เพจ Patani NOTES เขียนบทความย้อนรำลึกเหตุการณ์ 15 ปีโศกนาฏกรรมตากใบ “บทเรียนที่มีคนตาย แต่ไม่มีใครถูกลงโทษ” เป็นการย้อนเหตุการณ์ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตในวันนั้นถึง 85 ราย ซึ่งศาลสงขลามีข้อสรุปว่าผู้ชุมนุมเสียชีวิต “เพราะขาดอากาศหายใจ”
หากถามว่าเหตุการณ์โศกนาฏกรรมตากใบ อะไรคือความเลวร้ายที่สุด แน่นอนหลายคนคงนึกถึงเรื่องที่มีคนตายและการปฏิบัติที่ไม่คำนึงถึงความเป็นมนุษย์ต่อประชาชน
แต่สิ่งที่อาจจะเลวร้ายที่สุด มันไม่ใช่แค่การทำให้คนตาย แต่มันคือการทำให้คนตายแต่ในที่สุดไม่มีใครถูกลงโทษ มันตอกย้ำคำพูดที่ว่า เรามีวัฒนธรรมของการละเว้นโทษ และขณะที่คนตายคือความสูญเสียของครอบครัว แต่การละเว้นไม่ลงโทษมันคือความสูญเสียของสังคม สูญเสียโอกาสในอันที่จะพิสูจน์ศักยภาพของรัฐ และสูญเสียโอกาสในอันที่จะสร้างความปรองดองในสังคม
ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547 ตรงกับเดือนรอมฎอนซึ่งมุสลิมต้องถือศีลอดในวันนั้น ณ ที่อำเภอตากใบ มีการชุมนุมของประชาชนที่หน้าสถานีตำรวจตากใบเพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัวเจ้าหน้าที่ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้านจำนวน 6 คนที่ถูกควบคุมตัว นอกจากกลุ่มผู้ชุมนุมแล้ว ก็ยังมีชาวบ้านอีกจำนวนมากที่ไปมุงดู รวมแล้วมีคนอยู่ในพื้นที่บริเวณนั้นกว่าพันคน
การชุมนุมของประชาชนไม่ว่าจะกระทำด้วยเหตุผลอันใดก็ตาม ปัญหาสำคัญของเจ้าหน้าที่ยังคงอยู่ที่การจัดการสลายการชุมนุมให้เป็นไปอย่างราบรื่นและอย่างสงบ วันนั้นเจ้าหน้าที่ได้สนธิกำลังสลายการชุมนุม มีการปิดล้อม ยิงแก๊สน้ำตา มีผู้เสียชีวิตทันทีในระหว่างการสลายการชุมนุม มีการจับกุมกลุ่มผู้เข้าร่วมซึ่งถูกแยกออกจากกันระหว่างหญิงและชาย ผู้ชายถูกบังคับให้นอนหมอบ ถอดเสื้อ ถูกมัดมือไขว้หลัง เจ้าหน้าที่จับผู้ชุมนุมกว่า 1,370 คน สั่งให้พวกเขาขึ้นรถ บ้างถูกจับใส่รถยีเอ็มซีในลักษณะให้นอนคว่ำซ้อนทับกันเป็นชั้น บางคันมีถึง 4-5 ชั้น เพื่อจะนำไปคุมตัวที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร
การเดินทางจากสถานีตำรวจตากใบไปยังค่ายอิงคยุทธบริหารที่มีระยะทาง 150 กิโลเมตรใช้เวลาร่วม 6 ชั่วโมง ในสภาพเช่นนั้น กว่าจะไปถึงหลายคนได้ขาดใจตายเสียก่อน รวมแล้วมีผู้เสียชีวิตในระหว่างการขนส่ง 78 คน ตายในระหว่างการสลายการชุมนุมอีก 6 และไปตายที่โรงพยาบาลอีก 1 รวมทั้งหมด 85 คน ส่วนที่รอดชีวิต จำนวนหนึ่งก็กลายเป็นคนพิการหรือกึ่งพิการไปจากการที่กล้ามเนื้อและอวัยวะภายในถูกกดทับเป็นเวลานาน
หลังเหตุการณ์ ยังมีผู้ชุมนุม 59 คนถูกฟ้องร้องในข้อหาที่ร้ายแรงในเรื่องของการมั่วสุม ใช้กำลังประทุษร้ายและขู่เข็ญว่าจะประทุษร้าย ซึ่งต่อมาในปี 2549 อัยการได้ถอนฟ้องไป
หากว่าตากใบ คือ ความผิดพลาด โอกาสแรกและโอกาสสำคัญในอันที่จะแก้ไขความผิดพลาดอันนั้นอยู่ที่กระบวนการยุติธรรม แต่เส้นทางสำหรับความยุติธรรมสำหรับผู้เสียชีวิตทั้งหมดนั้นไม่ทะลุดังที่เรารู้กัน หลังเหตุการณ์ผ่านไป 5 ปี ศาลสงขลามีข้อสรุปในการไต่สวนสาเหตุการตายว่า ผู้ชุมนุมเสียชีวิตเพราะ “ขาดอากาศหายใจ” ซึ่งเกิดขึ้นในระหว่างการควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่
“ต้องบอกว่านี่เป็นอีกครั้งที่สังคมไทยพลาดโอกาสในอันที่จะสร้างความปรองดองอย่างสำคัญ”
ก่อนหน้าเหตุการณ์ตากใบ ปฏิเสธไม่ได้ว่าในสังคมพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้หรือปาตานีเต็มไปด้วยเรื่องเล่าที่สะท้อนสิ่งที่เรียกว่าประวัติศาสตร์บาดแผล ซึ่งหากว่ากันตามจริง สำหรับผู้คนร่วมสมัย เหตุการณ์ตากใบก็คือรูปธรรมที่มายืนยันเรื่องเล่าจำนวนมากจากประวัติศาสตร์บาดแผล ที่เดิมทีแล้วสำหรับหลายๆ คน เรื่องเล่าเหล่านั้นอาจเป็นแค่เพียงมุขปาฐะ แม้ว่ามันจะทำให้เห็นร่องรอยลึกๆ ของปัญหาจากในอดีต ทว่ามันได้อยู่ในสภาพที่นอนก้นอยู่ในมุมลึกมาเนิ่นนาน หลายคนพร้อมจะลืมหากไม่มีอะไรไปเขย่าหรือกวนให้มันขุ่นขึ้นมาอีก
แต่เหตุการณ์ตากใบ ได้กลับกลายเป็นชนวนที่ทำให้คนรุ่นใหม่ร่วมสมัยสามารถเชื่อมโยงความรู้สึกของพวกเขาเข้ากับเรื่องเล่าเหล่านั้นได้อย่างมีความ “อิน” เรื่องเล่าของสงครามปาตานีกับสยาม เรื่องราวการจับชาวปาตานีเป็นเชลยศึกและกระทำต่อเชลยด้วยวิธีที่แม้ทุกวันนี้ก็ยังมีนักวิชาการนำถกเถียงกันว่าเป็นไปได้หรือไม่ เรื่องราวเหล่านี้แม้จะมีบันทึก มีการเสวนาวิชาการ มีเวทีถกเถียงมากมาย แต่น้อยคนนักที่จะ “อิน” หรือรู้สึกเข้าถึงได้เพราะเป็นสิ่งที่ผ่านมาเนิ่นนานแล้ว ในขณะที่เหตุการณ์ตากใบนั้นพวกเขาได้ “เห็น” ของจริง ไม่ว่าในเรื่องของความตาย หรือในเรื่องของกระบวนการยุติธรรมที่ไม่ทะลุ สองสิ่งนี้ต่างหากคือสิ่งที่คนรุ่นใหม่ร่วมสมัยตากใบสามารถจับต้องได้ และมันมีส่วนเขย่าความเชื่อมั่นของพวกเขาที่มีต่อระบบ จะในระดับมากน้อยต่างกันไปแล้วแต่บุคคล
ในช่วงตลอดเวลา 15 ปีที่ผ่านมา มีความพยายามเตือนความทรงจำต่อเหตุการณ์ตากใบผ่านกิจกรรมต่างๆ ทั้งในส่วนของภาคประชาสังคมและประชาชน เช่น การร่วมละหมาดฮายัต การอ่านดุอาให้แก่ผู้ที่เสียชีวิต การเยี่ยมเยียนหลุมฝังศพของคนที่ตายที่ตากใบ มีกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ของนักกิจกรรมและนักศึกษา คนเหล่านี้มิได้พยายามกวนน้ำให้ขุ่นดังที่มีบางฝ่ายพยายามกล่าวหา เพราะว่าอันที่จริงแล้วนั้นน้ำได้ “ขุ่น” ขึ้นมาแล้วเพราะความตาย 85 ศพ
การจัดงานทั้งหลายเหล่านี้แม้จะเป็นเพียงการรำลึก แต่ก็ถือได้ว่าเป็นการแสดงออกของสังคมที่ยังต้องการความเป็นธรรมให้กับกรณีตากใบ อาจกล่าวได้ว่างานรำลึกต่างๆ เหล่านี้ได้กลายไปเป็นเสมือนอนุสาวรีย์ในจินตนาการสำหรับการถูกกระทำในเหตุการณ์ตากใบ ในท่ามกลางความเงียบงันของระบบที่ปล่อยให้ความตายเกิดขึ้นและผ่านไป ตากใบในจินตนาการ มันจึงเป็นอนุสาวรีย์ที่เป็นสัญลักษณ์ของความเชื่อมั่นที่ถูกสั่นคลอน
“มันเป็นผลลัพธ์ของการมีวัฒนธรรมการลอยนวลพ้นผิดที่ไม่มีใครหาญกล้าแก้ปัญหาที่ต้นตอ”
ขอบคุณข้อมูลจาก Patani NOTES
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ