ก.อ.เเต่งตั้งโยกย้าย 80 อธิบดีอัยการ โยก “ชาติพงษ์”มือปราบทุจริตนั่งคดีเศรษฐกิจปราบเเชร์คนมีสี “ฐาปนา”ผงาดนั่งคดีพิเศษคุมคดีม็อบ “ปรเมศวร์” อัยการดัง ขึ้นคุมอาญาธน
เมื่อวันที่ 29 ส.ค. ที่สำนักงานอัยการสูงสุด ถนนแจ้งวัฒนะ นายอรรถพล ใหญ่สว่าง ประธานคณะกรรมการอัยการ (ก.อ) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการอัยการ (ก.อ.) ครั้งที่ 10/2562 โดยมีวาระสำคัญพิจารณาเลื่อนตำแหน่งและแต่งตั้งโยกย้ายระดับอธิบดีอัยการ จำนวน 80 ตำแหน่ง ทุกตำแหน่งมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2562 เป็นต้นไป
โดยแบ่งเป็นโยกย้ายอธิบดีอัยการ 27 ตำแหน่ง ระดับรองอธิบดีอัยการเลื่อนเป็นอธิบดีอัยการ 53 ตำแหน่ง มีที่น่าสนใจดังนี้
- ให้ นายฐาปนา ใจกลม อธิบดีอัยการสำนักงานคดีปราบปรามการทุจริต ไปดำรงตำแหน่ง อธิบดีอัยการคดีสำนักงานคดีพิเศษ
- ให้ นายชาติพงษ์ จีรพันธุ อธิบดีอัยการสำนักงานคดีปราบปรามการทุจริตภาค 7 ไปดำรงตำแหน่ง อธิบดีอัยการสำนักงานคดีเศรษฐกิจและทรัพยากร
- ใหนายสิงห์ชัย ทนินซ้อน อธิบดีอัยการสำนักงานคดีอัยการสูงสุด ไปดำรงตำแหน่ง อธิบดีอัยการสำนักงานคดีอาญา
และให้เลื่อนนายปรเมศวร์ อินทรชุมนุม รองอธิบดีอัยการสำนักงานชี้ขาดคดีอัยการสูงสุด ขึ้นดำรงตำแหน่ง อธิบดีอัยการสำนักงานคดีอาญาธนบุรี
- เลื่อนนายสมนึก โอภาปัญญาโชติ รองอธิบดีอัยการ สำนักงานคดียาเสพติด ขึ้นดำรงตำแหน่ง อธิบดีอัยการสำนักงานคดีค้ามนุษย์
- เลื่อน นายขจรศักดิ์ พุทธานุภาพ รองอธิบดีอัยการ สำนักงานการสอบสวน ขึ้นดำรงตำแหน่ง อธิบดีอัยการสำนักงานคดีปราบปรามการทุจริตภาค 4
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสำหรับการแต่งตั้งโยกย้ายในครั้งนี้มีที่น่าสนใจคือในส่วนของ นายฐาปนา ที่ได้ดำรงตำแหน่งอธิบดีอัยการสำนักงานคดีพิเศษ เป็นสำนักงานสำคัญที่รับผิดชอบคดีของกรมสอบสวนคดีพิเศษหรือดีเอสไอ และคดีป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน หรือปปง. ซึ่งรวมถึงคดีการเมืองเเละการชุมนุมของม็อบการเมืองต่างๆ
ส่วนนายชาติพงษ์ ที่ย้ายจากสำนักงานคดีปราบปรามการทุจริตภาค 7 ไปคุมสำนักงานคดีเศรษฐกิจเเละทรัพยากรนั้น ก่อนหน้านี้ นายชาติพงษ์ เคยดำรงตำเเหน่งรองอธิบดีคดีพิเศษมาเป็นหัวหน้าคณะทำงานที่คุมคดีสำคัญของสำนักงานคดีพิเศษหลายคดี เช่น คดีนิติบุคคล Philip Morris นำเข้าบุหรี่โดยหลีกเลี่ยงภาษีศุลกากร ซึ่งขณะนี้มีกรณีพิพาทระหว่างไทยกับฟิลิปปินส์ ในเรื่องนี้ที่องค์การการค้าโลก WTO,คดีทุจริตสหกรณ์เครดิต ยูเนี่ยนคลองจั่น ซึ่งเกี่ยวพันถึงคดีทุจริตฟอกเงินเครือข่ายวัดธรรมกาย
คดีธนาคารกรุงไทยปล่อยกู้กลุ่มบริษัทกฤษดามหานครโดยทุจริต ที่มีอดีตนายกรัฐมนตรีเเละนักการเมืองนักธุรกิจนายธนาคารตกเป็นจำเลย เเละยังมีความผิดเกี่ยวกับการฟอกเงิน พัวพันถึง นายพานทองแท้ ชินวัตร ,รวมถึงคดีทุจริต การฟอกเงินในโครงการบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน
ถือเป็นมือปราบทุจริตฯ ที่มีประสบการณ์มากซึ่งเมื่อได้รับความไว้วางใจเข้ามาคุมคดีเศรษฐกิจที่มีความซับซ้อนก็จะมีคดีสำคัญ อดีตเเชร์ 600 ล้าน ที่ ผบก.ภ.จว.เลยในขณะนั้นให้ชักชวนตำรวจนำเงินมาลงทุนกับกองทุนดังกล่าวเเละมีอัยการเเละผู้พิพากษาตกเป็นผู้ต้องหาในคดี โดยตามลำดับอาวุโสในปี 2563 จะได้ขึ้นเป็นรองอัยการสูงสุดพร้อมกับนายสิงห์ชัย ว่าที่อธิบดีอัยการสำนักงานคดีอาญา จากมติ ก.อ.ครั้งนี้
ยังมีนายปรเมศวร์ ที่ได้ขึ้นอธิบดีอัยการสำนักงานคดีอาญาธนบุรี ถือเป็นอัยการที่มีบทบาทให้ความเห็นวิเคราะห์วิจารณ์ข้อกฎหมายให้ความรู้ประชาชนอย่างตรงไปจนบางครั้งถูกมองว่าเป็นอัยการสายท้าชน ที่ขึ้นชื่อในการวิจารณ์เนื้อหาข้อกฎหมายลงลึกเเละกระทบผู้มีอำนาจของประเทศหลายครั้ง
ส่วนนายขจรศักดิ์ อดีตรองอธิบดีอัยการสอบสวนก็มีบทบาทในเป็น 1 ในทีมร่วมสอบกับดีเอสไอขอหมายตรวจค้นวัดพระธรรมกายเพื่อจับกุมพระธัมมชโย เเละร่วมสอบสวนคดีนายพานทองเเท้ ฟอกเงินธนาคารกรุงไทยฯ
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ