วงเสวนา “วันผู้สูญหายสากล” ชี้ ไทยขาดกลไกป้องกันบุคคลสูญหาย ไร้กม.เอาผิดทางอาญา จี้ ขุดร่างพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานฯ พิจารณา – ลงสัตยาบันอนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการสูญหาย ด้าน ดีเอสไอ เผย เตรียมแถลงความคืบหน้าคดี “บิลลี่” ภายในก.ย.นี้
เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 30 ส.ค. ที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ คณะนิติศาสตร์ ร่วมกับแอมเนสตี้ มูลนิธิผสานวัฒนธรรม สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน และสำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชน (OHCHR) จัดงานเสวนา “คนก็หายกฎหมายก็ไม่มี” เนื่องในวันผู้สูญหายสากล 30 ส.ค.ของทุกปี
โดย นายจูเซปเป บูซินี่ (Mr.Guiseppe Busini) ผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย กล่าวตอนหนึ่งว่า สหภาพยุโรปขอเน้นย้ำจุดยืนว่า การถูกบังคับให้สูญหายเป็นอาชญากรรมอย่างร้อยแรงต่อมนุษยชาติ เราไม่สามารถยอมรับการซ้อมทรมานได้ทุกกรณี การถูกทำให้สูญหายถือเป็นรูปแบบหนึ่งของการซ้อมทรมาน
เหยื่อเองก็ไม่รู้ว่าตัวเองตกอยู่ในสถานการณ์แบบไหน สหภาพยุโรปจึงสนับสนุนให้แต่ละชาติ ลงนามในอนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการบังคับสูญหาย พร้อมทั้งปรับกฎหมายภายในแต่ละประเทศ เพื่อเป็นการขจัดอุปสรรคในการดำเนินคดี และให้ความเป็นธรรมกับครอบครัวผู้สูญหาย การขาดเครื่องมือทางกฎหมายที่จะนำผู้ที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ถือเป็นปัญหาสำคัญที่เกิดขึ้น ซึ่งในประเทศไทยก็ยังไม่ได้รับรองว่าการทำให้สูญหายต้องมีโทษทางอาญา
ทั้งที่การบังคับให้สูญหายไม่ใช่ปรากฎการณ์ที่แปลกในประเทศไทย เพราะสถิติพบว่ามีผู้สูญหายจำนวนมากในประเทศไทย จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ไทยจะต้องให้สัตยาบันในอนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการบังคับสูญหาย และปรับปรุงกฎหมายให้ผู้ที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนในการบังคับให้สูญหาย มีความผิดทางอาญา ทั้งนี้ สหภาพยุโรปมีจุดยืนในการปกป้องมนุษยชนคือการยืนข้างนักสิทธิมนุษยชน เราคาดหวังว่าจะมีความคืบหน้าในการพัฒนากฎหมายต่างๆที่ จะช่วยปกป้องสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย
นางอังคณา นีละไพจิตร ตัวแทนผู้เสียหายจากการบังคับให้บุคคลสูญหายในประเทศไทย และอดีตคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กล่าวว่า การบังคับให้สูญหายจะไม่มีวันเป็นกรณีสุดท้ายหากไม่สร้างความเปลี่ยนแปลง เวลาเกิดเหตุรัฐจะแสดงความสงสาร เห็นใจ และหยิบยื่นความช่วยเหลือให้แล้วก็จบ ความรุนแรงจึงยังเกิดขึ้นเป็นวัฏจักร
นอกจากนี้ ครอบครัวของผู้สูญหายยังถูกทำให้เป็นคนไม่ดี ไม่มีใครมาเดือดร้อนถ้าคนแบบนี้หายไป สิ่งนี้ทำให้สังคมไม่ใส่ใจ ครอบครัวเกิดความหวาดกลัว ผลกระทบเกิดกับคนในครอบครัว ที่เจ็บปวดคือไม่มีใครถามหรือหยิบยื่นความเป็นธรรมให้เขา ขณะเดียวกัน ยังมีกลุ่มคนที่เปราะบาง คือ กลุ่มคนไร้สัญชาติ และกลุ่มคนที่เป็นผู้ลี้ภัย คนเหล่านี้ไม่เคยมีตัวตน เราจึงไม่รู้เลยว่าจริงๆแล้วเรามีคนหายเท่าไหร่ จึงจำเป็นที่ประเทศไทยต้องมีกลไกคุ้มครอง 10 กว่าปีที่ผ่านมาที่ตนสู้คดี ปัญหาคือเราไม่มีกฎหมายที่ครอบคลุมตรงนี้ ครอบครัวไม่มีสิทธิในการสู้คดีเมื่อไม่มีผู้เสียหายก็ไม่สามารถฟ้องได้ คดีการบังคับสูญหายจึงไม่มีผู้เสียหาย เพราะผู้เสียหายไปไหนไม่รู้
นางอังคณา กล่าวว่า ที่ผ่านมาสนช.พิจารณาร่างพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ… ด้วยความหวาดกลัวและล่าช้า มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว โดยตัดเนื้อหาที่เป็นสาระสำคัญหลายประเด็น ที่เป็นหลักประกันสำคัญทางกฎหมายในการป้องกัน และยุติการบังคับสูญหายออกไป ซึ่งขณะนี้ร่างกฎหมายดังกล่าวตกไปไม่ได้มีการหยิบยกมาพิจารณา
“รัฐไม่มีอำนาจในการปกปิดชะตากรรมของผู้สูญหาย ญาติไม่มีหลุมศพให้รำลึกถึง ไม่มีการประกอบพิธีทางศาสนา วันนี้บอกว่ายังมีชีวิต พรุ่งนี้บอกว่าตายแล้ว ความคลุมเครือจึงทุกข์ทรมานใจมาก กฎหมายฉบับนี้จึงต้องคงหลักการสำคัญไว้ ไม่เช่นนั้นออกไปก็ไม่มีประโยชน์คุ้มครองใครไม่ได้ ป้องกันก็ไม่ได้ เป็นเวลาเกือบ 1 เดือนแล้วที่ตนอยากขอเข้าพบประธานสภาฯ เพื่อขอให้มีการให้สัตยาบันระหว่างที่เรายังไม่มีกฎหมาย แต่เป็นที่น่าเสียดายที่ตนไม่สามารถเข้าพบได้” นางอังคณา กล่าว
ด้าน นางนงภรณ์ รุ่งเพ็ชรวง ผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชน กระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า ครม. ได้สอบถามมายังกระทรวงยุติธรรม ว่ายืนยันที่จะให้มีร่างพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ… หรือไม่ ซึ่งกระทรวงยุติธรรมยืนยันว่ายังต้องมีกฎหมายฉบับนี้ ขณะนี้จึงขึ้นอยู่กับประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่คงกำลังศึกษาว่าร่างกฎหมายดังกล่าวอยู่ในขั้นตอนไหนแล้ว เพราะได้ผ่านการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในวาระแรกไปแล้ว
นายอังศุเกติ์ วิสุทธิ์วัฒนศักดิ์ ผอ.ส่วนคดีความมั่นคง 1 กองคดีความมั่นคง กรมสอบสวนคดีพิเศษ กล่าวว่า ตนเชื่อว่าทุกคนอยากรู้ว่านายพอละจี รักจงเจริญ หรือ บิลลี่ อยู่ไหน และอยากดำเนินคดีกับผู้ต้องหา แต่หากเราไม่ได้ตัวนายบิลลี่ การดำเนินคดีกับผู้ต้องหาคือการรับสารภาพว่าได้จับตัวนายบิลลี่ แล้วปล่อยไป ซึ่งโทษจำคุก 1 – 10 ปี หากรับสารภาพโทษจำคุก 1 ปี ลดลงครึ่งหนึ่ง และรอลงอาญา
ดังนั้น เชื่อว่าทุกคนคงไม่อยากให้เป็นแบบนี้ เราจึงคิดว่าถ้าเราเจอว่านายบิลลี่ ไปไหน ซึ่งตอนนี้มีพยานหลักฐานสำคัญแล้วว่า นายบิลลี่ ไปไหน ข้อหาก็จะแตกต่างทันที อาจจะเป็นข้อหาการฆาตกรรมโดยวางแผน โทษคือประหารชีวิต เราต้องดูเป้าหมายสุดท้ายของเรื่อง จึงขอให้ใจเย็นๆมีของดีแน่นอน แต่เรื่องการแถลงข่าว และการดำเนินการใดๆขอให้เป็นเรื่องของผู้บังคับบัญชา คือ อธิบดีหรือรองอธิบดี
“เมื่อมีเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปเกี่ยวข้อง ป.ป.ช.ออกกฎหมายมาว่าจะต้องส่งให้ป.ป.ช.รับเรื่องไปก่อน ดีเอสไอก็ส่งเรื่องไปที่ป.ป.ช. เท่ากับตอนนี้คดีของนายบิลลี่ อยู่ที่ป.ป.ช. และป.ป.ท. ซึ่งทุกอย่างต้องกลับมารวมที่ดีเอสไอทั้งหมด แต่ไม่ต้องห่วงผลออกมาทางบวกแน่นอน ให้ทุกท่านสบายใจได้ว่าเรื่องนี้จบ ส่วนการคุ้มครองพยาน ดีเอสไอได้คุ้มครองพยาน คือ ภรรยา และแม่ของนายบิลลี่ อยู่ตลอดเวลา ผมอยากฝากว่าดีเอสไอมีวัฒนธรรม คือเกียรติศักดิ์ เชี่ยวชาญ ซื่อสัตย์ ขอให้ทุกคนมั่นใจว่าจบได้แน่นอน ซึ่งภายในเดือน ก.ย. คงมีการรายงานความคืบหน้าคดีของนายบิลลี่ จากดีเอสไอ” นายอังศุเกติ์ กล่าว
ทั้งนี้ ระหว่างการเสวนา นายสามารถ มะลูลีม คณะทำงานที่ปรึกษาประธานสภาฯ ซึ่งได้มาร่วมรับฟังการเสวนาในครั้งนี้ด้วย ได้กล่าวว่า นายชวน ยินดีที่จะให้คณะได้เข้าพบ และยื่นหนังสือในเรื่องดังกล่าวที่รัฐสภา
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ