ประธานสภา ฯ เผยเหตุรัฐเปลี่ยนรูปแบบการจ้างเป็นลูกจ้างเหมาทำของ กระทบสิทธิสวัสดิการ ไม่มีแม้ประกันสังคมทั้งที่มีนายจ้าง ทางออกต้องมีกฎหมาย รองรับกรณีถูกปรับเป็นลูกจ้างเหมาบริการแล้ว
หลังจากลุ่มลูกจ้างธุรการ ซึ่งเป็นสายสนับสนุนปฏิบัติงานในสถานศึกษา และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จำนวน 77,568 คน นำโดยสมาพันธ์เจ้าหน้าที่ธุรการโรงเรียนแห่งประเทศไทยเรียกร้องการจ้างงานที่มั่นคง โดยทางสมาพันธ์ฯ เตรียมหารือคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 ถึงการขอเปลี่ยนจากการใช้งบประมาณดำเนินงานจ้างบุคลากร มาเป็นงบบุคลากรในการจ้างงานโดยตรง เพื่อไม่เสี่ยงถูกจ้างไม่เป็นธรรม ขณะเดียวกันสนับสนุนให้มีการผลักดันกฎหมายให้สิทธิสวัสดิการลูกจ้างเหมาบริการ เพราะเป็นกลุ่มที่มีนายจ้างเช่นกัน แต่กลับไม่ได้สิทธิสวัสดิการใดๆทั้งสิ้น
ความคืบหน้าวันที่ 27 ต.ค.2562 นายมนัส โกศล ประธานสภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย กล่าวว่า กรณีที่เกิดขึ้นทำให้ชัดเจนว่า รัฐหันมาเปลี่ยนรูปแบบการจ้าง ซึ่งเป็นการแปรงบพัสดุ หรืองบดำเนินงานมาจ้างบุคลากร ทำให้รูปแบบการจ้างเป็นการจ้างเหมาบริการ หรือจ้างทำของ กลายเป็นช่องโหว่ไม่เข้าเกณฑ์คุ้มครองของกฎหมายคุ้มครองแรงงาน กฎหมายเงินทดแทน และกฎหมายประกันสังคม ทำให้ขาดสิทธิสวัสดิการ สิทธิประโยชน์ต่างๆ เหล่านี้ไป จริงๆปัญหานี้มีมานานมาก ไม่ใช่แค่ของกระทรวงศึกษาธิการ แต่ยังมีในกระทรวงต่างๆ อีกกว่า 4 แสนคนทั่วประเทศ
นายมนัส กล่าวอีกว่า อย่างที่เห็นชัดเจน คือ กลุ่มลูกจ้างเหมาบริการ หรือเหมาทำของ หากถูกเลิกจ้างจะไม่ได้รับเงินตามพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฉบับใหม่ที่ประกาศใช้เมื่อปี 2561 ที่ผ่านมา ที่หากลูกจ้างถูกเลิกจ้างจะได้รับเงินชดเชยเพิ่มเป็น 6 อัตรา จาก 5 อัตรา คือ อัตราที่ 1 ลูกจ้างที่ทำงานมาครบ 120 วัน แต่ไม่ครบ 1 ปีได้ค่าขดเชย 30 วัน อัตราที่ 2 ลูกจ้างหากทำงานครบ 1 ปีแต่ไม่ครบ 3 ปี ได้ค่าชดเชย 90 วัน อัตราที่ 3 ลูกจ้างทำงานครบ 3 ปีแต่ไม่ครบ 6 ปีจะได้รับเงินชดเชย 180 วัน อัตราที่ 4 ทำงานครบ 6 ปี แต่ไม่ครบ 10 ปี ได้รับเงินชดเชย 240 วัน อัตราที่ 5 ลูกจ้างทำงานครบ 10 ปี แต่ไม่ครบ 20 ปี ได้เงินชดเชย 300 วัน และอัตราที่ 6 ลูกจ้างทำงานครบ 20 ปีขึ้นไปจะได้รับเงินชดเชย 400 วัน แต่ตรงนี้กลุ่มลูกจ้างเหมาจะไม่ได้รับสิทธิเลย รวมทั้งสิทธิประกันสังคมก็ไม่ได้อีก
นายมนัส กล่าวอีกว่า จริงๆ การจ้างงานส่วนราชมีหลายประเภท แต่ละประเภทสภาพการจ้างจะแตกต่างกัน โดยหลัก คือ 1. ข้าราชการ ซึ่งมีอยู่ประมาณ 1,300,000คน 2.ลูกจ้างประจำ มีอยู่ประมาณ 2,000,000 คน 3.พนักงานราชการ,ลูกจ้างที่มีสัญญาจ้างแรงงาน เช่น จ้างตามภาระกิจ ตามมติ ครม.ลูกจ้างชั่วคราว ที่เป็นสัญญาจ้างแรงงาน รวมประมาณ 700,000คน กลุ่มนี้มีระบบประกันสังคม ล่าสุดมีการขับเคลื่อนจนได้เพิ่มได้สิทธิประโยชน์เงินทดแทน ตามกฎหมายเงินทดแทน(ฉบับที่2) เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2561 4.ลูกจ้างเหมาบริการ มีประมาณ 400,000คนทั่วประเทศ ไม่มีอะไรเลย มีแต่ค่าจ้าง
“เรื่องนี้ต้องแก้ปัญหาด้วยการแก้ไขกฎหมาย โดยเฉพาะในกลุ่มลูกจ้างเหมาบริการ เพราะไม่ได้สิทธิอะไรเลย และเราก็ไม่รู้ว่าในอนาคตลูกจ้างชั่วคราวจะถูกปรับสถานะเมื่อไหร่ ดังนั้น เราต้องให้ลูกจ้างเหมาบริการเข้ามาอยู่ภายใต้ความคุ้มครองของกฎหมาย เพื่อให้ได้รับสิทธิประโยชน์ เพราะเราไม่รู้ว่าในอนาคตจะมีลูกจ้างเหมาเพิ่มขึ้นอีกเท่าไหร่ ดังนั้น สภาองค์การลูกจ้างฯ จะมีการรวบรวมรายชื่อกว่า 10,000 รายชื่อ เพื่อเสนอต่อสภาฯ ในการเสนอร่างกฎหมายสำหรับให้สิทธิลูกจ้างกลุ่มนี้ และในวันที่ 30 ตุลาคม ตั้งแต่เวลา 13.30 น. ผมจะประชุมร่วมกับกรรมาธิการแรงงาน ที่รัฐสภาเกี่ยวกับประเด็นการจ้างเหมาด้วย” นายมนัส กล่าว
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ