ประธานศาลอุทธรณ์ วินิจฉัยคดีฟ้อง 7 กกต.ปฏิบัติหน้าที่มิชอบ รับรองคุณสมบัติ “บิ๊กตู่” เป็นนายกฯ อยู่ในอำนาจศาลอาญาทุจริตฯ ถือเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา สั่งรับคดีไว้ตรวจฟ้อง ชี้เป็นบรรทัดฐาน ประชาชนใช้สิทธิฟ้ององค์กรอิสระได้
เมื่อวันที่ 30 ต.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ศาลอาญาคดีทุจริตเเละประพฤติมิชอบกลาง ศาลอ่านคำวินิจฉัยของประธานศาลอุทธรณ์ (นางอุบลรัตน์ ลุยวิกัย ในขณะนั้น ) วท. 12/2562 ที่มีคำวินิจฉัยลงวันที่ 4 ก.ย.2562
ในคดีหมายเลขดำที่ อท. 54/2562 ที่นายสุรทิน พิจารณ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปไตยใหม่ กับพวกรวม 2 คนยื่นฟ้อง นายอิทธิพร บุญประคอง ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กับพวกซึ่งเป็น กกต.รวม 7คน ขอให้ลงโทษจำเลยทั้ง 7
ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 43 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.)ว่าด้วยกกต. พ.ศ.2560 มาตรา 29 ประกอบมาตรา 25 พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. พ.ศ. 2561 มาตรา 23 ประกอบมาตรา 149 และมีคำสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของจำเลยทั้ง 7 มีกำหนด 20 ปี
โดยศาลชั้นต้นเห็นว่า มีปัญหาว่าคดีนี้เป็นคดีอยู่ในอำนาจของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบหรือไม่ จึงมีคำสั่งให้ส่งสำนวนมายังศาลอุทธรณ์ เพื่อให้ประธานศาลอุทธรณ์วินิจฉัยตามพ.ร.บ.จัดตั้งศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ.2559 มาตรา 11 โดยในวันอ่านคำสั่งของประธานศาลอุทธรณ์ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ที่ 1 และเป็นตัวโจทก์ที่ 2 เดินทางมาศาล พร้อมทนายโจทก์ทั้ง 2
พิเคราะห์แล้วเห็นว่า กกต.เป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 หมวด 12 ส่วนที่ 2 มีอำนาจหน้าที่ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 224 เมื่อจำเลยที่ 1 ดำรงตำแหน่งประธาน กกต. จำเลยที่ 2-7 ดำรงตำแหน่งกกต. จำเลยทั้ง 7 จึงเป็นผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ
การที่โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยทั้ง 7 จงใจละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. มาตรา 23 ประกอบมาตรา 149 และพ.ร.ป.ว่าด้วยกกต. พ.ศ.2560 มาตรา 21 ประกอบ 22 และมาตรา 38 ไม่ตรวจคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งเป็นบุคคลที่พรรคพลังประชารัฐแจ้งว่า จะเสนอสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี
และร่วมกันออกประกาศ กกต. เรื่องการแจ้งรายชื่อบุคคลที่พรรคการเมืองจะเสนอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีฉบับลงวันที่ 11 ก.พ. 2562 ให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นบุคคลที่พรรคพลังประชารัฐแจ้งว่า จะเสนอสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีลำดับที่ 30 เพื่อให้เป็นคุณแก่พรรคพลังประชารัฐในการเลือกตั้งวันที่ 17 มี.ค. 2562 (เลือกตั้งล่วงหน้า) และในวันที่ 24 มี.ค.2562 (เลือกตั้งทั่วไป)
ทั้งเมื่อนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ยื่นหนังสือเพื่อขอให้ตรวจสอบการคัดเลือก พล.อ.ประยุทธ์ จำเลยทั้ง 7 ก็มิได้วินิจฉัยชี้ขาดข้อโต้แย้งดังกล่าว ต่อมาเมื่อนายวิญญัติ ชาติมนตรี ยื่นหนังสือคัดค้านการประกาศรายชื่อพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และขอให้เพิกถอนชื่อบุคคลดังกล่าว จำเลยทั้ง 7 ยังคงให้มีการประกาศ กกต. เรื่องการแจ้งรายชื่อบุคคลที่พรรคการเมืองจะเสนอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีอยู่ต่อไป
เมื่อนายเรืองไกรยื่นหนังสือขอให้ กกต.วินิจฉัยว่า พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะหัวหน้า คสช. เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือไม่เป็นครั้งที่ 2 จำเลยทั้ง 7 ก็ยังคงปล่อยให้มีการประกาศเรื่องการแจ้งรายชื่อบุคคลที่พรรคการเมืองจะเสนอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป
อีกจำเลยทั้ง 7 รับทราบข้อโต้แย้งแล้ว แต่ไม่ดำเนินการตามหน้าที่ สั่งให้ระงับยับยั้งหรือกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง เพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริตเที่ยงธรรม และชอบด้วยกฎหมาย ให้พล.อ.ประยุทธ์สามารถรณรงค์หาเสียงหรือขึ้นเวทีปราศรัย ในฐานะเป็นผู้ถูกแสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีของพรรคพลังประชารัฐได้
ซึ่งความจริงพล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะหัวหน้า คสช.เป็น “เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ” ไม่มีคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามการเป็นนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 160 และพ.ร.ป.ด้วยการเลือกตั้งส.ส. มาตรา 13 เเละ 44 การกระทำของจำเลยทั้ง 7 เป็นการกระทำโดยไม่สุจริต ขอให้ลงโทษตาม พ.ร.ป.กกต. มาตรา 5 ประกอบมาตรา 25 พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. มาตรา 23 ประกอบมาตรา 144
จึงเป็นกรณีที่มูลความแห่งคดีเป็นการกล่าวหาผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระทุจริตต่อหน้าที่ หรือจงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย ซึ่งหากจะฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตามบทบัญญัติ พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง 2560 มาตรา 23 กำหนดผู้มีอำนาจฟ้องคดี ได้แก่ อัยการสูงสุดและคณะกรรมการปราบปรามการทุจริตเเห่งชาติ (ป.ป.ช.)
ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตกำหนด ซึ่งใช้บังคับในกรณีที่อัยการสูงสุด และป.ป.ช.เป็นผู้ฟ้องคดีแต่คดีนี้ ผู้ฟ้องคดีคือโจทก์ทั้ง 2 มิใช่อัยการสูงสุด หรือ ป.ป.ช. ย่อมไม่อยู่ภายใต้บังคับของบทกฎหมายดังกล่าว
เมื่อคดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้ง 7 โดยจำเลยที่ 1 เป็นประธาน กกต. จำเลยที่ 2-7 เป็น กกต. ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบด้วย พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 23 ประกอบมาตรา 149 และ พ.ร.ป.ว่าด้วย กกต. มาตรา 38 กำหนดว่าในการปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยทั้ง 7 ให้ถือว่าเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา
ดังนั้น คดีนี้จึงเป็นคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ อยู่ในเขตอำนาจของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ตามพ.ร.บ.จัดตั้งศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ.2555 มาตรา 3 วรรคหนึ่ง (1) วินิจฉัยว่า คดีนี้อยู่ในเขตอำนาจของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ จึงมีคำสั่งให้รับคดีไว้ตรวจฟ้องนัดฟังคำสั่งหรือคำพิพากษา (ในชั้นตรวจฟ้อง) วันที่ 3 ธ.ค.นี้
นายวิญญัติ ชาติมนตรี เลขาธิการสมาพันธ์นักกฎหมายเพื่อสิทธิเสรีภาพ (สกสส.) กล่าวว่า
ในฐานะที่เคยยื่นหนังสือคัดค้านการประกาศรายชื่อพล.อ.ประยุทธ์ และขอให้เพิกถอนชื่อต่อ กกต. เเละได้ทราบคำวินิจฉัยของประธานศาลอุทธรณ์ที่วินิจฉัยให้คดีฟ้อง ว่ากกต.เป็นคดีอยู่ในอำนาจของศาลอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบ ประชาชนสามารถฟ้องเองได้
อาจถือว่าเป็นประเด็นข้อกฎหมายที่รับรองถึงการใช้สิทธิฟ้ององค์กรอิสระต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบได้โดยตรง แม้โจทก์ที่ยื่นฟ้องคดีปัจจุบันได้เป็นส.ส. ได้ถอนฟ้องคณะกรรมการการเลือกตั้งทั้ง 7 คนแล้วก็ตาม แต่คำวินิจฉัยนี้จะเป็นบรรทัดฐาน ว่าด้วยผู้มีอำนาจฟ้องคดีที่สำคัญต่อไป
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ