“บีทีเอส” คิกออฟใช้ระบบชำระค่าโดยสารด้วยคิวอาร์โค้ด เนื่อง จากกระแสสังคมไร้เงินสดในเมืองกรุงมาแรง ไม่น่าเชื่อมีประชาชนให้ความสนใจและใช้บริการการจ่ายเงินด้วยวิธีการดังกล่าวเพิ่มมากขึ้นและภาพที่ชัดคือการต่อแถวแลกเหรียญที่ลดลง
นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เผยว่า นับแต่บีทีเอสเปิดให้ตู้จำหน่ายตั๋วทัชสกรีน รองรับการซื้อตั๋วเดินทางเที่ยวเดียวด้วย QR Code ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2561-สิงหาคม 2562 มีผู้ใช้งานรวมแล้วกว่า 1.25 ล้านรายการ
ทั้งนี้ตัวแปรที่ทำให้คนไทยหันมาใช้รูปแบบการชำระดังกล่าว จากผลสำรวจเกี่ยวกับทัศนคติและพฤติกรรมการชำระเงินระบบอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงเทรนด์สำคัญของผู้บริโภคประจำปี 2561 ของวีซ่าพบว่าปัจจุบัน ผู้บริโภคสามารถชำระเงินด้วยอุปกรณ์เชื่อมต่อที่หลากหลาย และหนึ่งในนั้นคือแอพพลิเคชัน Line ซึ่งกลยุทธ์ดังกล่าวบีทีเอส นำมาปรับใช้ ไม่เพียงเท่านั้นจากผลสำรวจนี้ 2 ใน 5 ของคนไทย หรือ 42% พกเงินสดน้อยลงในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ทำให้ทิศทางการชำระเงินด้วยคิวอาร์โค้ดดูเหมือนว่าจะมีทิศทางเพิ่มในอนาคตสำหรับบีทีเอส
อย่างไรก็ตามปัจจุบันตู้จำหน่ายตั๋วบีทีเอสทุกตู้ ทุกสถานี รองรับ QR Code ทั้งหมด โดยรองรับ QR Code 2 ระบบ คือ 1. แรบบิท ไลน์ เพย์ (Rabbit LINE Pay) และ 2. แอพพลิเคชัน ธนาคารทุกธนาคาร เป็นความสะดวกสบายที่เพิ่มขึ้น ขณะเดียว กันสำหรับผู้โดยสารที่ไม่ได้ใช้ QR Code ทางพนักงานพร้อมให้บริการซื้อตั๋วที่ห้องจำหน่ายตั๋วได้โดยตรง ซึ่งไม่ต้องแลกเหรียญแบบเดิมอีกต่อไป
ด้านบริการแรบบิท ไลน์ เพย์ ที่บีทีเอสร่วมกับพันธมิตรพัฒนาบริการให้เติมเงินหรือเติมเที่ยวเดินทางบัตรแรบบิทได้บนแอพพลิเคชันไลน์ ตั้งแต่ปลายปี 2561 ก็ได้รับการตอบรับที่ดีเยี่ยม เพราะมีจุดแข็ง คือผู้โดยสารสามารถจัดการบัตรแรบบิทของตัวเองทั้งหมดได้ ทั้งการเติมเที่ยวเดินทางหรือเติมเงินบัตรโดยสารรถไฟฟ้าบีทีเอส ตรวจสอบประวัติ การเดินทางและประวัติการชำระเงินซื้อสินค้า รวมทั้งระงับหรืออายัดบัตรได้เองทันทีกรณีสูญหาย ซึ่งผู้โดยสารสามารถสมัครและเปิดการใช้งานแรบบิท ไลน์ เพย์ ได้ที่ห้องจำหน่ายตั๋วบีทีเอสทุกสถานี
การนำเอาระบบชำระค่าโดยสารด้วยคิวอาร์โค้ดจากทาง บีทีเอส ถือเป็นมิติใหม่ของการเดินทางโดยสารในประเทศที่ในอนาคตรูปแบบการเดินทางอื่นๆ อาทิ เรือ รถ จะสามารถนำไปปรับใช้ แน่นอนในลำดับแรกคือ ความสะดวกสบาย อีกปัจจัยคือลดความอันตรายในการถือเงินสด ที่สำคัญภาพของการต่อแถวโดยสารน่าจะลดลง เรื่องเล็กๆน้อยๆ แบบนี้ เมื่อทำอย่างเป็นรูปธรรมไม่ได้สร้างแค่การรับรู้และภาพลักษณ์แต่ยังบ่งบอกถึงการทรานส์ฟอร์มธุรกิจให้สอดรับกับยุคดิจิทัลได้อย่างลงตัว ไม่แน่ระบบนี้อาจนำไปใช้กับไฮสปีดบางสายในอนาคตก็เป็นได้
ข่าวจาก หน้า 12 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,508 วันที่ 26-28 กันยายน 2562
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ