ในการจัดทำงบประมาณปี 2563 พบว่า รัฐบาลเตรียมจัดสรรงบประมาณให้ส่วนราชการในพระองค์ 7,685.2 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 13.02% ส่วนงบกระทรวงกลาโหม ได้เพิ่ม 2.74% เป็น 233,353.4 ล้านบาท ขณะที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ถูกหั่นงบลงถึง 78.37% หลังจบภารกิจเลือกตั้ง
สำนักงบประมาณอยู่ระหว่างดำเนินการรับฟังความคิดเห็นการจัดทำงบประมาณประจำปี เพื่อให้เป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ มาตรา 77 ก่อนสรุปรายงานเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 24 ก.ย. นี้ พร้อมขอความเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563
เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (3 ก.ย.) ครม. เพิ่งมีมติ “เห็นชอบ” รายละเอียดงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 วงเงิน 3,200,000 ล้านบาท ทว่าหน่วยงานต่าง ๆ ได้ส่งคำของบประมาณรวมทั้งสิ้น 5,099,188.7 ล้านบาท จึงต้องปรับลดให้อยู่ในวงเงินที่กำหนด
ขณะเดียวกัน สำนักงบประมาณได้ประสานงานไปยังสภาผู้แทนราษฎร เพื่อขอให้เปิดการประชุมสภาสมัยวิสามัญ เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 วาระที่ 1 ในวันที่ 17 ต.ค. ตามปฏิทินงบประมาณ กว่ากระบวนการพิจารณาของสภาและวุฒิสภาจะแล้วเสร็จก็ราวเดือน ม.ค. 2563 จากนั้นสำนักเลขาธิการ ครม. ก็จะนำร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ขึ้นทูลเกล้า ฯ ถวาย เพื่อประกาศบังคับใช้เป็นกฎหมายต่อไป นั่นเท่ากับว่าการประกาศใช้กฎหมายงบประมาณปี 2563 จะล่าช้ากว่าปกติอย่างน้อย 4 เดือน
สำหรับวงเงินงบประมาณปี 2563 เพิ่มขึ้น 200,000 ล้านบาท จากงบปี 2562 ที่ 3,000,000 ล้านบาท อีกทั้งยังเป็นการตั้งงบขาดดุลบัญชี 469,000 ล้านบาท ซึ่งมากกว่าปีก่อนที่ตั้งงบขาดดุล 450,000 ล้านบาท โดยเป็นการจัดสรรตามยุทธศาสตร์สำคัญ 6 ด้าน
บีบีซีไทยตรวจสอบรายละเอียดการจัดสรรงบประมาณปี 2563 ของหน่วยงานต่าง ๆ ตามเอกสารภาคผนวก ก และ ข ที่สำนักงบประมาณเพิ่งนำข้อมูลมาเปิดเผยทางเว็บไซต์ พบว่า ในหน่วยงานรับงบประมาณ 33 หน่วยงาน มีอยู่ 12 หน่วยงานที่ถูกปรับลดงบประมาณลงจากปี 2562 ในจำนวนนี้มี 3 กระทรวงในกำกับดูแลของพรรคร่วมรัฐบาลคือ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาซึ่งมีรัฐมนตรีในสังกัดพรรคภูมิใจไทย (ภท.) ถูกหั่นงบลง 6.58% กระทรวงคมนาคมอยู่ในกำกับของ ภท. เช่นกัน ถูกปรับลดงบ 0.42% และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมภายใต้การกำกับของพรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) ถูกปรับลดงบ 1.05% ส่วนอีก 2 กระทรวงที่มีนักการเมืองสังกัดพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เป็นเจ้ากระทรวงและถูกหั่นงบคือ กระทรวงพลังงาน งบลดลง 6.21% และกระทรวงศึกษาธิการ งบลดลง 0.10%
งบปี 2563 ของ 33 หน่วยงาน (หน่วยเป็น ล้านบาท)
หน่วยงานขอรับงบ | งบปี 2563 | เพิ่มขึ้น/ลดลง |
---|---|---|
1. งบกลาง | 518,770.9 | 47,238.9 |
2. สำนักนายกรัฐมนตรี | 39,108.9 | – 919.4 |
3. กระทรวงกลาโหม | 233,353.4 | 6,226.8 |
4. กระทรวงการคลัง | 249,676.9 | 6,727.9 |
5. กระทรวงการต่างประเทศ | 8,927.6 | -269.6 |
6. กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา | 6,071.3 | -427.9 |
7. กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ | 21,281.5 | 7,938.9 |
8. กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม | 140,444.5 | 2,871.3 |
9. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ | 109,833.6 | 1,226.7 |
10. กระทรวงคมนาคม | 178,840 | -758.5 |
11. กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม | 6,897.8 | 1,484.4 |
12. กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม | 30,370 | 322.5 |
13. กระทรวงพลังงาน | 2,157.9 | -142.9 |
14. กระทรวงพาณิชย์ | 7,553.1 | 611.5 |
15. กระทรวงมหาดไทย | 353,007.4 | 25,264.7 |
16. กระทรวงยุติธรรม | 26,949 | 1,805.1 |
17. กระทรวงแรงงาน | 60,878.3 | 8,284 |
18. กระทรวงวัฒนธรรม | 8,569.7 | 454.4 |
19. กระทรวงศึกษาธิการ | 368,660.3 | -386.7 |
20. กระทรวงสาธารณสุข | 138,735.3 | 3,346.6 |
21. กระทรวงอุตสาหกรรม | 5,363.8 | 132.6 |
22. ส่วนราชการไม่สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวง หรือ ทบวงและหน่วยงานภายใต้การควบคุมดูแลของนายกรัฐมนตรี 11 หน่วยงาน | 132,230.9 | 5,148.4 |
23. จังหวัดและกลุ่มจังหวัด | 24,000 | -3,579.6 |
24. รัฐวิสาหกิจ 27 แห่ง | 156,292 | 15,290.7 |
25. หน่วยงานของรัฐสภา | 8,684.6 | -1,323.8 |
26. หน่วยงานของศาล | 20,234.9 | -2.370.4 |
27. หน่วยงานขององค์กรอิสระ 5 หน่วยงาน และองค์กรอัยการ | 16,495.5 | -5,668.3 |
28. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น | 55,251.9 | 11,192.9 |
29. หน่วยงานอื่นของรัฐ | 598.7 | -57.9 |
30. สภากาชาดไทย | 10,651.1 | 383.3 |
31. ส่วนราชการในพระองค์ | 7,685.2 | 885.2 |
32. รายจ่ายทุนหมุนเวียน | 189,714 | 7,003.4 |
33. รายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง | 62,709.4 | 62,709.4 (ปี 2562 ไม่มี) |
ที่มา : การจัดสรรงบประมาณปี 2563 ภาคผนวก จัดทำโดยสำนักงบประมาณ (ตัวเลขอาจเปลี่ยนแปลงได้)
สำหรับกระทรวงที่ตั้งงบ “ทะลุแสนล้าน” มี 8 กระทรวง ในจำนวนนี้มีกระทรวงกลาโหมรวมอยู่ด้วย ขอตั้งงบ 233,353.4 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2562 เป็นเงิน 6,226.8 ล้านบาท (คิดเป็น 2.74%) โดยหน่วยงานที่ได้รับการจัดสรรงบมากที่สุดในกระทรวงกลาโหม หนีไม่พ้น กองทัพบก ได้งบ 113,677.4 ล้านบาท เพิ่มจากปีก่อน 2,300.5 ล้านบาท (คิดเป็น 2.07%) ในการจัดสรรงบของกองทัพบกอยู่ภายใต้ 10 แผนงานหลัก โดยปรับลดงบในแผน 2 แผนลงจากปีก่อนคือ แผนบุคลากรภาครัฐ และแผนงานบูรณาการการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว แต่ไปเพิ่มงบใน 5 แผนงาน ประกอบด้วย แผนงานพื้นฐานด้านความมั่นคง 15,930 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 19.96%), แผนงานยุทธศาสตร์พัฒนาศักยภาพการป้องกันประเทศและความพร้อมเผชิญภัยคุกคามทุกมิติ 32,960.2 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 1.65%), แผนงานบูรณาการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ 789.8 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 9.01%), แผนยุทธศาสตร์เสริมสร้างความมั่นคงของสถาบันหลักของชาติ 336 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 9.80%) และแผนงานยุทธศาสตร์ป้องกันและแก้ไขปัญหาที่มีผลกระทบต่อความมั่นคง 3,659.2 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 0.27%)
อีกกระทรวงที่ตั้งงบ “ทะลุแสนล้าน” คือ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ซึ่งกลายรูปจากกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเดิม โดยตั้งงบที่ 140,444.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 2,871.3 ล้านบาท (คิดเป็น 2.09%) เนื่องจากมีการโยกสถาบันอุดมศึกษา 81 แห่ง มาอยู่ในกระทรวงนี้ด้วย อย่างไรก็ตามมีมหาวิทยาลัย 53 แห่ง ถูกปรับลดงบประมาณลง โดยมหาวิทยาลัยมหิดลถูกหั่นงบสูงสุดหลัก “พันล้าน” หรือคิดเป็นงบที่หายไป 8.51% หากเทียบกับปีก่อน ส่วนอีก 23 สถาบันถูกหั่นงบหลัก “ร้อยล้าน” อาทิ ม. สงขลานครินทร์, ม. ขอนแก่น, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ม. เชียงใหม่, ม. บูรพา, ม. ธรรมศาสตร์, ม. วลัยลักษณ์, ม. ศิลปากร ฯลฯ
แม้การจัดสรรงบประมาณปี 2563 ซึ่งเกิดขึ้นโดยรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง แต่ก็พบว่าฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายตุลาการถูกหั่นงบกันถ้วนหน้า อย่างหน่วยงานรัฐสภา ซึ่งประกอบด้วย สถาบันพระปกเกล้า, สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา, สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ตั้งงบรวมกันที่ 8,684.6 ล้านบาท ลดลงจากเดิม 13.23% ที่น่าสนใจคือสำนักงานเลขาธิการสภา ถูกตัดงบในภาพรวมลงไป 18.47%
ขณะที่หน่วยงานของศาล ประกอบด้วย สำนักงานศาลปกครอง, สำนักงานศาลยุติธรรม, สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ตั้งบรวมกันที่ 20,234.9 ล้านบาท ลดลงจากเดิม 10.49% มีเฉพาะศาลรัฐธรรมนูญที่ได้งบเพิ่ม 25.83%
ด้านองค์กรอิสระ 5 องค์กร และสำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.) ตั้งงบรวมกันที่ 16,495.5 ล้านบาท ลดลงจากเดิม 25.57% โดยองค์กรอิสระที่ “งบหาย” ไปมากที่สุดหนีไม่พ้น สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เนื่องจากภารกิจจัดการเลือกตั้งเสร็จสิ้นไปแล้ว โดยตั้งไว้ที่ 1,780.1 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อน 6,448.2 ล้านบาท (คิดเป็น 78.37%) ขณะที่ อสส. ตั้งงบที่ 9,516.5 ล้านบาท เพิ่มจากเดิม 6.44%
ปิดท้ายที่ส่วนราชการในพระองค์ ได้รับงบ 7,685.2 ล้านบาท จากงบปี 2562 ที่ 6,800 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 885.2 ล้านบาท (คิดเป็น 13.02%) โดยระบุแผนงานในเอกสารการจัดสรรงบประมาณปี 2563 ไว้เพียงแผนงานเดียวคือ “แผนงานพื้นฐานด้านความมั่นคง” เช่นเดียวกับในคราวเสนอขอรับงบประมาณเมื่อปีก่อน
อ่านเพิ่มเติม https://www.bbc.com/thai/thailand-49590530
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ