ไม่จริง เจอถามกระทู้รัฐวางกฎอุ้มนายทุน ผูกขาดใบอนุญาตผลิตเบียร์ ซัด ดับฝันเล็กๆ ของเด็กจบใหม่ จะทำงานกี่ชาติถึงจะมีโรงเบียร์ได้เอง

เมื่อเวลา 16.30 น. วันที่ 21 สิงหาคม ที่รัฐสภา เกียกกาย ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานการประชุม เพื่อพิจารณากระทู้ถามทั่วไปของ นายเท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร ส.ส.กทม. พรรคอนาคตใหม่ เรื่อง กฎกระทวงการอนุญาตผลิตสุรา พ.ศ.2560 ถามนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ตอนหนึ่งว่า ตนไม่ได้ส่งเสริมให้ใครดื่มสุรา แต่เป็นความฝันเล็กๆ ของคนไทยอยากเป็นผู้ผลิตสุราแต่ทำไม่ได้ เพราะถูกโครงสร้างรัฐกดทับด้วยใบอนุญาตถือเป็นอุปสรรคของผู้เล่นรายใหม่ในการเข้าสู่การผลิต ที่ผ่านมาตลาดเบียร์ในประเทศไทยมีมูลค่าถึง 2 แสนล้านบาท แต่เมื่อเข้าร้านสะดวกซื้อจะเห็นว่ามีอยู่ไม่กี่ยี่ห้อเท่านั้น ใน 40 ปีที่แล้วสหรัฐก็เป็นแบบเรา มีไม่กี่ตระกูลที่เป็นเจ้าของโรงเบียร์ แต่วันนี้มีถึง 7,000 โรงแล้ว กระจัดกระจายอยู่ตามท้องถิ่นต่างๆ มีกำลังการผลิตเพียง 10% แต่มีมูลค่ามากถึง 24% ของตลาด และที่สำคัญมีการจ้างงานมากถึง 56% ของการจ้างงานทั้งหมดในอุตสาหกรรมเบียร์ ดังนั้น จะเห็นได้ว่าถือว่ามีผลประโยชน์ และมีสิ่งที่ดีมากกว่าหากอนุญาต

“แต่ใบอนุญาตที่กระทรวงการคลังออกกฎกระทรวงมามี 2 ประเภท 1.ผลิตเบียร์และขยายได้เฉพาะในโรงเบียร์ ไม่สามารถบรรจุขวดขายได้ โดยต้องผลิตถึง 100,000 ลิตรต่อปี ลองนึกภาพขายยังให้ได้ 300 ลิตรต่อวัน ต้องมีพื้นที่ใหญ่กว่าสภาแห่งนี้อีก ถึงจะอยู่ได้ 2.ผลิตแล้วสามารถใส่ขวดขายได้ ซึ่งจะขอใบอนุญาตได้ ต้องผลิตให้ได้ 10 ล้านลิตรต่อปี ตกวันละประมาณ 30,000 ลิตรต่อวัน ผมเคยโดยจับแล้วมีคนมาติดตามผมว่า น้องมาทำเบียร์ด้วยกัน แต่ผมต้องมีเงินถึง 1 พันล้านบาทเพื่อไปลงทุนกับเขา ถามว่าในประเทศนี้ที่เด็กจบ ป.ตรี เงินเดือน 15,000 บาท ต้องทำงานกี่ชาติถึงจะตั้งโรงเบียร์ได้ ดังนั้นใบอนุญาตคืออุปสรรคของการทำธุรกิจและยังเปิดช่องให้ข้าราชการคอร์รัปชั่น จึงอยากถามว่า เอื้อนายทุนหรือไม่ เหตุใดจึงตั้งขั้นต่ำการผลิตเบียร์ในการขออนุญาต”​ นายเท่าพิภพกล่าว

ด้าน นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ได้รับมอบหมายให้มาชี้แจงว่า ปริมาณขั้นตอนการผลิตและทุนจดทะเบียน ทำให้รายย่อยไม่สามารถแข่งขันได้นั้น กรมสรรพสามิตกำลังศึกษาทุนจดทะเบียนอยู่ว่าความเหมาะสมควรอยู่ตรงไหน เพราะมาตรการออกมาระยะหนึ่งแล้ว ส่วนที่บอกว่าเอื้อผู้ผลิตรายใหญ่นั้นไม่จริง เพราะการผลิตต้องมีมาตรฐานปกป้องผู้บริโภค หากไม่ปลอดภัย ไม่ได้มาตรฐาน ก็จะเป็นปัญหา ส่วนเรื่องของโรงเบียร์ขนาดใหญ่ 3-4 ราย ในประเทศ ทุนจดทะเบียนขั้นต่ำ 10 ล้านบาท กำลังผลิต 10 ล้านลิตรต่อปีเป็นขั้นต่ำ ไม่ได้กีดกัน ไม่ได้มีการห้ามผลิต แต่ต้องมีใบอนุญาต เพื่อมาตรฐานของเบียร์

ทั้งนี้ นายเท่าพิภพกล่าวทิ้งท้ายก่อนจบคำถามว่า “การผลิตเยอะไม่ได้แปลว่า คุณภาพดี การผ่อนปรนใบอนุญาต จะทำให้คุณภาพดีกว่าด้วยซ้ำ คำตอบจึงฟังไม่ขึ้น ขอให้ทำการบ้านมาใหม่”

ข่าวจาก : มติชนออนไลน์

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: