สพฐ.สั่งการผอ.เขตพื้นที่ทั่วประเทศควบรวมโรงเรียนขนาดเล็ก





(19 พ.ย.2562) นายอำนาจ วิชยานุวัติ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.) ได้ลงนามในหนังสือแจ้งไปยังผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.)ทุกเขต และผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา(สพม.) ทุกเขต เพื่อแจ้งมติคณะรัฐมนตรีเรื่องการควบรวมโรงเรียนขนาดเล็กในสังกัดสพฐ. โดยมีรายละเอียด ดังนี้  

ด้วยสํานักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี แจ้งมติคณะรัฐมนตรีในคราวประชุมเมื่อวันที่ 7 ต.ค. พ.ศ. 2562 เห็นชอบตามมติคณะกรรมการการกําหนดเป้าหมายและนโยบายกําลังคนภาครัฐ ในการประชุม ครั้งที่ 2/2562 เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2562 เกี่ยวกับการควบรวมโรงเรียนขนาดเล็กในสังกัดสพฐ. รายละเอียดปรากฏตามสิ่งที่ส่งมาด้วย สพฐ.พิจารณาแล้ว

เพื่อให้การดําเนินการตามมติ คณะรัฐมนตรีเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม ขอให้สํานักงานเขตพื้นที่การศึกษา(สพท.)ทุกเขตพิจารณาดําเนินการควบรวม โรงเรียนขนาดเล็กที่มีระยะห่างจากโรงเรียนในสังกัดสพฐ. ในตําบลเดียวกันน้อยกว่า 6 กิโลเมตร ให้บังเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาให้เพิ่มสูงขึ้น เพิ่มประสิทธิภาพการจัดการเรียนการสอน และลดภาระค่าใช้จ่ายงบประมาณด้านบุคลากรและการบริหาร จัดการลง รวมทั้งรายงานผลการดําเนินการและปัญหาอุปสรรคให้สพฐ.ทราบโดยด่วนต่อไป

 

 

แต่งตั้งคณะทำงานจัดทำแผนบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็กในภาพรวมของศธ. โดยมีคณะทำงาน ประกอบด้วย นายวรัท พฤกษากุลนันท์ รองศึกษาธิการภาค 6 ปฎิบัติหน้าที่ศึกษาธิการภาค 11 เป็นประธาน นายพิเชฐ โพธิ์ภักดี ศึกษาธิการจังหวัดสมุทรสงคราม สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดสมุทรสงคราม เป็นรองประธาน 

มีกรรมการ 18 คน ประกอบด้วยคณะทำงานซึ่งมาจากผู้อำนวยการสำนักต่างๆ นักวิชาการศึกษาชำนาญการ นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการ นักจัดการงานทั่วไปชำนาญการพิเศษ ผู้อำนวยการโรงเรียน รองผู้อำนวยการโรงเรียน และศึกษานิเทศก์

โดยคณะทำงานชุดนี้ จะมีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบ ในการจัดทำข้อมูลการบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็กในภาพรวมของศธ. ออกแบบและจัดทำสรุปรายงานการจัดทำแผนบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็กในภาพรวมศธ.ให้ปลัดศธ.รับทราบต่อไป

 

 

ด้านนายธนชน มุทาพร ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) ชัยภูมิ เขต 1 ในฐานะประธานชมรมผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาแห่งประเทศไทย (ชร.ผอ.สพท.)  กล่าวว่าทางผอ.สพป.ทุกเขตได้รับหนังสือดังกล่าวและพร้อมปฎิบัติตาม ซึ่งเรื่องการควบรวมโรงเรียนขนาดเล็กนั้น เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่และเป็นเรื่องที่ทางเขตพื้นที่การศึกษาแต่ละแห่งได้มีการดำเนินการอยู่แล้ว

โดยยึดตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการจัดตั้ง รวม หรือเลือกสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2550  ภายใต้การทำงานโดยมีหลักการชัดเจนว่าต้องไม่กระทบต่อสิทธิ์ของเด็ก ครู ผู้อำนวยการโรงเรียน ประชาชนชุมชนทุกคน ดังนั้น การจะยุบรวมหรืออะไรก็ตามต้องผ่านความเห็นชอบจากทุกฝ่าย และไม่เป็นการสร้างปัญหาให้แก่เด็ก ผู้ปกครอง ครู และผู้อำนวยการโรงเรียน รวมถึงชุมชน

 

 

“ทางชร.ผอ.สพท.ได้มีการทำเรื่องการควบรวมโรงเรียนขนาดเล็กมาหลายปี โดยตอนนี้ได้มีการควบรวมโรงเรียนขนาดเล็กไป30-40 แห่ง  ซึ่งการควบรวมโรงเรียนขนาดเล็กได้ ไม่ใช่ว่าทางเขตพื้นที่การศึกษาเห็นว่าทำได้แล้วต้องทำทันที แต่ต้องผ่านความเห็นชอบจากผู้ปกครอง คณะกรรมการสถานศึกษา มีการสอบถามความคิดไปยังครู บุคลากรทางการศึกษาในโรงเรียน และชุมชน ภายใต้หลักการต้องไม่หักด้ามพร้าด้วยเข่า”นายธนชน กล่าว

ดังนั้น การควบรวมโรงเรียนขนาดเล็กเพื่อประโยชน์ของเด็กนักเรียน ครู ผู้ปกครอง ชุมชน เป็นเรื่องปกติที่เขตพื้นที่ทำอยู่แล้ว เมื่อมีมติคณะรัฐมนตรีชัดเจนก็จะทำให้ง่ายขึ้น

นายธนชน กล่าวต่อว่าปัญหาหลักที่ทำให้ครู ผู้ปกครอง ไม่อยากให้มีการควบรวมโรงเรียนขนาดเล็กนั้น ส่วนหนึ่งเกิดจากการไม่มั่นใจว่าไปอยู่ที่ใหม่แล้วจะเป็นอย่างไร ควบรวมแล้วดีอย่างไร ไม่อยากเดินทางไกลจากบ้าน เพราะไม่สะดวกในเรื่องค่าเดินทาง

หรือบางพื้นที่มีผลต่อทางจิตใจ เนื่องจากโรงเรียนขนาดเล็กที่สร้างขึ้นบางแห่งเกิดจากความร่วมมือของคนในชุมชน เมื่อจะปิดพวกเขาก็รู้สึกไม่ดี สิ่งที่จะทำให้การควบรวมโรงเรียนขนาดเล็กประสบความสำเร็จ ต้องยึดความพึงพอใจของทุกภาคส่วน ทุกคนต้องไม่เดือนร้อน มีการการันตีถึงคุณภาพของการควบรวมว่าจะส่งผลดีต่อลูกหลานของเขาอย่างไร และควรดำเนินการให้เหมาะสมตามบริบทในแต่ละพื้นที่ด้วย

ข่าวจาก กรุงเทพธุรกิจ

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: