คุรุสภาซัด มหา’ลัยผลิตครู “ล้น-ขาดคุณภาพ” จี้กระทรวงอุดมฯคุมผลิตแม่พิมพ์ระบบปิด





เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม นางวัฒนาพร ระงับทุกข์ รองเลขาธิการสภาการศึกษา ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการคุรุสภา เปิดเผยว่า จากที่มีกระแสข่าวว่าในปีการศึกษา 2562 สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จะไม่จัดสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย เนื่องจากรายชื่อตกค้างในบัญชีจากปีก่อน ยังมีมากพอจะทยอยเรียกบรรจุได้ถึงปีการศึกษา 2563 เท่ากับนิสิตนักศึกษาที่เรียนจบหลักสูตรครุศาสตร์และศึกษาศาสตร์ ในปีการศึกษา 2562 และปีการศึกษา 2563 ส่อโดนลอยแพ และต้องไปสอบบรรจุในปีการศึกษา 2564 พร้อมกัน ซึ่งจะทำให้มีบัณฑิตที่จบหลักสูตรครุศาสตร์ และศึกษาศาสตร์ ตกค้างกว่า 100,000 คน ขณะที่ในส่วนของมหาวิทยาลัยผู้ผลิต เรียกร้องให้สพฐ. ออกมาชี้แจง เนื่องจากยังมีอัตราเกษียณอายุราชการที่ได้รับคืนจากคณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังคนภาครัฐ (คปร.) เหลืออีกกว่า 2.6 หมื่นอัตรานั้น เท่าที่ทราบเรื่องนี้ยังไม่ได้มีการประกาศอย่างชัดเจน ทางสถาบันผลิตครูอาจจะร้อนใจ เนื่องจากมีบัณฑิตจบออกมาและรอสอบบรรจุ ขณะที่ปีหน้า ก็จะมีเด็กจบใหม่ออกมาสมทบอีก กลายเป็นอัตราการผลิตสูงขณะที่ความต้องการใช้ครูมีไม่มาก อีกทั้งจำนวนนักเรียนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานก็จะลดลงทุกปี โรงเรียนก็มีขนาดเล็กลง ซึ่งคปร. จะกำหนดกรอบคืนอัตราเกษียณ โดยคำนวณจากอัตราส่วนระหว่างครูกับนักเรียน ไม่ได้ขึ้นอยู่กับศธ.

นางวัฒนาพร กล่าวต่อว่า ส่วนกรณีที่มีการเรียกร้องให้ สพฐ. สถาบันผลิตครูและคุรุสภา วางแผนผลิตครูให้สอดคล้องกับจำนวนการใช้นั้น ในส่วนของคุรุสภาดูแลอยู่ 3 เรื่องคือ มาตรฐานหลักสูตร อย่างแรกพิจารณารายละเอียดเนื้อหา ของรายวิชาในหลักสูตรว่าสอดคล้องกับมาตรฐานวิชาชีพครูที่คุรุสภากำหนดหรือไม่ 2.มาตรฐานการผลิตเกี่ยวกับเงื่อนไขหลักเกณฑ์การคัดเลือกผู้เข้าเรียน แผนการรับนักศึกษา ซึ่งสถาบันผู้ผลิต เป็นผู้เสนอ โดยการอนุมัติจากสภามหาวิทยาลัย และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.) ว่าจะผลิตจำนวนเท่าไร ตามหลักเกณฑ์ที่คุรุสภากำหนด และ3.บัณฑิตผู้ที่เข้าศึกษาตั้งแต่ปีการศึกษา 2562 จะต้องผ่านการทดสอบเพื่อขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู

ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการคุรุสภา กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ในการดูแผนการผลิต คุรุสภาไม่ได้ไปกำหนดจำนวนให้ แต่คุรุสภาจะดูจากจำนวนที่อว. รับรองในแต่ละสาขา แผนจึงเป็นอิสระของมหาวิทยาลัย ขณะที่ในส่วนของสพฐ. มีตัวเลขอัตราเกษียณอยู่แล้ว และสถาบันผู้ผลิตจะต้องนำตัวเลขดังกล่าวไปวิเคราะห์ว่าควรจะผลิตเท่าไร เรื่องนี้ตนคิดว่าสถาบันผลิตครูจะต้องคุยกัน แต่ที่ผ่านมามหาวิทยาลัยมีอิสระ มหาวิทายาลัยใดมีศักยภาพเท่าไร ก็ผลิตตามศักยภาพที่ตัวเองทำได้

“สาขาครู เปิดสอนได้ง่าย พอเปิดง่ายก็รับง่าย ทำให้การกำหนดจำนวนไม่สอดคล้องกับผู้ใช้ ควบคุมการผลิตได้ยาก ที่ผ่านมาผลิตออกมาปีละ 40,000 -50,000 คน แล้วใช้แค่ 20,000 คนต่อปี มีส่วนเกินเพิ่มขึ้นทุกปี ส่งผลให้บางปีมีผู้สมัครสอบครูผู้ช่วยเป็นแสนคน เพราะจำนวนการผลิตเกินความต้องการ ตรงนี้ต้องหารือว่าจริง ๆ แล้วใครต้องรับผิดชอบ มหาวิทยาลัยและอว. ต้องมีนโยบายที่ชัดเจน ทำอย่างไรจำนวนการผลิตจึงจะสมดุลกับการใช้ และทำอย่างไรจึงจะผลิตได้มีคุณภาพ เพราะที่ผ่านมามีผู้สอบผ่านและได้รับการบรรจุไม่ถึง 10,000 คน โดยเมื่อเร็ว ๆ นี้นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการอว. ได้หารือกับสถาบันการผลิตครูแล้ว และมีข้อเสนอให้ผลิตครูในระบบปิด อย่างเช่นในโครงการผลิตครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่น โดยเลือกมหาวิทยาลัยที่มีความเชี่ยวชาญ อาจจะเริ่มที่ระบบปิด 50% เพราะยังมีบางสถาบันที่ต้องเปิดรับอยู่ และค่อยๆ ทยอยเพิ่มขึ้นซึ่งส่วนนี้ แต่ละมหาวิทยาลัยก็ต้องไปตกลงกัน ภายใต้ข้อแม้ว่าผู้ที่จบออกมาจะต้องสอบเพื่อขอรับใบอนุญาตฯ ซึ่งทางรัฐมนตรีว่าการอว. ก็ให้มหาวิทยาลัยไปเตรียมแผน ซึ่งทางมหาวิทยาลัยก็ยินยอมและให้ความร่วมมือ” นางวัฒนาพร กล่าว

ข่าวจาก มติชนออนไลน์

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: