บิ๊กตู่เอาจริง! สั่งศึกษาเช่าที่ชาวบ้านน้ำท่วมกักเก็บน้ำ





วันที่ 10 ก.ย. ที่ทำเนียบรัฐบาล นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม กล่าวกับที่ประชุมถึงเรื่องสถานการณ์น้ำในพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งท่านได้กล่าวถึงมาตรการเยียวยาของกระทรวงการคลัง ส่วนการลงพื้นที่คือเพื่อดูว่าจะมีมาตรการใดๆ เพิ่มเติมหรือไม่ เพื่อให้ประชาชนกกลับมาใช้ชีวิตปกติเร็วที่สุด

สำหรับมาตรการน้ำทั้งจากฝนที่ตกเยอะและที่ไหลลงมาจากภูเขา ได้พูดถึงเรื่องการกักเก็บน้ำ ท่านมีข้อสั่งการให้ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) รับไปศึกษาร่วมกับหน่วยงานน้ำอื่นๆ โดยให้มีแผนการทำแก้มลิงซึ่งบางส่วนอาจจะต้องทำบนพื้นที่ของประชาชนที่เป็นบริเวณที่ท่วมซ้ำซากว่าจะสามารถนำมาใช้เป็นแหล่งกักเก็บน้ำได้หรือไม่ แต่จะต้องมีการเยียวยาให้ประชาชน เช่น อาจจะเป็นค่าเช่าพื้นที่ และปรับเปลี่ยนอาชีพเพื่อให้ประชาชนมีรายได้ใกล้เคียงกับที่เคยได้รับหรือมากกว่า

ทั้งนี้ ในช่วงเช้าวันที่ 12 ก.ย.จะมีการประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) คงจะมีความคืบหน้าเรื่องแผนการจัดการน้ำอย่างบูรณาการต่อไป

ขณะเดียวกันที่ประชุม ครม. อนุมัติงบกลางปี 2562 รายการสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นเป้นค่าใช้จ่ายในโครงการแก้ไขปัญหาและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนเนื่องจากอุทกภันในภาคเหนือ กรอบวงเงิน 261,533,200 บาท

ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวในการแถลงข่าวก่อนหน้านั้นว่า เรื่องภัยพิบัติรัฐบาลมีวอร์รูมในการแก้ปัญหาอยู่แล้วโดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ระดับล่างก็มีในระดับพื้นที่ที่กระทรวงมหาดไทยดูแล รัฐบาลจะทำหน้าที่กำหนดนโยบาย ติดตามการแก้ปัญหา หามาตรการใหม่ๆ แผนงานโครงการ การสนับสนุนงบประมาณ

“ที่ผ่านมาเราดำเนินการมา 5 ปีอย่างต่อเนื่อง ผมบอกแล้วว่าสามารถทำให้ทุกกิจกรรมเพิ่มขึ้นถึง 4 เท่าของก่อนหน้ารัฐบาลผมจะเข้ามา แล้วก็ลดความเสียหายไปได้เป็นจำนวนมาก แต่ละปีต้องเสียเงินค่าเยียวยาต่างๆ ลดจาก 3-4 หมื่นล้านบาท เหลือหมื่นล้านบาท แต่ตอนนี้มีปัญหาฝนตกเกินปริมาณที่เคยตก ชาวบ้านก็ยืนยันมา ยังไงก็ต้องท่วม เราก็มีมาตรการเยียวยาขั้นต้นอยู่แล้ว และไปตรวจเยี่ยมเพื่อดูแลให้ได้มากขึ้น”

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวด้วยว่า การที่ตนไปลงพื้นที่คือการปลุกขวัญกำลังใจ ว่านายกรัฐมนตรีไม่ได้ทอดทิ้งเขา ตนจะทอดทิ้งได้อย่างไร ถึงตนไม่ได้ไปก็เหมือนกัน ตนอยู่ตรงนี้ก็ได้รับรายงานทุกวัน แต่การลงพื้นที่คือการทำให้เกิดการไว้วางใจซึ่งกันและกัน ส่วนในฤดูกาลหน้าหากยังเพาะปลูกไม่ได้ต้องดูว่าเราจะมีอาชีพอะไรให้กับเขาต้องดูทุกมิติ ขณะนี้กำลังพิจารณาหนทางใหม่ๆ เช่น หาแก้มลิงใหม่ ถ้าพื้นที่ประชาชนเก็บน้ำไว้ได้ระยะหนึ่งเมื่อน้ำแห้งจึงค่อยเพาะปลูก

ข่าวจาก workpointnews

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: