วันที่ 29 ต.ค.2562 นายมนัส โกศล ประธานสภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีนี้ว่า สถานการณ์แรงงานไทยไม่ดีขึ้น เห็นได้จากช่วงที่ผ่านมามีทั้ง “เลิกจ้าง” “เออร์รี่ รีไทร์” และการมาใช้ มาตรา 75 พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2551 ในเรื่องให้สิทธินายจ้างหยุดกิจการระหว่างไม่มีคำสั่งซื้อสินค้า แต่ต้องจ่ายเงินให้แก่ลูกจ้างในระหว่างรอหยุดกิจการชั่วคราวไม่น้อยกว่าอัตราร้อยละ75 ซึ่งกรณีแบบนี้น่าจะพบเห็นเรื่อยๆ แต่ปัญหาคือ กังวลว่า จะมีการเลิกจ้างในที่สุด เพราะหลายอุตสาหกรรมไม่สามารถอุ้มกิจการให้เดินต่อไปได้
นายมนัส กล่าวว่า ช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2562 บางสถานประกอบการจะใช้มาตรา 75 พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2551 ที่กำหนดให้มีการจ่ายชดเชยไม่น้อยกว่า ร้อยละ 75 ให้กับลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบว่างงาน บางแห่งใช้นาน 6 เดือน บางแห่งใช้ 2 เดือน และบางแห่งก็ประกาศอย่างเป็นทางการ บางแห่งประกาศเป็นการภายใน ซึ่งถ้าเทียบระหว่างปี 2561 กับปี 2562 ถือว่าปีนี้มีการใช้มาตรา 75 มากกว่าปีที่แล้วถึงร้อยละ 40 อย่างไรก็ตาม ปัญหาของการใช้มาตรา 75 เพราะต้องการจะรอออเดอร์เข้ามา ถ้าไม่มีก็คือต้องเลิกจ้าง แล้วถ้าไม่มีออเดอร์ต่อก็ปิดกิจการ ซึ่งเกิดขึ้นแล้ว แต่อาจจะไม่ได้เป็นข่าว บางโรงงานแรงงานก็สมัครใจลาออก และได้รับค่าชดเชยมากกว่ากฎหมายกำหนด ตัวเลขว่างงานเลยไม่มีการขยับขึ้น
“จากการติดตามการใช้สิทธิรับเงินชดเชยกรณีว่างงาน พบว่ามีเงินกองทุนที่มีอยู่ประมาณเกือบ 2 แสนล้านบาท ไม่มีการไหลออกเลย ก็ไม่รู้ทำไมคนว่างงานถึงไม่ไปใช้สิทธิรับเงินทดแทนการว่างงานตรงนี้ กรณีเลิกจ้างจะได้ชดเชยร้อยละ 50 ของเงินเดือนติดต่อกันนาน 6 เดือน ถ้าลาออกจะได้ ร้อยละ 30 นาน 3 เดือน เป็นต้น ดังนั้นตนพยายามตามเรื่องเดิมที่เคยยื่นต่อม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล รมว.แรงงาน ให้ดำเนินการแก้ไขเรื่องการจ่ายชดเชยทุกกรณีว่างงานต้องจ่ายให้ร้อยละ 75 ของเงินเดือน เพราะต่อให้คนที่ถูกไล่ออก เขาก็ยังเป็นคนที่ส่งเงินสมทบอยู่ ถ้าให้แค่ร้อยละ 30 เท่ากับว่าเขาไม่ได้ใช้เงินที่เขาสมทบมาเลย” นายมนัส กล่าว
นายมนัส กล่าวอีกว่า กลุ่มที่มีการใช้มาตรา 75 มากสุดคือกลุ่มยานยนต์ แล้วกรณีสมัครใจลาออกก็เป็นกลุ่มยานยนต์ ส่วนกลุ่มสิ่งทอนั้นเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2561 แล้ว นอกจากนี้ยังมีกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ ด้วยตอนนี้เรื่องการปิดกิจการถาวรก็มี แต่ยังไม่เห็นตัวเลขชัดเจน ส่วนสถานการณ์ปี 2563 ตนยังไม่มีตัวเลขในมือ แต่ในเครือสภาพัฒน์ที่ตนดูอยู่นั้นไม่มีการปิดกิจการ แต่กลุ่มอื่นๆ ต้องดูตัวเลขส่วนกลาง เพราะไม่มั่นใจว่าที่มีปัญหาจากสหรัฐอเมริกาตัดจีเอสพีนั้นจะรวนมาถึงปี 2563 หรือไม่ หากรัฐบาลแก้เกมไม่ได้ แต่แน่นอนที่สุดเรามองดูจีนว่าเป็นคู่ค้ารายใหญ่ของไทย ใหญ่กว่าอเมริกา โดยเฉพาะกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ทุนใหญ่ของจีน 1 ใน 3 อยู่ที่ประเทศไทย หากจีนกับอเมริกามีปัญหามากขึ้น จีนอาจจะมีการย้ายฐานการผลิตบางส่วนที่อเมริกามาอยู่ที่ไทยก็ได้ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นก็จะทำให้เกิดการจ้างงานในประเทศไทยมากขึ้น สิ่งสำคัญ สภาฯ จะผลักดันให้มีการปรับเพิ่มอัตราเงินทดแทนว่างงานทุกกรณีต้องจ่าย 75%ของค่าจ้าง
อนึ่ง ปัจจุบันการจ่ายเงินกรณีว่างงาน จะแบ่งเป็น 1.กรณีถูกเลิกจ้าง ลูกจ้างจะได้รับเงินทดแทนในระหว่างการว่างงาน 50% ของค่าจ้าง ครั้งละไม่เกิน 180 วัน 2.กรณีลาออกหรือสิ้นสุดสัญญาจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอน ลูกจ้างได้รับเงินทดแทนในระหว่างการว่างงาน 30% ของค่าจ้าง ครั้งละไม่เกิน 90 วัน และ3.กรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัย ซึ่งมีผลกระทบต่อสาธารณชนและถึงขนาดผู้ประกันตนไม่สามารถทำงานได้หรือนายจ้างไม่สามารถประกอบกิจการได้ตามปกติได้รับเงินทดแทน ลูกจ้างจะได้รับเงินทดแทน 50% ของค่าจ้าง ครั้งละไม่เกิน 180 วัน
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ