ครม.จัดงบฯ3พันล้าน ให้กระทรวงทรัพยฯ-ทบ. เจาะบาดาลแก้ภัยแล้ง





รมว.ทส.เผยครม.จัดงบฯ 3,079 ล้านบาทให้ทส.แก้ภัยแล้ง จับมือทบ.ลุยเจาะบาดาล 1,100  โครงการ ยันดึงน้ำมาใช้ได้ไม่กระทบโครงสร้างดิน

เมื่อวันที่ 7 ม.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล  นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้สัมภาษณ์หลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงกรณีที่กระทรวงทรัพยากรฯ เสนอเรื่องต่อครม.ขอความเห็นชอบการขอเจาะน้ำบาดาลเพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้ง  ว่า  การเจาะน้ำบาดาลเป็นแนวทางหนึ่งในการแก้ปัญหาภัยแล้ง  ทั้งนี้ ที่ประชุมครม.มีมติอนุมัติการจัดสรรงบประมาณจากงบกลาง จำนวน 3,079 ล้านบาท เพื่อใช้ในการบรรเทาปัญหาดังกล่าว ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ เสนอ ซึ่งแบ่งเป็นงบประมาณสำหรับพื้นที่ที่อยู่ในความดูแลของการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) จำนวน 1,100 ล้านบาท และพื้นที่ที่อยู่นอกความดูแลของ กปภ. 1,900 กว่าล้านบาท  

ส่วนการเจาะบ่อบาดาลนั้นรวมอยู่ในส่วนของพื้นที่นอกความดูแลของ กปภ. มีจำนวน 1,100 โครงการที่อยู่ในภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคอีสาน ซึ่งใช้งบประมาณ 1,300 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นกรมทรัพยากรน้ำบาดาลดูแล 704 โครงการ กองทัพบก 209 โครงการ และหน่วยบัญชาการทหารพัฒนา 187 โครงการ

นายวราวุธ กล่าวอีกว่า  ปริมาณงานทั้งหมดจะเป็นการเจาะใหม่และการซ่อมแซมระบบน้ำประปา รวมถึงหาแหล่งน้ำจากผิวดิน ซึ่งนายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญอย่างยิ่งในการแก้ไขวิกฤติภัยแล้งครั้งนี้ จึงขอฝากประชาชนว่าฤดูแล้งครั้งนี้เราจะฝ่าฟันไปด้วยกัน รัฐบาลออกนโยบายต่างๆ มาดูแลและบรรเทาความเดือดร้อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรมทรัพยากรน้ำบาล

ซึ่งในปัจจุบัน แหล่งน้ำแหล่งเดียวที่สามารถนำมาใช้ได้อย่างเต็มที่ คือน้ำใต้ดินที่สามารถนำมาใช้ได้อย่างปลอดภัยนั้นมีประมาณ 30,000 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) และเมื่อถึงฤดูฝน น้ำส่วนนี้จะถูกดูดซึมกลับลงไปใต้ชั้นผิวดินอีกครั้ง  เมื่อถามว่าการเจาะน้ำบาดาลมาใช้จำนวนมากจะมีผลทำให้ดินทรุดหรือไม่  นายวราวุธ กล่าวว่า  กรมทรัพยากรน้ำบาดาลได้หารือกับนักวิชาการหลายฝ่ายแล้ว และได้รับคำยืนยันว่าปริมาณน้ำบาดาลที่เราขุดเจาะมาใช้ในปัจจุบันเป็นปริมาณที่ปลอดภัย สามารถนำขึ้นมาใช้ได้ โดยไม่ส่งผลกระทบกับโครงสร้างพื้นดิน

ขณะเดียวกัน ที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรฯ และนายศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล รับมอบเครื่องสูบน้ำแบบจุ่มใต้น้ำ (Submersible Puump) จากบริษัท ทีทีซี เพาเวอร์ทูลส์ จำกัด จำนวน 15 เครื่อง ขนาด 1 แรงม้า 5 เครื่อง ขนาด 1.5 แรงม้า จำนวน 5 เครื่อง และขนาด 2 แรงม้า จำนวน 5 เครื่อง เพื่อส่งต่อให้กรมทรัพยากรน้ำบาดาล แก้ไขปัญหาภัยแล้งให้กับประชาชน

โดยนายจตุพร กล่าวว่า นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรฯ ได้มอบหมายให้กรมทรัพยากรน้ำบาดาล เป็นพระเอกในการแก้ปัญหาภัยแล้งทั่วประเทศด้วยการขุดเจาะบ่อบาดาล บรรเทาความเดือดร้อนให้ประชาชนและให้กรมทรัพยากรน้ำ รับผิดชอบน้ำให้กับชาวสวน ที่กำลังประสบปัญหาไม้ผลกำลังออกผลิต โดยเฉพาะในภาคตะวันออก นอกจากนี้ ทส.ยังตั้งศูนย์ประสานงานแก้ปัญหาภัยแล้ง โดยมีตนเป็นประธานศูนย์ เพื่ออำนวยความสะดวกในการแก้ปัญหาผ่าน ผอ.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ผอ.ทสจ.) ทั่วประเทศ

ปลัดกระทรวงทรัพยากรฯ กล่าวต่อว่า ปัญหาภัยแล้งปีนี้ค่อนข้างรุนแรง ในส่วนของพื้นที่ ที่เป็นเกาะแก่ง ได้มอบหมายให้กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ดำเนินการช่วยเหลือพี่น้องประชาชน ในเรื่องนำอุปโภคและบริโภค ที่สำคัญ ในพื้นที่อุทยานฯ โดยเฉพาะพื้นที่มีช้างป่าจำนวนมากให้มีการขุดบ่อน้ำเพิ่มคู่กับการเจาะบ่อบาดาล เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับสัตว์ป่า ขณะนี้ ได้มีการขุดบ่อที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤๅไน จ.ฉะเชิงเทรา ในพื้นที่ป่ารอยต่อ 5 จังหวัดและจะขยายไปยังพื้นที่อื่นๆ เนื่องจากช่วงนี้นอกจากประสบปัญหาภัยแล้งแล้ว ยังจะมีไฟป่าเกิดขึ้นด้วย

ด้านนายศักดา วิเชียรศิลป์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล กล่าวว่า ปริมาณน้ำบาดาลในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ยังมีปริมาณเพียงพอเพราะอยู่ในการควบคุมการใช้ เนื่องจากที่ผ่านมาในบางพื้นที่ประสบปัญหาดินทรุดเพราะในอดีตมีปริมาณการใช้น้ำบาดาลมากถึงประมาณวันละ 2.2 ล้านลูกบาศ์กเมตร (ลบ.ม.) แต่ปัจจุบันมีการควบคุมการใช้น้ำบาดาลอยู่ประมาณวันละ 1 แสนลบ.ม. ดังนั้นในภาพรวมพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลจะสามารถใช้น้ำบาดาลได้ประมาณวันละ 9 แสนลบ.ม. หรือสูงสุดที่ 1.25 ล้านลบ.ม./วัน ซึ่งจะไม่มีผลกระทบต่อพื้นดินหรือทำให้ดินทรุดและปริมาณน้ำบาดาลจะเป็นน้ำสำรองให้กับส่วนราชการอื่นๆ ที่จะสามารถนำน้ำไปใช้ประโยชน์ให้แก่ประชาชนได้ ขณะนี้น้ำผิวดินมีน้อยลง ส่วนน้ำบาดาลยังเป็นน้ำที่มีคุณภาพ สะอาด ถ้าหากไม่นำขึ้นมาใช้น้ำบาดาลก็จะไหลลงสู่ทะเลไป.

ข่าวจาก เดลินิวส์ออนไลน์

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: