เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม นายอัมพร พินะสา รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยถึงกรณีที่ นายอรรถพล อนันตวรสกุล อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า ในปีการศึกษา 2562 สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จะไม่จัดสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย สังกัด สพฐ.เนื่องจากรายชื่อคงค้างในบัญชีจากปีก่อน ยังมีมากพอจะทยอยเรียกบรรจุได้ถึงปีการศึกษา 2563 เท่ากับนิสิตนักศึกษาที่เรียนจบครูในปีการศึกษา 2562 และปีการศึกษา 2563 จะโดนลอยแพ ต้องไปสอบบรรจุในปีการศึกษา 2564 พร้อมกัน เท่ากับว่าจะมีนักศึกษาตกค้างกว่า 100,000 คน ว่า ขณะนี้ทางสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ยังมีบัญชีเก่าค้างอยู่ ดังนั้นจะต้องใช้บัญชีเก่าก่อนแต่หากเขตพื้นที่ฯ ใดไม่มีบัญชีค้างอยู่ก็สามารถที่จะขอเรียกบัญชีจากจัดหวัดอื่นพื้นที่ใกล้เคียงได้ แต่หากบัญชีในพื้นที่ไม่มี บัญชีจังหวัดข้างเคียงไม่มี ถ้าประสงค์จะขอสอบ ก็สามารถเสนอขึ้นมาเพื่อขอสอบได้ ส่วนจะจัดสอบเมื่อไรนั้นเป็นอำนาจของคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) โดยสพฐ. ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ก.ค.ศ. กำหนด
นายอัมพร กล่าวต่อว่า ทั้งนี้การสอบครูผู้ช่วยเป็นอำนาจของ ก.ค.ศ. ที่มีนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) พิจารณาเห็นชอบ ส่วนกรณีที่นักวิชาการระบุว่า หากสพฐ. ไม่เปิดสอบคัดเลือกครูผู้ช่วย จะส่งผลให้มีนักศึกษาตกค้างกว่า 100,000 คน ทำให้เกิดปัญหาในระยะยาวนั้น การเปิดสอบต้องดูที่อัตราว่าง ว่ามีหรือไม่มี ไม่ได้อยู่ที่ว่า มีนักศึกษาค้างอยู่หรือไม่ ซึ่งขณะนี้สพฐ. มีอัตราว่างอยู่ เพียงแต่การจะใช้บัญชีเดิม หรือจะสอบใหม่ ก็ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) ส่วนที่นักวิชาการเสนอให้ปรับระบบการผลิตครู ให้เป็นระบบปิด เช่นเดียวกับการผลิตแพทย์ ให้พอต่อความต้องการ เพื่อไม่ให้มีเด็กตกค้างนั้น ส่วนตัวไม่อยากให้ความเห็น เพราะเป็นเรื่องเชิงนโยบาย ที่ผู้เกี่ยวข้องต้องหารือร่วมกัน เพื่อแก้ปัญหาในภาพรวม
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ