เมื่อวันที่ 14 มกราคม นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. กล่าวภายหลังเปิดเผยข้อมูลผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่ามีพรรคการเมืองที่มีรายการกู้เงินในเอกสารงบการเงิน รวม 18 พรรคการเมือง ว่ารายการเงินกู้ปรากฏอยู่ในหมวดหนี้สินของพรรคการเมือง ไม่ใช่รายได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ยึดถือปฏิบัติกันมาแบบนี้ตลอด ถ้าไปเปิดดูเอกสารงบการเงินของพรรคการเมืองต่างๆ ที่ส่งให้กับ กกต.ไม่ว่าจะปีไหนก็มีปรากฏรายการเงินกู้ในหมวดหนี้สิน ดังนั้น เป็นเรื่องที่พรรคการเมืองสามารถกู้ยืมเงินได้ จนมีปัญหาเมื่อตีความหมายว่าเงินกู้เป็นสิ่งที่ไม่ปรากฏในรายการของรายได้ จึงไม่สามารถทำได้ ขัดกฎหมายตามมาตรา 72 ของกฎหมายพรรคการเมืองว่าเป็นการได้มาซึ่งผลประโยชน์อื่นใดโดยมิชอบ แต่เมื่อได้ตรวจสอบย้อนหลังไปปี 2561 ซึ่งพรรคการเมืองทำบัญชีเสร็จต้องให้ผู้ตรวจสอบบัญชีรับรอง และนำเข้าที่ประชุมใหญ่ของพรรคการเมืองภายในเดือนเมษายนของปีถัดไป หรือปี 2562 แล้วต้องส่งให้ กกต.ภายใน 30 วัน เท่ากับว่า กกต.จะได้เอกสารจากทุกพรรคการเมืองภายในเดือนพฤษภาคม ปี 2562 และต้องเอางบการเงินไปประกาศเผยแพร่ต่อสาธารณะ ดังนั้น ข้อมูลที่เอาออกมาเปิดเผยจึงไม่ได้มีความพิเศษอะไร ไม่ได้เป็นความลับ ทุกคนสามารถสืบค้นได้จากเว็บไซต์ กกต.
“เอกสารมีทั้งหมด 609 หน้า โดยนายจรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการ กกต. เป็นผู้เซ็นรับรองในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง เท่ากับว่านายทะเบียนพรรคการเมืองรู้เรื่องมาตั้งแต่เดือนพฤษภาคมแล้ว ว่ามีถึง 18 พรรคการเมืองที่มีการกู้ยืมเงิน ซึ่งนายทะเบียนต้องนำข้อมูลทั้งหมดนำเสนอต่อ กกต.เพื่อให้มีมติอย่างใดอย่างหนึ่งว่าผิดหรือไม่ผิด หากบอกว่าผิด จะต้องส่งศาลรัฐธรรมนูญให้ดำเนินการยุบพรรคเช่นเดียวกับพรรคอนาคตใหม่ เพื่อเป็นมาตรฐานเดียวกัน ส่วนที่ดำเนินการล่าช้า กกต.ต้องไปกำกับนายทะเบียนพรรคการเมืองเอาเอง” นายสมชัยกล่าว
เมื่อถามว่าจะเข้าข่ายว่า กกต.ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ นายสมชัยกล่าวว่า ขอให้ข้อมูลแต่เพียงเท่านี้ก่อน ไม่ขอชี้นำในประเด็นนี้ เพราะเป็นหน้าที่ของนายทะเบียนพรรคการเมืองที่ต้องรายงานต่อที่ประชุม กกต. หากถือว่าเงินกู้เป็นรายการที่เข้าข่ายผลประโยชน์อื่นใดซึ่งได้มาโดยไม่ชอบ โดยเอาหลักเกณฑ์มาตรา 72 ของกฎหมายพรรคการเมืองมาเป็นตัวตั้ง ส่วนเรื่องวงเงินเกิน 10 ล้านบาท ที่เป็นปัญหานั้น เป็นเรื่องที่ไม่เกี่ยวกัน ไม่ว่าจะเป็นเงิน 1 บาท 10 บาท หรือเท่าใดก็แล้วแต่ ถ้าเงินกู้เข้าข่ายผิดจริง เงินที่มีที่มานอกเหนือจากนั้น ทั้งเงินบ่อน เงินค่าของหนีภาษี เงินเหล่านี้เพียงแค่บาทเดียว หากนำไปสนับสนุนพรรคการเมืองโดยที่รู้ว่าได้มาโดยไม่ชอบก็ถือว่าเข้าข่ายผิดตามมาตรา 72 ของกฎหมายพรรคการเมืองทั้งหมด จึงไม่ใช่เรื่องที่เกี่ยวข้องกับวงเงิน ซึ่งมีหลายคนพยายามเชื่อมโยงว่าต้องไม่เกิน 10 ล้านบาท ซึ่งเป็นคนละเรื่องกัน เพราะเป็นเรื่องการบริจาคเงินเข้าพรรคการเมืองได้ไม่เกิน 10 ล้านบาท แต่ประเด็นนี้ตกไปแล้ว เพราะไม่ได้ตีความว่าเงินกู้เป็นเงินบริจาค แต่ไปตีความว่าเป็นผลประโยชน์อื่นใดที่ได้มาโดยมิชอบด้วยกฎหมาย
เมื่อถามว่าส่วนที่ต้องไปนำสืบเกี่ยวกับที่มาของเงินกู้มาโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่นั้น นายสมชัยกล่าวว่า หากตีความตามหลักการในอดีตเงินกู้ไม่ได้ผิด แต่ถ้าตีความว่าเงินกู้ผิดตามมาตรา 72 ของกฎหมายพรรคการเมือง แปลว่าเงินที่มีการกู้มาก็ต้องผิดตามไปด้วย ไม่เกี่ยวกับวงเงิน และหากไปนำสืบว่าที่มาของเงินกู้มีที่มาไม่บริสุทธิ์ก็ถือว่าผิดอีกคดี ทั้งกรณีเงินกู้ซึ่งได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และเป็นเงินสีเทา
นายสมชัยกล่าวด้วยว่า จากการสืบค้นข้อมูลงบการเงินพบว่า นอกจาก 18 พรรคการเมือง ที่ระบุว่ามีเงินกู้แล้ว แต่ยังมีอีก 17 พรรคการเมืองที่ระบุว่าเป็นเงินยืม ซึ่งเทียบแล้วถือว่าเงินยืมผิดมากกว่า เพราะเงินกู้มีสัญญา มีดอกเบี้ย มีการใช้คืนตามกำหนด แต่เงินยืมมีพรรคการเมืองบางพรรควงเงินถึง 30 ล้านบาท โดยไม่มีดอกเบี้ยและไม่มีกำหนดใช้คืน หากมองว่าเป็นการครอบงำพรรคการเมืองโดยบุคคล ประเด็นเงินยืมก็ถือเป็นประเด็นที่สำคัญ และหลังจากนี้จะออกมาเปิดเผยข้อมูลต่อไปว่ามีพรรคการเมืองใดบ้าง แต่ไม่มีพรรคประชาธิปัตย์ พรรคพลังประชารัฐ และพรรคเสรีรวมไทย ซึ่งจะออกมาเปิดเผยข้อมูลเพิ่มเติมหลังจากได้ความชัดเจนจาก กกต.กรณีเงินกู้แล้ว
ข่าวจาก มติชนออนไลน์, เพจ สมชัย ศรีสุทธิยากร
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ