“สมคิด” เผยตัวเลขจีดีพีไม่สำคัญ เพราะเศรษฐกิจไทยยังแข็งแรงดีอยู่





นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังประชุมร่วมกับผู้บริหารระดับสูงกระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ภาคเอกชน คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ผู้บริหารธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ และธนาคารพาณิชย์ (23 ธ.ค.2562) เพื่อหามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจปี 2563 ว่า ขณะนี้เศรษฐกิจไทยยังได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลก ทำให้ชะลอตัวลง จำเป็นต้องดูแลผู้ประกอบการเอสเอ็มอี โดยให้ทุกฝ่ายไปหารือมาตรการร่วมกันเพื่อเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบหลังปีใหม่ 2563 ทันที เพื่ออนุมัติเป็นแพ็กเกจ

สำหรับแนวทางมาตรการช่วยผู้ประกอบการเอสเอ็มอี แบ่งเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรก คือ ผู้ประกอบการที่เจอปัญหารุนแรง ต้องมีมาตรการช่วยให้อยู่รอด และกลุ่มที่สองเป็นกลุ่มที่ยังดี ก็ต้องมีมาตรการเข้าไปดูแลป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาในอนาคต ซึ่งให้ทางสถาบันการเงินไปหารือการปล่อยสินเชื่อเอสเอ็มอีแบบผ่อนปรน ทั้งค่าธรรมเนียมและดอกเบี้ย และให้ทางบรรษัทค้ำประกันสินเชื่อขนาดกลางและขนาดย่อม (บสย.) เข้าช่วยค้ำประกันอีกทางหนึ่ง

นอกจากนี้ ยังให้มีการหารือออกมาตรการช่วยเหลือผู้เป็นหนี้บัตรเครดิตและเสียดอกเบี้ยในอัตราสูง ว่าจะผ่อนคลายดอกเบี้ยอย่างไรเพื่อให้ผู้เป็นหนี้มีภาระลดลง รวมทั้งมาตรการภาคอสังหาริมทรัพย์ ต้องไปคุยกับ ธปท. ว่าจะมีการผ่อนปรนได้หรือไม่ ไม่ได้ให้ยกเลิกมาตรการ LTV แต่ถ้ามีข้อเสนอจากส่วนที่เกี่ยวข้องก็ต้องไปพิจารณาดูว่าผ่อนปรนได้หรือไม่

ทั้งนี้ นายสมคิด กล่าวว่า กรณีที่ ธปท. และเอกชน ประเมินว่าเศรษฐกิจปี 2563 จะขยายตัวได้ไม่ถึง 3 เปอร์เซ็นต์ นั้น ส่วนตัวมองว่าเศรษฐกิจไทยก้าวข้ามคำว่าเปอร์เซ็นต์มาแล้ว ไม่จำเป็นว่าตัวเลขขยายตัวได้มากแล้วเศรษฐกิจไทยจะดีจริง เพราะขณะนี้เศรษฐกิจไทยแข็งแรงพอสมควร แม้ชะลอตัวแต่ยังขยายตัวเป็นบวกได้ ส่วนนักลงทุนจะเชื่อมั่นเศรษฐกิจไทยปีหน้าหรือไม่หากขยายตัวได้ไม่ถึง 3 เปอร์เซ็นต์ ต้องไปถามหัวหน้าทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลเอง โดยระบุว่า “ที่พวกคุณก็รู้ว่าใคร เพราะไม่ใช่ผม”

ข่าวจาก voicetv

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: