พระอารมณ์ขัน “กรมสมเด็จพระเทพฯ” ทรงเปิดงานภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ “มหัศจรรย์พรรณภาพ”





เมื่อเวลา 08.54 น. วันที่ 10 ธันวาคม สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ ไปทรงเปิดงานนิทรรศการภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ในสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ประจำปี 2562 หัวข้อ “มหัศจรรย์พรรณภาพ” (Photo Wonderland) ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปได้มีโอกาสได้ร่วมตามรอยเสด็จฯ และชื่นชมพระอัจฉริยภาพด้านการถ่ายภาพของ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ ทรงบันทึกไว้ระหว่างการเสด็จพระราชดำเนินไปยังสถานที่ต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ ในช่วงปี 2561 – 2562 เพื่อจัดแสดงในนิทรรศการครั้งนี้ ซึ่งประกอบไปด้วย ภาพแขวนผนัง จำนวน 173 ภาพ ภาพอาหาร (ภาพเล็ก) จำนวน 216 ภาพ และอาร์ต วอลล์ จำนวน 12 ภาพ

โอกาสนี้ ทรงบรรยายเรื่องนิทรรศการภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ ความว่า มหัศจรรย์พรรณภาพ หมายถึงภาพต่างๆ ที่น่าพิศวง ความเป็นมาของชื่อคือ สองเดือนหลังของพ.ศ.2562 ข้าพเจ้ามีปัญหาเรื่องสุขภาพ ทั้งลำไส้ และหัวใจ ยังมีโรคอะไรเดิมๆ อีก นอกจากการรักษาด้วยยา และวิธีการอื่นของหมอแล้ว หมอยังแนะนำการปรับพฤติกรรม เช่นพฤติกรรมการนอน ต้องนอนมากขึ้น พฤติกรรมการรับประทาน ต้องหลีกเลี่ยงของแสลง พอมาถึงการออกกำลังกาย หมอบอกว่าสำคัญมาก ชอบออกกำลังกายแบบไหน ข้าพเจ้าตอบว่า ชอบเดินรอบบ้าน ถ้าฝนตกหรือแดดร้อน ก็เดินบนห้องสมุด หมอบอกว่า อยากเล่นกีฬาก็ได้ ข้าพเจ้าว่าเดินไปมาดีแล้ว เป็นจังหวะสม่ำเสมอตามอัตภาพ ไม่เหมือนกีฬาอื่นที่กระตุกหัวใจ กระแทกแขนขา หมอว่าชอบแบบนั้นก็แล้วไป

ที่จริงแล้วมีคำอธิบายมากกว่านั้นคือ ช่วงเวลาเดิน จิตใจ ร่างกาย และโลกรอบตัวเรา มาเรียงกันเป็นเส้นตรง ว่าตามดนตรีก็เหมือนโน้ตเพลงสามโน้ต เปล่งเสียงพร้อมกันเป็นคอร์ทที่กลมกลืน ไพเราะ ระหว่างเดินเราได้เห็นทิวทัศน์ หรือภูมิประเทศอย่างหนึ่ง และเราสามารถถ่ายทอดความรู้สึกความคิดผู้อื่น แม้แต่ตัวเองได้ แต่ภูมิประเทศ เป็นสิ่งที่ถ่ายทอดได้ เก็บไว้ได้โดยผ่านรูปเขียน ภาพถ่าย ที่อาศัยปากกา ดินสอสีกล้องถ่ายภาพ หรือกล้องถ่ายภาพยนตร์ ดังนั้นภาพที่แสดงครั้งนี้ และครั้งก่อนๆ เป็นสิ่งมหัศจรรย์ น่าทึ่ง มีเรื่องเล่ามากมาย

กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ รับสั่งอีกว่า ตั้งแต่สมัยเด็ก ๆ ได้ยินคำว่าเดินจงกรมจากพระ ฟังอยู่ก็เหมือนว่าคล้ายๆ การทำสมาธิ เรื่องของการทำจงกรมเป็นอะไรที่ซับซ้อน ฟังไม่เข้าใจ จึงไปถามพระเพราะสมัยนั้นรู้สึกว่าทำไมต้องเดิน เสียเวลา เราควรจะวิ่งจงกรม ได้ระยะทางดีกว่า ทำไมเราถึงไม่วิ่งจงกรม ท่านก็อธิบายเยอะแต่จำไม่ได้ ที่จำได้คือท่านบอกว่า วิ่งจงกรมมันเร็วเกินไป ปัจจุบันก็เห็นด้วยกับที่ท่านว่าเพราะวิ่งอาจจะเร็วเกินไป การเดินทำให้ได้ดูนั่นดูนี่และได้มีเวลาถ่ายภาพมาให้พวกท่านได้เห็น

จากนั้นทรงยกตัวอย่างภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ อาทิ ภาพ “จุดเทียนและร้องเพลงถวายพระพรพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เนื่องในวันพ่อแห่งชาติ” รับสั่งว่า งานนี้คืองานวันที่ 5 ธันวาคมของปีที่แล้ว (พ.ศ.2561) เราก็จะมีการจุดเทียน ก็จะเถียงกันเล็กน้อยว่าจุดเทียนนี่จะจุดกันกี่เล่ม ปีที่แล้ววจำไม่ได้ว่ากี่เล่มแต่ปีนี้ตกลงกันว่า 92 เล่ม ก็น้อยกว่าปีที่แล้ว ซึ่งในปีที่แล้วนอกจากจะจุดเทียนแล้ว ยังมีคาราโอเกะ ร้องเพลงถวาย มีคนเขาบอกว่าเห็นท่านมาฟังเพลงด้วย เราก็จุดเทียน ปีหน้าก็จะจุดถวายอีก ต้องเพิ่มจำนวนเทียนอีกจนกว่าจะจุดไม่ไหว

 ต่อมาเป็นภาพ “พระเอกแห่งงานแสดงภาพถ่าย” ซึ่งเป็นภาพของ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา รับสั่งว่า มาถึงเรื่องพระเอกของเรา ก็เป็นรูปปู่เมธ มองภาพนี้แล้วอาจจะถามได้ว่าในรูปนี้มีปู่เมธกี่คน ก็เป็นคำถามแต่ไม่มีรางวัล กระนั้นมีผู้ตั้งข้อสังเกตเล็กน้อยว่าปีที่แล้วปู่เมธไม่ค่อยยิ้มเลย เราเลยบอกว่าปีนี้เราต้องพยายามให้ปู่เมธยิ้มมากกว่านี้ อันนี้ก็เป็นภารกิจที่เราต้องทำ แต่สิ่งที่ปู่เมธสัญญาไว้ก็คือจะพยายามมางานนี้ทุกครั้ง

ภาพ “สุสานปากกา สวนปทุม ปทุมธานี” ทรงเล่าว่า เป็นปากกาที่เขียนหมดแล้วแต่ใส่ตู้เอาไว้ มีส่วนหนี่งใส่กรอบและศิลปินแห่งชาติทำแบ็คกราวน์ให้ ซึ่งศิลปินแห่งชาติท่านนั้นได้ล่วงลับไปแล้ว นอกจากนี้ยังมีที่เก็บไว้อีกสองหรือสามเท่ากว่าที่เห็น เคยกลุ้มใจเสียดายบางด้ามเขียนสามถึงห้าวันก็หมดแล้ว และนำมาใช้ใหม่ไม่ได้ ทดลองนำเข็มฉีดยาสูบน้ำหมึกพยายามทิ่มเข้าไปในหลอดที่หมดแต่ไม่สำเร็จก็อุตส่าห์ไปดูงานทำปากกาลูกลื่น ได้เห็นว่าใช้เทคโนโลยีต่างๆ เยอะแยะที่เราทำไม่ได้แน่ จริงๆ แล้วการทำปากกาลูกลื่นมีเทคโนโลยีที่ซับซ้อนกว่าที่เราคิดมาก ส่วนรูปที่ศิลปินแห่งชาติทำให้ถือเป็นงานศิลปะตั้งชื่อว่า “ความขยัน” คือขยันเขียนเสียจนหมึกหมด ในส่วนที่เป็นความขยันนี้ก็มีด้ามหนึ่งเป็นของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 แต่ด้ามไหนจำไม่ได้แล้ว

นอกจากนี้ยังทรงบรรยายภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ภาพอื่น ๆ อาทิ น้องอมยิ้มเจ้าเก่าแห่งสวนปทุมกินหวานเย็น, อู๊ดดี้ แอ๊ดดี้ “หมูแคระ” ได้ทราบว่าโตที่สุดควรจะประมาณ 30 กิโลกรัม ขณะนี้ 90 กว่าแล้ว ปีหน้าคงเลย 100 กิโลกรัม และ “คนเฝ้าไฟ” วังสระปทุม

ต่อจากนั้นเสด็จฯ ไปยังห้องจัดนิทรรศการ ทรงตัดแถบแพรเปิดนิทรรศการภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ในสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ประจำปี 2562 พร้อมทอดพระเนตรนิทรรศการ และทรงจำหน่ายหนังสือภาพฝีพระหัตถ์ให้แก่ผู้เข้าร่วมงาน สมควรแก่เวลา เสด็จฯ กลับ

สำหรับ นิทรรศการภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ในสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ประจำปี 2562 หัวข้อ “มหัศจรรย์พรรณภาพ” (Photo Wonderland) จัดแสดง ณ ชั้น 9 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ตั้งแต่วันนี้ – 16 กุมภาพันธ์ 2563 (หยุดทุกวันจันทร์) เวลา 10.00 – 21.00 น. ประชาชนสามารถเข้าชมได้ฟรี โดยจัดจำหน่ายหนังสือภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ “มหัศจรรย์พรรณภาพ” (Photo Wonderland) ในราคาเล่มละ 900 บาท ณ ห้องสมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทยฯ และศูนย์หนังสือแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทั้งนี้ รายได้ทั้งหมดนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายโดยเสด็จพระราชกุศลตามพระราชอัธยาศัย

ข่าวจาก มติชนออนไลน์

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: