หลังจากเลือกตั้งเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปี 2562 แม้จะได้ส.ส.หน้าใหม่เข้ามาจำนวนมาก พร้อมกับส.ส.หน้าเดิมอีกจำนวนหนึ่ง แต่คนที่เป็นที่จดจำและถูกพูดถึงมากที่สุด คงหนีไม่พ้น 2 คน คือ นายมงคลกิตติ์ สุขสินธรานนท์ และ น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ บทบาทส.ส.ของทั้ง2คนนี้ เป็นความแปลกใหม่ในสนามการเมืองจริงหรือไม่ และในทางการเมือง การแสดงออกเหล่านี้ถูกคิดไว้อย่างเป็นระบบหรือเป็นเพียงนิสัยส่วนตัวของเขาทั้งคู่
เหตุการณ์นี้เป็นเพียงตัวอย่างที่ฉายภาพบทบาทของ “ปารีณา ไกรคุปต์” ในฐานะส.ส.ฝากรัฐบาล ตลอดเกือบ1ปีมานี้ แม้การเล่นบทนี้ในสนามการเมือง จะต้องเผชิญกับคำตำหนิ ดูหมิ่น วิจารณ์ และติฉินนินทา ที่มาพร้อมกับคำถามว่า เป็นการเกมการเมือง เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของพวกพ้องตัวเองหรือไม่ แต่เธอยืนยันว่าทุกฉากที่ปรากฎ “ไม่ใช่การแสดง” และเป็นนิสัยส่วนตัวที่ต้องการแสดงว่า เพื่อปกป้องรัฐบาลและพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะหัวหน้าที่เคารพนับถือ
แม้จะตกเป็นเป้าวิพากษ์วิจารณ์ของสื่อมวลชนและโลกออนไลน์ แต่ “ปารีณา” เปิดใจว่า ในมุมของเธอเป็นเพียงโลกเสมือน เพราะชีวิตจริง ไม่เคยถูกใครเดินมาตำหนิ ในทางตรงกันข้ามสิ่งที่เกิดขึ้นจริงจากโซเชียลมีเดีย คือ เธอเป็นที่รู้จักมากขึ้นในวงกว้างและนับจากนี้เธอก็จะไม่เปลี่ยนตัวเอง
ไม่ใช่เพียง “ปารีณา” ลีลาการเมืองของ ส.ส.น้องใหม่ อย่าง “มงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์” หัวพรรคไทยศรีวิไลย์ จนกลายเป็นวีรกรรมที่อยู่ความจดใจของคนทั่วไป เช่น การพกสารประกอบระเบิดเข้าสภาฯ , การสาดวาทะเดือดวิจารณ์ พล.อ.ประยุทธ์ และเปลี่ยนขั้วไปมา ไม่ยึดติดกับตัวบุคคล
“มงคลกิตติ์” อธิบายว่า พฤติกรรมเหล่านี้ ไม่ได้สร้างหรือประดิษฐ์ขึ้น แค่เป็นตัวของตัวเอง แต่ผลลัพท์ดีเกินคาด เพราะทำให้การสื่อสารเข้าถึงคนได้มากขึ้น
แม้นักการเมืองที่เล่นเกมนี้ จะเป็นที่รู้จักในวงกว้างอย่างรวดเร็วและเป็นที่จดจำ แต่ก็แลกกับราคาที่ต้องจ่าย คือ ภาพลักษณ์ที่ไม่ได้ดีมากนัก เป็นมุมมองที่ถูกสะท้อนผ่านประสบการณ์ของนักวิชาการด้านสื่อสารการเมือง อย่าง รองศาสตราจารย์ นันทนา นันทวโรภาส ในทางตรงกันข้าม ยัง มี ส.ส.อีกหลายคนที่ “โดดเด่น” จากผลงาน ทั้งเนื้อหาการอภิปรายในสภา และการผลักดันปัญหาของประชาชนในพื้นที่ให้ได้รับการแก้ไข ซึ่งปฎิเสธไม่ได้ว่าจะมีคนนำมาเปรียบเทียบกัน แต่บทบาทของนักการเมืองที่แตกต่างกันเช่นนี้ ก็มีให้เห็นในทุกยุคสมัย เพราะในทางการเมือง บทบาทของส.ส.แต่ละประเภทก็ตอบโจทย์งานการเมืองที่ไม่เหมือนกัน
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ