เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2562 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดคุณสมบัติของบุคคลซึ่งอาจสมัครเข้าเป็นผู้ประกันตน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้ และให้กระทรวงแรงงานรับความเห็นของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติและสำนักงบประมาณไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
กระทรวงแรงงานเสนอว่า
1. โดยที่สภาพการณ์สังคมในปัจจุบันผู้สูงอายุมีอายุยืนยาวมากขึ้น และเป็นกลุ่มประชากรที่ยังมีสุขภาพแข็งแรงสามารถทำงานหรือประกอบอาชีพอิสระได้ และเพื่อสนองต่อนโยบายของรัฐบาลในการยกระดับคุณภาพชีวิตของสังคมผู้สูงอายุให้มีความยั่งยืนในการดำรงชีวิต จึงสมควรขยายคุณสมบัติของบุคคลซึ่งสมัครเข้าเป็นผู้ประกันตน จาก “ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 15 ปีบริบูรณ์ และไม่เกิน 60 ปีบริบูรณ์” เป็น “ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 15 ปีบริบูรณ์ และไม่เกิน 65 ปีบริบูรณ์” โดยมีเจตนารมณ์ในการรองรับกลุ่มประชากรที่ยังมีสุขภาพแข็งแรง สามารถทำงานหรือประกอบอาชีพอิสระได้ เพื่อให้สามารถเข้าถึงการประกันสังคมภาคสมัครใจได้อย่างทั่วถึง ตลอดจนเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตของสังคมผู้สูงอายุในปัจจุบัน
2. ประกอบกับมาตรา 40 แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2558 กำหนดให้บุคคลใดอาจสมัครเข้าเป็นผู้ประกันตนตามพระราชบัญญัตินี้ ให้แสดงความจำนงต่อสำนักงานประกันสังคม ทั้งนี้ คุณสมบัติของบุคคลดังกล่าวให้เป็นไปตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา
3. ในคราวประชุมคณะกรรมการประกันสังคมและที่ปรึกษา (ชุดที่ 13) ครั้งที่ 20/2561 วันอังคารที่ 30 ตุลาคม 2561 ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบการขยายอายุของบุคคล ซึ่งอาจสมัครเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 40 จาก ไม่เกิน 60 ปีบริบูรณ์ เป็น ไม่เกิน 65 ปีบริบูรณ์ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานได้เห็นชอบในหลักการและสั่งการให้นำเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการพิจารณาร่างกฎหมายของกระทรวงแรงงานและคณะกรรมการฯ ได้ตรวจพิจารณาร่างพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวเสร็จแล้ว
4. กระทรวงแรงงานได้จัดทำรายงานข้อมูลตามมาตรา 7 และมาตรา 27 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 เพื่อให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2561 ประกอบด้วย รายละเอียดโครงการ ประมาณการรายจ่ายแหล่งเงินที่ใช้ตลอดระยะเวลาดำเนินการ และประโยชน์ที่จะได้รับ กรณีการขยายอายุของบุคคลเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 40 แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 จากเดิมอายุไม่เกิน 60 ปี เป็น 65 ปี โดยประมาณการจากข้อมูลประชากรเพศชายและเพศหญิงที่มีอายุตั้งแต่ 61 – 65 ปี และอัตราที่มีการสมัครเข้าเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 40 โดยเก็บข้อมูลจากสถิติการสมัครเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 40 เพศชาย ร้อยละ 1.40 เพศหญิง ร้อยละ 1.75 เท่ากับจำนวนผู้ที่สมัครเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 40 คิดเป็นจำนวนประมาณการในปี 2563 จำนวน 63,768 คน จำนวนเงินโดยประมาณ รวมทั้งสิ้น 45,147,600 บาท สรุปได้ดังนี้
4.1 สมัครทางเลือกที่ 1 (ผู้ประกันตนจ่าย 70 บาท รัฐจ่ายสมทบ 30 บาท) จากสถิติที่ผ่านมา พบว่าอัตราการสมัครยังมีจำนวนน้อย จึงประมาณการว่าผู้สูงอายุน่าจะสมัครทางเลือกที่ 2 และทางเลือกที่ 3 (รายใหม่) มากกว่าสมัครทางเลือกที่ 1
4.2 สมัครทางเลือกที่ 2 (ผู้ประกันตนจ่าย 100 บาท รัฐจ่ายสมทบ 50 บาท) จำนวน 58,029 ราย รัฐบาลสมทบ 50 บาท คาดว่าจะจ่ายทุกเดือนในแต่ละปี (12 เดือน) รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 34,817,400 บาท (58,029 ราย x 50 บาท x 12 เดือน)
4.3 สมัครทางเลือกที่ 3 (ผู้ประกันตนจ่าย 300 บาท รัฐจ่ายสมทบ 150 บาท) จำนวน 5,739 ราย รัฐบาลสมทบ 150 บาท คาดว่าจะจ่ายทุกเดือนในแต่ละปี (12 เดือน) รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 10,330,200 บาท (5,739 ราย x 150 บาท x 12 เดือน)
อย่างไรก็ตาม การขยายอายุของบุคคลเป็นผู้ประกันตนตามร่างพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว จะทำให้ผู้สูงอายุที่ประกอบอาชีพอิสระและเป็นแรงงานนอกระบบได้รับความคุ้มครองในระบบประกันสังคมอย่างทั่วถึงตามนโยบายแห่งรัฐเกี่ยวกับสังคมผู้สูงอายุและยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (ยุทธศาสตร์ที่ 4 ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรม ในทุกมิติ) อันเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุให้ดีขึ้น
สาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกา
แก้ไขเพิ่มเติมคุณสมบัติของบุคคลซึ่งอาจสมัครเข้าเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 40 แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 กำหนดให้บุคคลซึ่งอาจสมัครเข้าเป็นผู้ประกันตน จากเดิม “ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 15 ปีบริบูรณ์ และไม่เกิน 60 ปีบริบูรณ์” เป็น “ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 15 ปีบริบูรณ์ และไม่เกิน 65 ปีบริบูรณ์”
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ