ครั้งแรกบนแผ่นดินรัชกาลที่10 เชิญชมขบวนเสด็จฯเลียบพระนครทางชลมารค24ต.ค.นี้





ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค เป็นพระราชพิธีที่สำคัญยิ่งของพระมหากษัตริย์ไทย และในวันที่ 24 ตุลาคม พุทธศักราช 2562 ที่ใกล้จะมาถึงนี้ จะเป็นครั้งแรกในแผ่นดินรัชกาลที่ 10 ที่จะมีขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ซึ่งเป็นพระราชพิธีเบื้องปลาย ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562

นับเป็นความงดงามที่คนไทยเฝ้ารอเพื่อเฝ้าชมพระบารมี พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 และความงดงามของขบวนเรือพระราชพิธีที่มีเพียงหนึ่งเดียวในโลก

94 ปี เสด็จฯเลียบพระนครทางชลมารค

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการฝ่ายจัดพิธีการงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก กล่าวว่า การเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครโดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ที่ใกล้เข้ามานั้นเป็นงานที่ต่อเนื่องมาจากพระราชพิธีบรมราชาภิเษกช่วงต้นและช่วงกลางตั้งแต่ต้นปี

“การเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร แปลตามตัวคือการออกเยี่ยมชมบ้านชมเมือง เพราะในอดีตไม่มีรถ การเสด็จออกชมบ้านเมืองก็ทำได้สองทาง คือ ทางบก และทางน้ำ ซึ่งการเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ไม่ใช่อยากทำก็ทำได้เลย เพราะต้องดูเรื่องดินฟ้าอากาศ กระแสน้ำ และกระแสคลื่น ตลอดจนเตรียมอุปกรณ์ที่ใช้ในพระราชพิธี และการซ่อมแซมตกแต่งพาหนะหรือเรือที่ใช้ในการเสด็จ ซึ่งต้องใช้เวลาในการเตรียมการ

ทั้งนี้ ในบางรัชกาลสามารถจัดขึ้นอย่างต่อเนื่องจากการเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร โดยขบวนพยุหยาตราทางสถลมารค หรือทางบก เพราะกระแสน้ำ กระแสลม กระแสคลื่น และสภาพเรือเอื้ออำนวย จึงแบ่งห้วงพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเป็น 2 ห้วง แต่บางรัชกาลจำเป็นต้องแยกออกไปเป็น 3 ห้วง ดังเช่นปัจจุบัน”

นายวิษณุกล่าวต่อว่า คำว่า พยุหยาตรา มีความหมายว่า การเดินทางไปเป็นกระบวน เพราะฉะนั้น พยุหยาตราทางชลมารค คือการเดินทางเป็นกระบวนทางน้ำ ซึ่งมี 2 รูปแบบ ประกอบด้วย พยุหยาตราทางชลมารค (น้อย) ใช้เรือจำนวนน้อย และพยุหยาตราทางชลมารค (ใหญ่) ใช้เรือจำนวนมาก ซึ่งเป็นรูปแบบในพระราชพิธีครั้งนี้ ด้วยใช้เรือทั้งหมด 52 ลำ

“การเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารคครั้งนี้ ห่างจากครั้งล่าสุดซึ่งมีขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 นานถึง 94 ปี ด้วยเป็นการเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ไม่ใช่การเสด็จฯ เพื่อไปถวายผ้าพระกฐิน ซึ่งพระราชพิธีครั้งนี้ อีกนานกว่าจะมีอีกครั้ง จึงอยากให้ประชาชนได้รับฟังบทเห่เรือ ที่เป็นการบันทึกประวัติศาสตร์ในห้วงนั้นๆ ด้วยในการเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค แต่ละครั้งจะมีบทเห่เรือที่แตกต่างกัน ทั้งยังเป็นโอกาสสำคัญที่ประชาชนจะได้ชื่นชมพระบารมีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวด้วย” นายวิษณุกล่าว

 

 

ขบวนพยุหยาตราฯ รัชกาลที่ 9 มีทั้งสิ้น 17 ครั้ง

นาวาเอก ไพฑูรย์ ปัญญสิน ผู้ช่วยเลขานุการคณะอนุกรรมการฝ่ายควบคุมขบวนเรือ กองทัพเรือ กล่าวว่า ย้อนกลับไปในสมัยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มีการจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ทั้งสิ้น 17 ครั้ง เป็นการเสด็จพระราชดำเนิน 14 ครั้ง

อัญเชิญพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ 1 ครั้ง และจัดแสดงขบวนเรือพระราชพิธี 2 ครั้ง ดังนี้

1.กระบวนพยุหยาตราทางชลมารค (น้อย) ในการฉลอง 25 พุทธศตวรรษ เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2500

2.กระบวนพยุหยาตราทางชลมารค (น้อย) การเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวราราม เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2502

3.กระบวนพยุหยาตราทางชลมารค (น้อย) การเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวราราม เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2504

4.กระบวนพยุหยาตราทางชลมารค (น้อย) การเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวราราม เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2505

5.กระบวนพยุหยาตราทางชลมารค (น้อย) การเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวราราม เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2507

6.กระบวนพยุหยาตราทางชลมารค (น้อย) การเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวราราม เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2508

7.กระบวนพยุหยาตราทางชลมารค (น้อย) การเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวราราม เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2510

8.กระบวนพยุหยาตราทางชลมารค (ใหญ่) เสด็จพระราชดำเนินไปทรงบวงสรวงสมเด็จพระบุรพมหากษัตริยาธิราชเจ้า เนื่องในโอกาสสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี ณ ท่าราชวรดิฐ เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2525

9.ขบวนเรือพระราชพิธี แห่พระพุทธสิหิงค์ จากท่าวาสุกรี ณ สะพานพุทธฯ เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2525 โดยครั้งนี้ไม่ได้เสด็จพระราชดำเนิน

10.กระบวนพยุหยาตราทางชลมารค การเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวราราม เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2525

11.กระบวนพยุหยาตราทางชลมารค การเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน (5 รอบ 60 พรรษา) ณ วัดอรุณราชวราราม เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2530

12.กระบวนพยุหยาตราทางชลมารค การเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน ครองราชย์ 50 ปี ณ วัดอรุณราชวราราม เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2539

13.กระบวนพยุหยาตราทางชลมารค การเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน (6 รอบ 72 พรรษา) ณ วัดอรุณราชวราราม เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2542

14.ขบวนเรือพระราชพิธี (การแสดงทางวัฒนธรรม) จัดแสดงในการประชุมเอเปค 2003 ณ สะพานพุทธ เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2546 โดยครั้งนี้ไม่ได้เสด็จพระราชดำเนิน

15.ขบวนเรือพระราชพิธี ถวายทอดพระเนตร สมเด็จพระราชาธิบดี สมเด็จพระราชินีต่างประเทศ ในโอกาสครองราชย์ 60 ปี ณ อาคารราชนาวิกสภา เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2549 โดยครั้งนี้ไม่ได้เสด็จพระราชดำเนิน

16.ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค การเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน 80 พรรษา ณ วัดอรุณราชวราราม เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2550 ทั้งนี้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ครั้งดำรงพระราชอิสริยยศ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จฯ แทนพระองค์

17.ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค การเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน 7 รอบ 84 พรรษา ณ วัดอรุณราชวราราม เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2555 (ซึ่งเลื่อนจากวันที่ 22 ตุลาคม 2554) ทั้งนี้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ครั้งดำรงพระราชอิสริยยศ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จฯ แทนพระองค์

“ในอดีตนั้น เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ไม่ได้เทียบบัลลังก์กัญญา ในอดีตพระมหากษัตริย์จะประทับบนบุษบก ในคราวเสด็จของในหลวง รัชกาลที่ 9 ปี 2525 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นำบัลลังก์กัญญามาตั้งแทนบุษบก เนื่องจากทรงประทับค่อนข้างยาก และเมื่ออยู่บนเรือ เรือจะโคลงมาก รัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชดำรัสตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา เรือพระที่นั่งลำนี้จึงได้ทอดบัลลังก์กัญญาแทนบุษบกมาโดยตลอด มีเพียงคราวพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 เมื่อวันที่ 4-6 พฤษภาคมที่ผ่านมา ได้เชิญบุษบกเทียบบนเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์เพื่อเป็นเครื่องประกอบพระราชอิสริยยศในพระราชพิธีครั้งนี้ โดยได้เชิญตราสัญลักษณ์ประดิษฐานบนบุษบกด้วย” นาวาเอกไพฑูรย์กล่าว

โปรดเกล้าฯจัดขบวนเรือตามโบราณราชประเพณี

นาวาเอกไพฑูรย์ กล่าวอีกว่า สำหรับการจัดขบวนเรือพยุหยาตราทางชลมารคครั้งนี้ นับเป็นครั้งแรกในรัชกาลที่ 10 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กองทัพเรือจัดขบวนเรือตามโบราณราชประเพณี เส้นทางเสด็จฯ จากท่าวาสุกรี ไปยังท่าราชวรดิฐ ระยะทาง 3.4 กิโลเมตร

ขบวนเรือพระราชพิธีครั้งนี้ เป็นพยุหยาตราทางชลมารค (ใหญ่) ใช้เรือทั้งหมด 52 ลำ แบ่งเป็น 5 ริ้ว 3 สาย ยาว 1,200 เมตร กว้าง 90 เมตร ใช้กำลังพล 2,200 นาย ประกอบด้วย เรือพระที่นั่ง 4 ลำ เรือรูปสัตว์และเรือคู่ชัก 10 ลำ และเรือประกอบอื่นๆ 38 ลำ

 

 

เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ สร้างขึ้นใหม่ในปลายรัชกาลที่ 5 แล้วเสร็จในสมัยรัชกาลที่ 6 เมื่อปี 2454 โดยตั้งชื่อตามเรือพระที่นั่งโบราณ ของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิแห่งกรุงศรีอยุธยา คือ เรือศรีสุพรรณหงส์ หรือเรือพระที่นั่งชัยสุพรรณหงส์ ปัจจุบัน เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ มีอายุมากที่สุด อายุ 108 ปี

 

 

เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช สร้างขึ้นสมัยรัชกาลที่ 3 แต่เริ่มใช้ในกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค ในสมัยรัชกาลที่ 4 ปรากฏชื่อว่าเรือพระที่นั่งบัลลังก์อนันตนาคราช สำหรับเรือพระที่นั่งอนันตนาคราชลำปัจจุบัน สร้างขึ้นใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 6 และเริ่มใช้ครั้งแรกเมื่อวันที่ 14 เมษายน 2457 ปัจจุบันมีอายุ 87 ปี

เรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 ชื่อเรือมาจากคำภาษาสันสกฤตว่า อเนกะชาตะภุชงฺคะ แปลว่า งูหลากหลายชนิด ซึ่งสอดคล้องกับรูปโขนเรือที่ลงรักปิดทองมีลายรูปงูตัวเล็กๆ จำนวนมาก คำว่า ภุชงฺคะ ในภาษาสันสกฤตมีความหมายเดียวกับคำว่า นาคะ หรือ นาค ในภาษาไทย โดยนาคที่เป็นเทพหรือทิพยนาคเป็นตัวแทนแห่งพลังอำนาจ ความรอบรู้ และความอุดมสมบูรณ์ ปัจจุบันมีอายุ 53 ปี

 

 

เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9 สร้างน้อมเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เนื่องในพระราชพิธีกาญจนาภิเษก ปี 2539 นารายณ์ทรงสุบรรณ มีความหมายเดียวกับพระวิษณุทรงครุฑ เนื่องจาก นารายณะ (ไทยเรียก นารายณ์) เป็นพระนามหนึ่งของพระวิษณุ ส่วนสุบรรณ คือ ครุฑ หรือ พญาครุฑ พาหนะของพระวิษณุ ส่วนที่เติมสร้อย รัชกาลที่ 9 เพื่อสื่อให้ประจักษ์ว่า เรือลำนี้สร้างในสมัยรัชกาลที่ 9 เนื่องจากชื่อเรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณมีมาแล้วตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 โดยปัจจุบันมีอายุ 25 ปี

“การจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ทุกขั้นตอนการปฏิบัติงาน กองทัพเรือนำขึ้นถวายรายงานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หลายสิ่งหลายอย่างผ่านพระเนตรพระกรรณ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ ประทับเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ ขณะที่เรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ เป็นเรือพระที่นั่งสำรอง ที่ตามร่างหมายกำหนดการ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ 2 พระองค์ จะเสด็จประทับเรือพระที่นั่งดังกล่าว สำหรับเรือพระที่นั่งอนันตนาคราช จะอัญเชิญพระพุทธรูปสำคัญลงประดิษฐาน รวมทั้งมีข้าราชบริพารลงเรือ มีพระตำรวจหลวงลงเรือเป็นครั้งแรก และนับเป็นพระมหากรุณาธิคุณ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเน้นย้ำไม่ให้ประชาชนเดือดร้อน ขบวนเรือครั้งนี้ จึงเป็นครั้งแรกที่ไม่ได้ประสานให้กรมชลประทานผันน้ำลงจากภาคเหนือเพื่อลดความแรงของกระแสน้ำขึ้นในขณะมีขบวนเรือฯ แต่จะเปลี่ยนเป็นการผันน้ำจากประตูน้ำ 12 บาน เพื่อลดกระแสความแรงของน้ำ ซึ่งจะไม่ทำให้ประชาชนเดือดร้อน” นาวาเอกไพฑูรย์กล่าว


“บทเห่เรือ”เสด็จฯเลียบพระนคร รัชกาลที่ 10

กองทัพเรือ ได้เผยแพร่บทเห่เรือในงานพระราชพิธีเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค เนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ 3 บท คือ 1.บทสรรเสริญพระบารมี 2.บทชมเรือ และ 3.บทชมเมือง ประพันธ์โดย นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย ข้าราชการบำนาญกองทัพเรือ


บทสรรเสริญพระบารมี

๏ พระ-ไตรรัตนะแผ้ว เผด็จมาร

บรม-ทิพย์โสฬสสถาน เทพถ้วน

ราชา-ธิราชบุราณ บุรพกษัตริย์

ภิเษก-เสกสรรพพรล้วน หลั่งฟ้ามาถวาย


๑-๏ พระเอย พระผ่านฟ้า พระบุญญาพระบารมี

สืบทรงวงศ์จักรี ให้เปรมปรีดิ์ทุกปวงชน


๒-๏ ดั่งรุ่งอรุณเริ่ม แสงสุขเสริมสืบนุสนธิ์

สว่างสร่างกังวล ผุดผ่องพ้นผ่านผองภัย


๓-๏ พระเอย พระผ่านเผ้า ที่โศกเศร้าค่อยสดใส

คนท้อขอถอดใจ ค่อยฟื้นไข้ขึ้นครามครัน


๔-๏ ทรงธรรมปานน้ำทิพย์ เทพไทหยิบหยาดสวรรค์

ชุ่มชื่นชุบชีวัน เป็นมิ่งขวัญแห่งชีวา


๕-๏ พระเอย พระผ่านพิภพ สุขสงบงามสง่า

ปานเพชรเก็จก่องนภา ประดับฟ้าประดับไทย


๖-๏ เดชะพระบารมี วงศ์จักรีจึงเกริกไกร

ทวีโชคทวีชัย ทวีสุขทุกวารวัน


๗-๏ พระเอย พระผ่านเมือง ไทยประเทืองประทับขวัญ

ปวงบุญแต่ปางบรรพ์ พระทรงธรรม์จึงทรงไทย


๘-๏ ทรงศีลทั้งทรงสัตย์ จึงทรงฉัตรจึงทรงชัย

บัวบุญจึงเบ่งใบ อุบลบานบนธารธรรม


๙-๏ พระเอย พระผ่านเกล้า ทุกค่ำเช้าไทยชื่นฉ่ำ

พระมหากรุณานำ คือน้ำทิพย์ลิบโลมดิน


๑๐-๏ พระทศมินทร์ปานปิ่นเพชร จึงสำเร็จเด็จไพรินทร์

ฟื้นฟ้าฟื้นธานินทร์ จงภิญโญยิ่งโอฬาร


๑๑-๏ พระเอย พระผ่านฟ้า พระเดชาจงฉายฉาน

แม้นมีมวลหมู่มาร จุ่งมอดม้วยด้วยพระบารมี


๑๒-๏ หมู่มิตรจงมั่นคง น้ำจิตตรงเต็มไมตรี

ไพร่ฟ้าประชาชี สามัคคีอยู่มั่นคง


๑๓-๏ เดชะพระไตรรัตน์ ทั้งศีลสัตย์สร้างเสริมส่ง

พระบารมีจักรีวงศ์ ทุกพระองค์เป็นธงชัย


๑๔-๏ แรงรักแห่งทวยราษฎร์ หลอมรวมชาติสืบศาสน์สมัย

ร้อยถ้อยร้อยดวงใจ ถวายไท้องค์ทศมินทร์


๑๕-๏ ขอจงทรงพระเกษม เอิบอิ่มเอมดั่งองค์อินทร์

พระกมลหมดมลทิน ผ่องโสภินดั่งเพชรพราย


๑๖-๏ ปรารถนาสารพัด สมพระมนัสที่ทรงหมาย

สุขทวีมิมีวาย พระบรมวงศ์ทรงพร้อมเพรียง


๑๗-๏ พระบารมีที่ทรงสร้าง ไป่โรยร้างรุ่งเรืองเรียง

บำรุงรัฐวัดวังเวียง จักรีวงศ์ทรงพระเจริญ-เทอญ

ข่าวจาก : มติชนออนไลน์

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: