เมื่อวันที่ 9 มกราคม ที่รัฐสภา มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่ประธานการประชุม เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 วงเงิน 3.2 ล้านล้านบาท ในวาระสองและวาระสาม ตามที่กมธ.วิสามัญฯ ที่มีนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธานได้พิจารณาเสร็จแล้ว
ทั้งนี้ เมื่อการประชุมเข้าสู่การพิจารณาในมาตรา 8 งบประมาณรายจ่ายของกระทรวงกลาโหม และหน่วยงานในกำกับ จำนวน 1.2 แสนล้านบาท กมธ.เสียงข้างมากมีการแก้ไข โดยมี กมธ.เสียงข้างน้อยลงชื่อสงวนความเห็นไว้ และมีส.ส.สงวนคำแปรญัตติจำนวนมาก โดย นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ ส.ส.ราชบุรี พรรคประชาธิปัตย์ ได้อภิปรายเสนอให้ตัดลดงบประมาณในส่วนของกระทรวงกลาโหม ลง 20% เพื่อนำไปเพิ่มให้กระทรวงศึกษาธิการ เนื่องจากต้องการให้ กมธ.งบประมาณได้ตระหนักถึงวิกฤติด้านการศึกษา โดยเฉพาะปัญหาในการศึกษาระดับประถม และมัธยม ที่ดูแลกำกับโดย สพฐ. และการศึกษาในระดับอาชีวศึกษา ที่ดูแลกำกับโดยสำนักงานคณะกรรมการอาชีวะศึกษา ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการผลิตบุคลากรป้อนตลาดแรงงาน เพื่อตอบโจทย์พื้นฐานด้านเศรษฐกิจให้ประเทศ ซึ่งจากการที่ตนได้เป็นอนุกมธ.ด้านการศึกษา พิจารณางบของกระทรวงศึกษาและกระทรวงอุดมศึกษา โดยเฉพาะในส่วนของ สพฐ. ซึ่งกำลังประสบปัญหาเรื่องการยุบโรงเรียนขนาดเล็ก และในฐานะที่เป็น ส.ส. เขต 4 อ.บ้านโป่ง ได้รับเชิญให้ไปร่วมทอดผ้าป่าเพื่อนำเงินไปจ้างครู ทำให้ได้รับทราบถึงปัญหาการขาดแคลนครู รวมไปถึงบางโรงเรียนมีครูไม่ครบสาขาวิชา และไม่ครบชั้นเรียน อันจะส่งผลให้การเรียนการสอนไม่มีประสิทธิภาพ ไปจนถึงการยุบโรงเรียนได้ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่ต้องเร่งจัดสรรงบประมาณให้เกิดความเหมาะสม
ทั้งนี้ สำหรับการอภิปรายส่วนใหญ่ ส.ส.ต่างปรับลดงบประมาณกระทรวงกลาโหมและหน่วยงานในกำกับ จำนวน 1.2 แสนล้านบาทเนื่องจากความไร้ประสิทธิภาพของการปฏิบัติภารกิจทหาร เช่น การแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ กว่า 16 ปีแต่ไม่สามารถแก้ปัญหาให้คลี่คลายได้ โดย นายซูการ์โน่ มะทา ส.ส.ยะลา พรรคประชาชาติ อภิปรายว่า ตนขอปรับลดงบประมาณของกระทรวงกลาโหม 30% เพราะความล้มเหลวในการแก้ปัญหาไฟใต้ โดยตลอด16 ปี พบการสูญเสียของตำรวจและทหาร เป็นจำนวนมาก อีกทั้งตนคิดว่า ประเทศอยู่ในภาวะปกติ ไม่ได้อยู่ในสภาวะสงคราม ดังนั้น ต้องมีการตั้งงบประมาณกองทัพให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เป็นอยู่ โดย 5 ปีที่ผ่านมา กองทัพตั้งงบประมาณโตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นการตั้งตอบโจทย์ผิด และควรนำงบในส่วนนี้มาพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เช่น การศึกษา สำคัญกว่าการจัดซื้อาวุธ ซึ่งที่ผ่านมา การขัดซื้ออาวุธทั้ง การจัดซื้อเครื่องตรวจวัตถุระเบิด จีที 200 รวมทั้งเรือเหาะ และตามมาด้วยเรือดำน้ำ ถือเป็นการล้มเหลวของการจัดซื้ออาวุธ ซึ่งตนมองว่า ไม่เกิดประโยชน์
ขณะที่ นายวิสาร เตชะธีราวัฒน์ ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย อภิปรายขอลดงบประมาณกระทรวงกลาโหม 10 % พร้อมตั้งคำถามถึงการจัดสรรงบลบในกระทรวงให้กับนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ที่ดูแลงานด้านกฎหมายและนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ ดูแลงานด้านเศรษฐกิจ เดือนละ 1 ล้านบาท ซึ่งขอให้กมธ. ชี้แจงต่อประเด็นดังกล่าวว่า ทราบและตรวจสอบหรือไม่ ว่าจัดสรรงบลับให้รองนายกฯที่ไม่เกี่ยวกับงาานทหารเพื่ออะไร หากงบประมาณใช้ไม่หมดควรส่งคืนคลัง
ด้าน นายสันติ กีระนันทน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะกมธ.เสียงข้างมาก ชี้แจงว่า ที่ผ่านมาประชาชนอาจจะแคลงใจในการจัดซื้อเรือดำน้ำ แต่ตนชี้ว่า โครงการดังกล่าวเป็นจัดซื้อแบบจีทูจี ส่วนในเรื่องความลึกของระดับน้ำของอ่าวไทย กับทะเลอันดามันนั้น ที่ผ่านมามีการซ้อมรบ โดยสหรัฐอเมริกา นำเรือดำน้ำของตัวเองมาร่วมซ้อมด้วย โดยมีขนาดใหญ่ถึง 7,500 ตัน ยังมาซ้อมในน่านน้ำไทยได้ ขณะที่เรือดำน้ำที่เราซื้อมามีขนาดเพียง2,000 ตันเท่านั้น จึงไม่น่ามีปัญหา ซึ่งการจัดซื้อเพียง 3 ลำจากการต้องดูแลน่านน้ำยาวถึง 3.2 แสนตารางกิโลเมตรถือว่ากองทัพเรือช่วยประหยัด เพราะเราจำเป็นต้องมีถึง 3-4 ลำ เมื่อเทียบกับเพื่อนบ้าน อย่าง เวียดนามมี 6 ลำอินโดนีเซีย 5 ลำ สิงค์โปร์4 ลำ มาเลเซีย 2 ลำ พม่าก็มีแผนจะรับมอบ 2 ลำและ ฟิลิปปินส์กำลงจัดหา 3 ลำ ดังนั้น ถ้าเราไม่เตรียม แสนยานุภาพให้ทันเทียม ความเกรงอกเกรงใจก็จะลดลง หากความมั่นคงของประเทศไม่มี ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ก็ไม่เกิด กำลังต่อรองของเราก็น่าจะกังวลใจ
กระทั่ง เวลา 23.10 น. หลังจากการอภิปรายในส่วนของงบประมาณของกระทรวงกลาโหม นานเกือบ 3 ชั่วโมง ที่ประชุมเสียงข้างมากมีมติ 247 ต่อ 195 งดออกเสียง 11 เห็นชอบมาตรา 8 ที่กมธ.เสียงข้างมากได้มีการแก้ไขจากร่างเดิม
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ