เมื่อวันที่ 27 ต.ค. ผศ.ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล เปิดเผยผลสำรวจภาคสนาม เรื่อง คนคิดอย่างไรถ้าอนาคตใหม่ถูกยุบ กรณีศึกษาประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 1,097 ตัวอย่าง พบว่าประชาชนทุกกลุ่มทั้งเพศและช่วงอายุส่วนใหญ่รู้สึกเฉยๆ ถ้าพรรคอนาคตใหม่ถูกยุบ โดยส่วนใหญ่หรือร้อยละ 77.4 รู้สึกเฉยๆ ถ้าพรรคอนาคตใหม่ถูกยุบ ในขณะที่ร้อยละ 10.5 ระบุมีผลดี และร้อยละ 12.1 มีผลเสีย
เมื่อจำแนกตามเพศ พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 74.0 ของเพศชายและร้อยละ 79.8 ของเพศหญิงรู้สึกเฉยๆ ถ้าพรรคอนาคตใหม่ถูกยุบ ที่น่าสนใจคือ แม้ในกลุ่มคนที่อายุต่ำกว่า 20 ปีส่วนใหญ่หรือร้อยละ 81.8 ซึ่งเป็นสัดส่วนที่สูงเป็นอันดับสองรองจากคนช่วงอายุ 40-49 ปีร้อยละ 83.1 ที่รู้สึกเฉยๆ ถ้าพรรคอนาคตใหม่ถูกยุบ
อย่างไรก็ตาม คนที่อายุสูงขึ้นมีสัดส่วนของคนที่เห็นว่าจะมีผลเสียลดลง คือ คนอายุ 30–39 ปีร้อยละ 11.5 คนอายุ 40–49 ปีร้อยละ 7.1 และคนอายุ 50 ปีขึ้นไป ร้อยละ 5.2 ที่ระบุจะมีผลเสียถ้าพรรคอนาคตใหม่ถูกยุบตามลำดับ
ที่น่าพิจารณาคือ ประชาชนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 71.9 ระบุสิ่งที่คนไทยควรได้รับการปลูกฝังและส่งเสริม คือ ทัศนคติที่ดี รองลงมาคือร้อยละ 54.4 ระบุการศึกษาที่ดี ร้อยละ 50.3 ระบุเป็นพลเมืองที่ดี ร้อยละ 36.9 ระบุมีงานทำที่ดี และ ร้อยละ 21.8 ระบุ อื่นๆ เช่น วินัย ค่านิยม 12 ประการ จิตสำนึก และความเท่าเทียม เป็นต้น
ผศ.ดร.นพดล กล่าวต่อว่า จากการสัมภาษณ์เจาะลึกเชิงคุณภาพต่อกรณีประชาชนรู้สึกเฉยๆ ถ้าพรรคอนาคตใหม่ถูกยุบ พบว่า พรรคไหนถูกยุบตอนนี้จะรู้สึกเฉยๆ เพราะไม่เกี่ยวข้องอะไรกับชีวิตความเป็นอยู่และความเดือดร้อนที่กำลังเจอ นักการเมืองก็เหมือนๆ กัน แย่ด้วยกันทั้งสองฝ่าย ต้องการให้นักการเมืองเร่งแก้ปัญหาเดือดร้อนของประชาชนที่เงินกำลังขาดมือ ทำมาหากินขัดสน ถ้าพรรคไหนทำงานดีช่วยเหลือประชาชนไม่ซ้ำเติมแต่มาถูกยุบก็จะทำให้ประชาชนทุกข์หนัก และเกิดผลเสียมากกว่า ตอนนี้อะไรจะเกิดก็ให้เกิด เพราะรู้สึกผิดหวังกับการเมืองที่คิดว่าหลังเลือกตั้งจะดีขึ้นแต่กลับแย่ลง.
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ